ปตท.เล็งซื้อเหมืองถ่านหินเพิ่ม ถือหุ้นขั้นต่ำ20%ต่อยอดธุรกิจโรงไฟฟ้า‏

ปตท.สรุปซื้อหุ้นเหมืองถ่านหินเพิ่มอีก 2-3 โครงการในปีนี้โดยจะเข้าไปถือหุ้นไม่น้อยกว่า 20% เตรียมต่อยอดธุรกิจทำโรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างประเทศ มองอนาคตจะก้าวสู่การเป็นผู้สำรวจและพัฒนาเหมืองถ่านหิน ด้านปตท.เคมิคอล ลุ้นโรงแยกก๊าซฯหน่วย 6เดินเครื่องได้ในไตรมาส 3 นี้ ส่งผลให้ยอดขายทะลุแสนล้านบาท

นาย ณัฐชาติ จารุจินดา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.อยู่ระหว่างการเจรจาเข้าไปถือหุ้นในเหมืองถ่านหินเพิ่มเติม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ 2-3 โครงการ สัดส่วนการถือหุ้นไม่น้อยกว่า 20% ซึ่งจะส่งผลให้ปตท.มีกำลังการผลิตถ่านหินเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านตันในอนาคต จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตถ่านหิน 13-15 ล้านตันจาก 2เหมืองถ่านหินที่ดำเนินกิจการอยู่ในอินโดนีเซีย

" ปีนี้จะได้เห็นการขยายการลงทุนธุรกิจเหมืองถ่านหินเพิ่มเติมในต่างประเทศใน ออสเตรเลียและเอเชีย ซึ่งการเจรจาอยู่ในขั้นสุดท้าย จะเห็น 2 โครงการหรือโชคดีอาจได้ 3 โครงการ โดยโครงการที่เข้าไปลงทุนนั้นจะเป็นการลงทุนในเหมืองถ่านหินที่มีการพัฒนา ผลิตแล้วหรือเพิ่งเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ ไม่ใช่เข้าไปพัฒนาโครงการ (Developer) แต่ในอนาคตปตท.ก็จะก้าวสู่การเป็นDeveloperอย่างแน่นอน"

นอก จากนี้ ปตท.มีแนวความคิดที่จะต่อยอดธุรกิจถ่านหิน หากมีโอกาสจะเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เพื่อลดความเสี่ยงของธุรกิจ โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะเป็นการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ ไม่ใช่ในเมืองไทย เนื่องจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในเมืองไทยไม่ใช่เรื่องง่าย

ก่อน หน้านี้ บริษัท พีทีที อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทย่อยที่ปตท. ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับบริษัท Straits Resources Limited (เอสอาร์แอล) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นออสเตรเลีย เพื่อซื้อหุ้นบริษัท Straits Bulk and Industrial Pty Limited (เอสบีไอ) จำนวน 60% ในมูลค่ารวม 11,838.9 ล้านบาท

โดยเอสบีไอ ถือหุ้น 47.1% ในบริษัท Straits Asia Resources (เอสเออาร์) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ และเอสเออาร์ ถือหุ้นในสินทรัพย์เหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย 3 แห่ง คือ เหมืองถ่านหิน Sebuku เหมืองถ่านหิน Jembayan และโครงการการสำรวจถ่านหิน Luang โดยปีที่แล้วมีกำลังการผลิตถ่านหินใน 2เหมืองดังกล่าวจำนวน 9 ล้านตัน ซึ่งการเข้าไปลงทุนธุรกิจถ่านหินของปตท.ครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทที่ต้องการขยายสู่ธุรกิจพลังงานอื่นที่ไม่ใช่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่ปตท.ดำเนินกิจการอยู่ เพื่อกระจายความเสี่ยง

นายปฏิภาณ สุคนธมาน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTCH) กล่าวว่า หากโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 6 เดินเครื่องได้ในไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4/2553 ก็จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตโอเลฟินส์ใหม่ครบ 1 ล้านตัน จากปัจจุบันเดินเครื่องได้เพียง 70% เนื่องจากจะมีปริมาณวัตถุดิบป้อนเข้าสายการผลิตอย่างเต็มที่ ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับแนฟธา (สเปรด) สูงขึ้นด้วย ทำให้มีโอกาสที่ปีนี้รายได้ของบริษัทฯจะทะลุระดับ 1แสนล้านบาทได้

สำหรับ ผลประกอบการไตรมาส 2/2553คาดว่ารายได้และกำไรของบริษัทฯจะต่ำกว่าไตรมาส 1/2553 เนื่องจากราคาโอเลฟินส์ ปรับลงมาอยู่ที่ 1,200 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากไตรมาสแรกอยู่ที่ 1,300 เหรียญสหรัฐ/ตัน และในช่วงไตรมาส 3/2553 ทิศทางราคาก็ยังอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งปัจจุบันราคาไม่ถึง 1,100 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่เชื่อว่าไตรมาส 4 ราคาน่าจะกลับขึ้นมาดีขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ในตลาดโลกจะเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากอินเดียและจีน

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาเข้าลงทุนในกิจการใหม่เพื่อต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมีให้ ครบวงจร โดยปีนี้จะสรุปได้ 1 ดีล แต่ไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่มาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดและเม็ดเงินลงทุน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่มาก

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 7 กรกฎาคม 2553 06:53 น.

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน