เจาะลึกขุมทรัพย์พลังงาน ปตท.หมกเม็ดคนไทย! อุ้ม “บอร์ด-พลพรรค” รวยอื้อ

 

       • เกาะติดธุรกิจพลังงานที่มีมูลค่ามหาศาล
       • ภายใต้กลไก ของ ‘ปตท.’ ที่มี ‘นักการเมือง-บิ๊กข้าราชการ’ ไม่กี่คนเป็นผู้คุมชะตาชีวิตคนไทย
       • หลายคนมีผลประโยชน์ทับซ้อน?
       • จนกลายเป็นเรื่องเหลือเชื่อ! ที่ต่างชาติซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นไทยได้ถูกกว่าประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
       • ทั้งที่ประเทศไทยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบขนาดใหญ่ส่งผลให้ไทย มีตัวเลขส่งออกพลังงานเป็นอันดับ 1 ของสินค้าส่งออกอยู่หลายปี
       • ส.ว.สายเอ็นจีโอ เตรียมขับเคลื่อนทวงคืนผลประโยชน์ชาติจากปตท.อีกครั้งหนึ่งมูลค่านับแสนล้านบาท......

       
       สำหรับประชาชนคนไทยแล้ว คงไม่มีเรื่องไหนที่ทำให้ต้องเจ็บปวดแบบหนักหนาสาหัสเท่ากับการที่ต้องมา นั่งซื้อน้ำมัน และไฟฟ้าราคาแพงใช้ ทั้งๆ ที่ทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานของไทยนั้นมีอยู่จำนวนมาก จนกระทั่งไทยมีตัวเลขส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและน้ำมันดิบเป็นอันดับ 1 ของสินค้าส่งออกอยู่หลายปี อย่างปี 2550 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมีปริมาณทั้งสิ้น 96,223,490 บาร์เรล จำแนกเป็นน้ำมันดิบ 16,739,995 บาร์เรล น้ำมันสำเร็จรูป 65,256,890 บาร์เรล และผลิตภัณฑ์อื่นๆ 14,226,240 บาร์เรล แถมด้วยการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบในประเทศไทยที่ลงข่าวในหน้า หนังสือพิมพ์มาเป็นระยะๆ
       
       รันทดคนไทยซื้อน้ำมัน
       แพงกว่าต่างชาติ

       
       ที่น่าเจ็บใจคือ คนไทยก็ยังไม่รู้ว่า ต่างชาติสามารถซื้อน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่นในประเทศไทยได้ในราคาที่ ถูกกว่าที่คนไทยซื้อเสียอีก
       
       แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า เหตุผลที่คนไทยต้องซื้อแพงเนื่องเพราะภาครัฐได้กำหนดให้โรงกลั่นไทยขาย น้ำมันสำเร็จรูปให้คนไทยตามราคาตลาดสิงค์โปร์ ซึ่งต้องบวกค่าโสหุ้ยในการขนส่ง และค่าประกันภัยจากสิงคโปร์มาไทยด้วย ราคาดังกล่าวจึงเทียบเท่าการนำเข้าทั้งที่ไม่ได้มีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป เลย
       
       ในทางกลับกัน โรงกลั่นไทยส่งออกน้ำมันในราคาที่ต่ำกว่า คือใช้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ นอกจากจะไม่บวกค่าขนส่งและค่าประกันภัยแล้ว ยังสามารถลบค่าโสหุ้ยในการขนส่งและค่าประกันภัยลงอีก เพื่อให้แข่งขันได้ในตลาดสิงคโปร์
       
       อีกทั้งที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบัน รัฐบาลยังเอื้อผลประโยชน์ให้กับปตท.ในการรับซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจาก ปากหลุม ราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลกจำนวนมากอีกด้วย
       
       “ปตท.มีอำนาจซื้อจากปากหลุมได้รายเดียวเพราะท่อส่งจากอ่าวไทยหรือ ทะเลมายังโรงแยกเป็นของ ปตท. จึงซื้อได้ในราคาถูก จากนั้น ปตท.ก็ทำสินค้าราคาตลาดโลกมาขายคืนให้ประชาชน ปัญหาคือส่วนต่างตรงนี้ไปอยู่กับใคร เดิมรัฐลงทุนท่อส่งมหาศาลก็เพื่อให้ปตท.ซื้อในราคาต่ำ เพื่อนำน้ำมันมาขายในราคาต่ำๆให้ประชาชน แต่เพราะ ปตท.แปรรูปไปแล้วจึงต้องการทำกำไรให้ผู้ถือหุ้น ก็เลยทำให้ราคาน้ำมัน และก๊าซเทียบราคาตลาดโลก เพื่อให้ได้กำไรสูงๆ ประชาชนก็ถูกเอาเปรียบทั้งๆ ที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติเป็นของประชาชนเอง”
       
       คำถามคือ ทรัพยากรด้านพลังงานของคนไทยนี้มีจำนวนมหาศาล เกินความต้องการใช้ แถมมีเหลือเพื่อส่งออกเสียอีก แต่ทำไมคนไทยต้องใช้น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่มีราคาแพงกว่าราคาตลาดโลกที่แพงหูฉี่?
       
       ประเด็นปัญหาดังกล่าว แหล่งข่าวอธิบายว่า เป็นเพราะทรัพยากรของไทยได้ถูกเปลี่ยนมือจากองค์กรรัฐวิสาหกิจไปสู่มือ บริษัทเอกชนที่แปรรูปไปแล้วอย่าง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในราคาถูกๆ เพราะรัฐ แถมด้วยกระบวนการฮั้วอย่างเต็มรูปแบบของ 3 ฝ่ายคือ บริษัทเอกชน (ปตท.) ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง และนักการเมือง ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ช่วยเหลือ ปตท. จนปตท.กลายเป็นธุรกิจที่ผูกขาดเบ็ดเสร็จ ขณะที่เอกชนพลังงานรายอื่นตายเรียบ
       
       แต่ที่น่าเจ็บปวดที่สุดคือ คนในฝ่ายนักการเมืองและข้าราชการที่เข้าข่าย Conflict of interest ร่วมมือกันในการเอาเปรียบประชาชนไทยอย่างสมบูรณ์แบบ!
       
       ก้าวย่าง ปตท.
       สู่ผู้มีอิทธิพลตัวจริง

       
       หากย้อนมาดูถึงเหตุผลว่าทำไม ปตท.จึงกลายเป็นยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานแบบผูกขาด และเป็นผู้มีอิทธิพลตัวจริงจะพบว่า ข้อได้เปรียบของ ปตท.คือ เป็นองค์กรที่เกิดมาจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่มีวัตถุประสงค์ในการนำทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ มากระจายสู่มือประชาชนแบบเป็นธรรมและให้ประชาชนไทยได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ นั้นๆ อย่างคุ้มค่าและมีราคาไม่แพง
       
       ที่ผ่านมา ในฐานะรัฐวิสาหกิจ เงินภาษีจึงถูกผันเข้าสู่การบริหารทรัพยากรธรรมชาติของ ปตท. ไม่ว่าจะเป็น การสร้างท่อส่งก๊าซ การสร้างโรงแยกก๊าซ (ก่อนเข้าตลาดมี 5 โรงแยกก๊าซ) งบประมาณขุดเจาะ สำรวจ ฯลฯ อีกมากมายซึ่งต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศ ไทย
       
       ที่น่าสังเกตคือ ในช่วงที่ ปตท.กำลังจะแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ ปตท.และบริษัทลูกซึ่งถือเป็นสมบัติของประชาชน แต่ปตท.ก็มีการกระทำที่ตรงข้าม และไม่ได้พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน เห็นได้ชัดจากกรณีการตีราคาบริษัทลูกต่างๆ ของ ปตท. ปตท.ได้ทำการจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินให้ตีราคาบริษัทลูกต่ำๆ โดยใช้วิธีส่วนได้ส่วนเสีย แทนที่จะใช้วิธีราคาทุน
       
       โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด หรือ RRC มีราคาทุนอยู่ที่ 12,591.24 ล้านบาท จากการลงทุนของโรงกลั่นน้ำมันระยองที่ผ่านมา แต่ ปตท.ได้ให้บริษัทที่ปรึกษาฯ ตีราคาตามส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งมีการนำอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในขณะนั้นมาช่วยคิดคำนวณ
       
       “ช่วงนั้นอัตราแลกเปลี่ยนจาก 25 บาท เปลี่ยนเป็น 50 บาท เขาไปตีว่า RRC ขาดทุน จึงมีมูลค่าเท่ากับ 0 บาท แต่ที่จริงแล้ว RRC ไม่ได้อยู่ในฐานะที่เจ๊งจนมีมูลค่าเท่ากับ 0 บาท เพราะทุกวันนี้ก็ยังกลั่นน้ำมันได้ ดังนั้นวิธีคิดตามวิธีส่วนได้ส่วนเสียที่ถูกต้อง คือต้องบอกว่าหาก RRC มีมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ก็ต้องตีราคาให้ RRC ที่ 2 หมื่นล้านบาทถึงจะถูกต้อง เพราะหลังจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเพิ่มจาก 25 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็น 50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ก็ต้องคิดราคาทุนของบริษัทลูกเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า แต่นี่ไม่ใช่ เพราะดันไปคิดให้มูลค่าเป็น 0 เท่ากับบริษัทที่เจ๊ง”
       
       เช่นเดียวกับบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ที่มีวิธีคิดราคาทุนอยู่ที่ 1,268.10 ล้านบาท หรือบริษัทท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด หรื อ THAPPLINE มีวิธีราคาทุน 880.52 ล้านบาท ต่างก็ถูกตีราคาตามวิธีส่วนได้ส่วนเสียเป็น 0 บาทเช่นกัน
       
       ในขณะที่บางแห่งมีการคิดราคาวิธีส่วนได้ส่วนเสียให้ แต่ก็น้อยมากถ้าเทียบกับวิธีราคาทุน เช่น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด มีวิธีราคาทุน 9,480.74 ล้านบาท มีการคิดวิธีส่วนได้ส่วนเสียเพียง 395.51 ล้านบาท หรือ บริษัท สตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง จำกัด หรือ SPRC มีวิธีราคาทุนอยู่ที่ 14,378.41 แต่มีการคิดวิธีส่วนได้ส่วนเสียเพียง 1,325.58 ล้านบาท เป็นต้น (ข้อมูลจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2544)
       
       “ปกติแล้วไม่มีเจ้าของบริษัทไหนอยากตีราคาสินทรัพย์ของตัวเองให้ต่ำ เพราะอยากให้บริษัทเข้าตลาดหุ้นในราคาสูง แต่ผู้บริหารปตท.ความที่ไม่ใช่บริษัทของตัวเอง แถมมีหุ้น ปตท.ในมือที่ซื้อมาในราคาถูก ก็อยากให้ราคาหุ้นเข้าเทรดในราคาที่ถูก และให้หุ้นราคาสูงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ได้กำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลเอง ถ้า ปตท.เห็นว่าบริษัทลูกมีมูลค่าเท่ากับ 0 บาท ทำไมไม่โอนบริษัทลูกเหล่านั้นกลับมาเป็นของรัฐ แต่กลับให้ปตท.ไปในราคาที่ถูกมากๆ” แหล่งข่าว ระบุ
       
       นักการเมืองแย่งเค้ก 'ก.พลังงาน'
       
       เมื่อ ปตท.มีอำนาจในการผูกขาด และมีผลประโยชน์ด้านพลังงานมหาศาล ทำให้ที่ผ่านมา ปตท.และบริษัทลูกมีรายได้สุทธิสูงในระดับหมื่นล้านมาโดยตลอด อีกทั้งมูลค่าหุ้นก็พุ่งฉิวจนสร้างกำไรให้ผู้ถือหุ้นจำนวนไม่น้อย
       
       นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่า ทำไมกระทรวงพลังงานถึงเนื้อหอมในหมู่นักการเมืองด้วย!
       
       โดยในสมัยก่อนนั้น กระทรวงเกรด A ที่คนแย่งกันมาเป็นรัฐมนตรีไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหนคือกระทรวงอุตสาหกรรม แต่หลังจากรัฐบาลทักษิณ 1 ได้แยกผลประโยชน์ด้านพลังงานของชาติมาตั้งใหม่เป็นกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงานก็เป็นกระทรวงที่เนื้อหอมที่สุดที่ใครก็อยากเป็นรัฐมนตรี ยิ่งช่วงแปรรูปปตท.มาเป็นบริษัทมหาชนเข้าเทรดในตลาดหุ้นด้วยแล้ว นักการเมืองต่างวิ่งกันฝุ่นตลบเพื่อแย่งเค้กก้อนนี้
       
       “ใครมาเป็นรัฐมนตรีพลังงานจะได้รับผลประโยชน์ที่สูงมาก เพราะกระทรวงพลังงานคุมทั้ง ปตท. ทั้ง กฟผ. อีกทั้งยังเป็นผู้ให้การประมูล IPP,SPP ซึ่งเป็นการประมูลขนาดใหญ่มูลค่ามหาศาลมาก เราเคยคุยกันเล่นๆว่า ในการสร้างโรงไฟฟ้า 1 โรง ผลประโยชน์ที่จะมาตกกับนักการเมืองจะมากกว่าการสร้างถนนเป็นร้อยๆ สายเสียอีก ที่ผ่านมาในโครงการสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละครั้ง จึงมีการเรียกน้ำร้อนน้ำชามากถึง 20% ของมูลค่าโครงการมาแล้ว' แหล่งข่าวในแวดวงพลังงานกล่าว
       
       โดยหลังจากตั้งกระทรวงพลังงานในยุคแรกของปี 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ส่งคนใกล้ชิดอย่าง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี มานั่งเป็นเจ้ากระทรวงพลังงานปิดทางนักการเมืองมุ้งอื่นเบ็ดเสร็จ และช่วงนั้นก็มีปัญหาข่าวความไม่เหมาะสมของคนได้หุ้นปตท.ที่มีเบื้องหลัง เป็นนักการเมือง 30 คน ซึ่งจากราคาหุ้นที่เข้าเทรดราคาถูกเพียง 35 บาท ก็วิ่งฉิวไปสู่หลักหลายร้อยบาทในเวลาไม่นาน
       
       หลังจากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องปล่อยกระทรวงพลังงานให้ไปอยู่ในมือของตระกูลลิปตพัลลภ ตามข้อตกลงด้านการเมือง โดยมี พล.ท.(หญิง) พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ หลังบ้านสุวัจน์ ลิปตภัลลภ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และปัจจุบันก็มี น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ซึ่งเป็นพี่เขยของสุวัจน์ มานั่งเป็นรัฐมนตรีพลังงานแทน
       
       “พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องหลีกทางให้ คุณสุวัจน์เลือกว่าจะคุมกระทรวงไหนก่อน ซึ่งคุณสุวัจน์ในเวลานั้นไม่สนใจกระทรวงอื่นเลย นอกจากกระทรวงพลังงาน”
       
       อย่างไรก็ดี ขณะนี้คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.กำลังขุดคุ้ยเรื่องความไม่ชอบมาพากล และเตรียมเช็คบิล กรณีกระทรวงพลังงานต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมของสัญญาสัมปทานล่วงหน้าก่อน หมดอายุสัญญาถึง 5ปี ซึ่งเป็นยุคของพล.ท.หญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ นั่งเป็นเจ้ากระทรวงด้วย
       
       แต่โอกาส สตง.เข้ามาขุดคุ้ยกรณีนี้ คงไม่มีใครรู้ดีไปกว่า นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ที่วันนี้นั่งเป็นเจ้ากระทรวงพลังงานภายใต้เบื้องหลังของ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ซึ่งถือเป็นคนแกงค์เดียวกัน เพราะแม้เจ้ากระทรวงพลังงานคนก่อนมีฐานะเป็นภรรยาสุวัจน์ แต่นพ.วรรณรัตน์คนนี้ก็ไม่ใช่คนห่างไกล เพราะมีฐานะเป็นคู่เขย สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อยู่ดี การเข้ามาตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของคุณหญิงจารุวรรณในกระทรวงพลังงานตอนนี้ ถึงเรียกได้ว่าต้องเจอกับงานหินพอดู
       
       ปัจุจบันแม้จะมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลมาเป็นประชาธิปัตย์แล้ว แต่กระทรวงพลังงานก็ยังอยู่ในเงื้ออำนาจของกลุ่มสุวัจน์ ลิมปตพัลลภ เช่นเดิม
       
       นอกจากเจ้ากระทรวงพลังงานแล้ว สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ยังได้ส่งคนรู้ใจคือ สมนึก กยาวัฒนกิจ ไปนั่งเป็นประธานบอร์ด บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ท่ามกลางความงุนงงของคนในแวดวงพลังงาน ที่ไม่เคยรู้จักคนชื่อนี้มาก่อน
       
       “เมื่อกระแสการเมืองแรง ก็จะมีการส่งคนของตัวเองมานั่งในคณะกรรมการต่างๆ ด้วย เพื่อให้มีคนของตัวเองอยู่ทุกแห่ง”
       
       กฎหมายที่ถูกแก้
       อำนาจเบ็ดเสร็จนักการเมือง

       
       นอกจากนี้ ในยุคกระทรวงพลังงานในเงื้อมมือ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ยังมีการแก้กฎหมายให้อำนาจรัฐมนตรีมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะใน พระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) ปี 2550
       
       ที่น่าสังเกตคือ อำนาจของรัฐมนตรี ในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) ปี 2550 มาตรา 22 ที่ระบุว่า รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ คือ ทั้งให้สัมปทานตาม,ต่อระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม และต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม ซึ่งเป็นอำนาจซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนได้ง่าย
       
       อีกทั้งในมาตรา 22/1 ของกฎหมายฉบับนี้ อธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยังมีหน้าที่สำคัญ ในการขยายอายุสัมปทาน,อนุมัติการกำหนดพื้นที่ผลิต และอนุญาติให้ขยายเวลาเริ่มผลิตได้อีก ซึ่งแม้แต่คนระดับ อธิบดี ก็มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายบริษัทเอกชนได้ด้วย
       
       โดยเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับที่ 6 มีการอ้างว่า พ.ร.บ.ฉบับปี 2514 มีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสม โดยเฉพาะ 3 เหตุผลคือ โดยข้อเท็จจริงที่แหล่งปิโตรเลียมในประเทศเป็นแหล่งขนาดเล็ก หรือมีสภาพทางธรณีวิทยาที่ซับซ้อน,ต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงมาก และแหล่งปิโตรเลียมหลายแหล่งเริ่มมีกำลังการผลิตต่ำลง
       
       “เมื่อย้อนกลับไปดูตัวเลขต่างๆ พบว่า 3 เหตุผลของการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ไม่ตรงข้อเท็จจริงเท่าไรนัก” แหล่งข่าวกล่าว
       
       เริ่มต้นจากข้อมูลที่ว่าแหล่งปิโตรเลียมในประเทศส่วนใหญ่เป็นแหล่ง ขนาดเล็ก หรือมีสภาพทางธรณีวิทยาที่ซับซ้อน ก็พบข้อมูลว่าแหล่งก๊าซในประเทศไทยมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 2,500 MMFFCD หรือ 417,000 บาร์เรลต่อวัน และจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3,000 MMSFCD (500,000 bdoe) ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ปัจจุบันแหล่งอาทิตย์และ JDA ยังไม่ได้มีการดำเนินการผลิตเต็มที่ จากการคำนวณปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติของไทยและปริมาณสำรองที่มีพบว่า หากไม่มีการค้นพบแหล่งใหม่ๆ และภายใต้เทคโนโลยีปัจจุบัน จะมีก๊าซใช้เพียงพออีก 24 ปีทีเดียว
       
       ขณะที่เหตุผลที่อ้างว่ามีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่สูงมาก เมื่อไปดูงบกำไร/ขาดทุนของ ปตท.สผ.ย้อนหลัง 5 ปีพบว่า เฉลี่ยะแล้ว ปตท.สผ.มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปีละ 4% นับเป็นมูลค่าไม่เกิน 3.5 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่อยู่ในระดับ 2.8 หมื่นล้านบาทก็เทียบกันแทบไม่ติด ซึ่งในส่วนของงบดำเนินการของปตท.สผ.ช่วงหลังที่สูงขึ้นเป็นเหตุผลมาจาก ปตท.สผ.ไปลงทุนที่ต่างประเทศมากขึ้นอีกตาหาก
       
       ส่วนที่บอกว่าแหล่งปิโตรเลียมหลายแหล่งมีกำลังการผลิตต่ำลง ตรงนี้เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แต่ถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะแม้หลายแหล่งจะกำลังการผลิตต่ำลง แต่ก็มีการพบแหล่งใหม่ๆเพิ่มขึ้นอยู่ตลอด เห็นได้ชัดจากตัวเลขผลผลิตปิโตรเลียมที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี
       
       นอกจากนี้ ในส่วนของการเก็บภาษีภาครัฐ พบว่า ในยุคนี้มีระเบียบสัมปทานปิโตรเลียมที่ออกตั้งแต่ปี 2550 ที่เอื้อกับบริษัทเอกชนอย่างมาก โดยเฉพาะ ธุรกิจในเครือปตท. ทั้งในส่วนของภาษีให้มีการเก็บอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได 5-15% และลดหย่อนภาษีได้ รวมทั้ง มีการแก้ระเบียบพื้นที่สัมปทาน (ตร.กม.ต่อแปลงสำรวจ) โดยแต่เดิมอนุญาตให้เอกชนมีพื้นที่สัมปทานไม่เกิน 4,000 ตร.กม.โดยจำนวนแปลงสูงสุดไม่เกิน 5 แปลงสำรวจ ปัจจุบันมีการให้พื้นที่สัมปทานไม่เกิน 4,000 ตร.กม.ต่อแปลงสำรวจ โดยไม่จำกัดจำนวนแปลงสำรวจด้วย
       
       เปิดรายชื่อ ขรก.
       สวมหมวกบอร์ดเอกชน
       

       ขณะที่ฝ่ายข้าราชการเองนั้น ใครได้ไปเป็นบอร์ดต่างๆ ของบริษัทด้านพลังงาน โดยเฉพาะบริษัท ปตท. และบริษัทลูก ก็ถือว่าโชคดีเป็นที่สุด เพราะค่าตอบแทนของคณะกรรมการ (บอร์ด) ก็ไม่ใช่น้อย
       
       “ประเด็นที่น่าสนใจ คือ มันมีความขัดแย้งกันอยู่ระหว่างบทบาทของกรรมการบริษัทที่มีหน้าที่สร้างกำไร สูงสุดให้บริษัท กับ บทบาทของเจ้าพนักงานของรัฐที่จะต้องกำกับดูแล เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่กำหนดนโยบายของรัฐซึ่งส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจ กำกับดูแลธุรกิจ สร้างความเป็นธรรมต่อการแข่งขัน และสร้างความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ปัญหาคือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ยังไปถือหุ้นในธุรกิจเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้วย ตรงนี้นโยบายรัฐที่ออกมาจะเป็นธรรมกับประชาชนได้อย่างไร ในเมื่อหมวกที่ข้าราชการเหล่านี้สวมอยู่อีกใบคือต้องสร้างกำไรมากๆ ให้บริษัทเอกชน ในฐานะบอร์ด” แหล่งข่าวในแวดวงพลังงานกล่าว
       
       เขาย้ำว่า แม้กฎหมายจะเปิดช่องให้หน่วยงานของรัฐสามารถไปนั่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ ต่างๆ ได้ แต่รายได้ ค่าตอบแทนจากการเป็นกรรมการ รวมถึงผลประโยชน์อื่นๆ เช่น ได้สิทธิซื้อหุ้นต่ำกว่าราคาท้องตลาด มีมูลค่าสูงมาก และยังได้ผลตอบแทนจากส่วนแบ่งของกำไรในรูปแบบโบนัสกรรมการด้วย โดยผู้ที่เป็นกรรมการมีรายได้ประจำแน่นอนคือ เบี้ยกรรมการรายเดือนจำนวน 30,000 บาท และถ้ามีการประชุมจะได้อีกครั้งละ 20,000 บาท รวมๆ แล้วมีมูลค่าเป็นหลักหลายล้านบาทต่อปี ก็อาจเป็นโอกาสที่ทำให้นโยบายรัฐถูกครอบงำจากภาคธุรกิจได้ง่ายเช่นกัน 'กฎหมายระบุให้บอร์ดเหล่านี้เป็นกรรมการได้ไม่เกิน 3 แห่ง ที่ผ่านมา บางคนจึงมีการวนกันเป็นบอร์ดบริษัทลูก ปตท. จนครบ 3 แห่งด้วย'
       
       แหล่งข่าวในแวดวงพลังงาน ระบุว่า ข้าราชการระดับสูงที่มีตำแหน่งสำคัญๆ ในบอร์ดบริษัทที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ด้านพลังงานมีหลายคน เริ่มจาก
       
       พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน สวมหมวกบอร์ดเอกชน คือ เป็นประธานกรรมการบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTCH ในส่วนนี้มีค่าตอบแทนรายเดือนไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท มีเงินโบนัสรายปีในปี 2550 อยู่ 3,833,333 บาท ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยจากกรรมการ 1 คน จากโบนัสในส่วนนี้ทั้งหมด 57.5 ล้านบาท ซึ่งประธานจะได้รับสูงกว่ากรรมการฯ ร้อยละ 25
       
       นอกจากนี้ยังเป็นประธานบอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นคณะกรรมการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (EFAI) ที่ผ่านมา พรชัย ยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการอิสระ บริษัทปตท.อะโรเมติกส์ และการกลั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PTTAR ซึ่งมีค่าตอบแทนรายเดือนไม่ต่ำกว่า 40,000 บาทด้วย อีกทั้งนอกจากบริษัทที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจมาก่อนแล้ว พรชัย ยังไปนั่งเป็นประธานกรรมการบริษัทผลิตไฟฟ้าจำกัด (มหาชน) EGCO ซึ่งเป็นเอกชน ด้วย
       
       ณอคุณ สิทธิพงศ์ ปัจจุบันเป็นรองปลัดกระทรวงพลังงาน มีตำแหน่งสำคัญคือ เป็นประธานกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีค่าตอบแทนรายเดือนไม่ต่ำกว่า 37,500 บาท ค่าเบี้ยประชุมไม่ตำกว่า 25,000 บาท และยังมีเงินโบนัสรายได้อีก .05% ของกำไรแต่ไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อคน ซึ่ง ณอคุณจะรับโบนัสสูงกว่ากรรมการฯรายอื่นร้อยละ 25
       
       นอกจากนี้ยังเป็นประธานกรรมการบริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีค่าตอบแทนรายเดือนไม่ต่ำกว่า 40,000 บาท อีกทั้งเป็นประธานอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยด้วย
       
       คุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโอลดิ้ง จำกัด (มหาชน) มีค่าตอบแทนรายเดือนไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท ค่าเบี้ยประชุมไม่ต่ำกว่า 25,000 บาท และเงินโบนัสรายปีของปี 2550 อยู่ที่ 0.1% ของกำไรสุทธิ แต่ไม่เกิน 30 ล้านบาท
       
       ที่ผ่านมา คุรุจิต ยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และกรรมการอิสระ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP อีกด้วย
       
       เมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ปัจจุบันเป็นกรรมการบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)มีค่าตอบแทนรายเดือนไม่ต่ำกว่า 37,500 บาท ค่าเบี้ยประชุมไม่ต่ำกว่า 25,000 บาท และเงินโบนัสปี 2550 ที่ 0.1% ของกำไรสุทธิ แต่ไม่เกิน 30 ล้านบาท และยังเป็นกรรมการคณะกรรมการสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยด้วย
       
       ไกรฤทธิ์ นิลคูหา รองปลัดกระทรวงพลังงาน ปัจจุบัน เป็นกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP มีค่าตอบแทนรายเดือนกรรมการบริษัทไม่ต่ำกว่า 60,000 บาท ค่าตอบแทนรายเดือนกรรมการตรวจสอบไม่ต่ำกว่า 25,000 บาท เงินโบนัสรายปี ปี 2550 อยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านบาท
       
       นอกจากนี้ยังเป็นประธานคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการปิโตรเลียม หลายชุด ได้แก่ อนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องราวตามมาตรา 69 และ 70 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เป็นอนุกรรมการพิจารณาร่างสัมปทานปิโตรเลียมและปัญหากฎหมาย อนุกรรมการบริหารเงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทย อนุกรรมการพิจารณากำหนดราคาก๊าซธรรมชาติ อนุกรรมการพิจารณาและวางแผนการจัดการปิโตรเลียม อนุกรรมการพิจารณาและวางแผนการจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่เขตไหล่ ทวีปทับซ้อน
       
       พานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชนป มีค่าตอบแทนรายเดือนไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท มีค่าเบี้ยประชุมไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท มีเงินโบนัสรายปี .05% ในปี 2550 ที่ผ่านมาด้วย
       
       วีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นกรรมการอิสระบริษัท ปตท.สผ. ซ้ำยังเป็นกรรมการอิสระ สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน และกรรมการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
       
       ศิวะนันท์ ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน อดีตเคยดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมการบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ด้วย
       
       “คนเหล่านี้แม้จะไม่มีความผิดตามข้อกฎหมาย แต่เรื่อง Conflict of Interest หรือผลประโยชน์ทับซ้อนก็เป็นเรื่องต้องตอบคำถาม”
       
       ท้ายที่สุดแล้วคงต้องบอกว่า ผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่มีมูลค่าอภิมหาศาล จากต้นทุนด้านพลังงานที่ถูกแสนถูกของประเทศไทย
       
       เมื่อข้าราชการจับมือนักการเมืองเอื้อประโยชน์เบ็ดเสร็จให้ภาคเอกชน หมด แล้วสุดท้ายใครกันที่จะอยู่ข้างประชาชน ผู้ถูกเอาเปรียบ!
       
       ************
       
       รสนา-เดินหน้าชน ปตท.
       จับมือ “คลัง-กพ.” รื้อบอร์ดพลังงาน-ทวงคืนสมบัติชาติ
       
       รสนา-องค์กร ผู้บริโภค กระทุ้งรัฐแก้วิกฤตพลังงาน เดินหน้าประสาน “กพ.-คลัง” รื้อ ระเบียบเฟ้นบอร์ดพลังงาน แก้ปมผลประโยชน์ทับซ้อน พร้อมทวงคืนท่อก๊าซโดยเร็วก่อนปตท.ฟันกำไรค่าผ่านท่อ 4,500 ล้าน ขณะที่ประชาชนเลือดตาแทบกระเด็น...
       
       การแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลที่เป็นหน่วยงานสำคัญในการควบคุมด้าน พลังงานอันเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของชาติอย่าง การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ไปสู่การเป็นบริษัทมหาชนภายหลังการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์และเปลี่ยนโฉมเป็น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แน่นอนว่านโยบายและทิศทางการดำเนินธุรกิจส่วนหนึ่งสามารถสร้างความยั่งยืนใน ด้านพลังงานของชาติได้อย่างดี ทว่ากำไรสูงสุดในฐานะองค์กรภาคเอกชนก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนด้าน พลังงานที่ใช้กันอยู่นั้นสูงเกินจริงอย่างคาดไม่ถึง และประชาชนต้องทนแบกรับโดยไม่อาจปริปากหรือต่อต้านได้แต่อย่างใด
       
       ทั้งนี้ ปัญหาต้นทุนด้านพลังงานข้างต้นนั้น มีสาเหตุมาจากหลัก คือ ปัญหาในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน อันเนื่องมาจากคณะกรรมการด้านพลังงานชุดต่างๆ อาทิ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงานและหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ทั้งระดับปลัด รองปลัด อธิบดี รวมถึงผู้ตรวจราชการนั้นยังไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการของบริษัทเอกชนด้าน พลังงานต่างๆ ที่มุ่งเน้นการทำกำไรสูงสุดให้กับบริษัทต้นสังกัด ซึ่งบุคคลเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์เป็นค่าตอบแทน ค่าเบี้ยประชุม และโบนัส จากบริษัทพลังงานต่างๆ สูงกว่ารายได้ประจำจากราชการ
       
       ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลบริษัทเอกชนไปดำรงตำแหน่งใน คณะกรรมการบริษัทใดบริษัทหนึ่ง นอกจากจะเป็นการเสี่ยงต่อการไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ชาติแล้ว ซ้ำร้ายจะยังเป็นการทำลายการแข่งขันในธุรกิจพลังงานซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความ ไม่เป็นธรรมต่อบริษัทคู่แข่งและนำไปสู่การผูกขาดทางธุรกิจ
       
       สุดท้ายประชาชนจะถูกมัดมือชกโดยปราศจากทางเลือกในการใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสมตามความเป็นจริง นั่นเอง
       
       เดินหน้ารื้อบอร์ดพลังงาน
       
       “คำถามก็คือ ในเมื่อผู้มีหน้าที่ควบคุมผลประโยชน์ประเทศและผลประโยชน์บริษัทมีส่วนสำคัญ ในการกำหนดนโยบายพลังงานซึ่งมีผลต่อทั้ง 2 ฝ่าย นั้นจะเลือกที่จะพิจารณาในแนวทางใดระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนหรือ ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการแก้ไขโดยเร็วที่สุด”
       
       รสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ระบุ พร้อมเผยถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในส่วนแรกนั้นคณะกมธฯจะเรียก ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)เข้ามาชี้แจงในกรณีดังกล่าวเนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่คัดสรร บุคคล-ข้าราชการเข้าสู่คณะกรรมด้านกิจการพลังงานชุดต่างของรัฐ
       
       ซึ่งในการแก้ไขปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนอาจจำเป็นต้องแก้ไขระเบียบและ เกณฑ์การคัดเลือกให้มีความเหมาะสมและรัดกุมมากขึ้น อาทิ การห้ามข้าราชการดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการของบริษัทเอกชนอย่างเด็ดขาด รวมถึงการประสานไปยังคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(กพ.)ในการแก้ไขกฎระเบียบ ข้าราชการในการเข้าดำรงตำแหน่งคณะกรรมการในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและบริษัท เอกชนอีกด้วย
       
       รวมถึงการตั้งกระทู้ถามไปยัง กรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบให้ทราบถึง ปัญหาและดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด
       
       จี้คลังทวงคืน
       ท่อก๊าซ 3.2 หมื่นล้าน

       
       นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ภายหลังที่ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในกรณี ไต่สวนกรณีที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบ่งแยกทรัพย์สินคืนแก่แผ่นดินไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากมิใช่เจ้าหนี้ที่แท้จริง ดังนั้น จึงมีความพยายามผลักดันให้กระทรวงการคลังเข้ามาทำหน้าที่เพื่อรักษาผล ประโยชน์ของชาติโดยเร็วที่สุด
       
       “หลังจากที่ศาลยกคำร้อง ก็จำเป็นต้องพึ่งกระทรวงการคลังในการทำหน้าที่ทวงคืนแทนผ่านกระบวนการใน รัฐสภา หากยังไม่ได้ก็จำเป็นต้องประสานภาคประชาชนเพื่อกดดันในการทวงคืนท่อก๊าซต่อ ไป” รสนา ระบุ
       
       ทั้งนี้ ปตท.ได้แบ่งแยกทรัพย์สินคืนให้แก่รัฐในช่วงเดือนธ.ค.51ที่ผ่านมารวมทั้งสิ้น เพียง 16,176.22 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย ที่ดินเวนคืน1.42 ล้านบาท สิทธิในการใช้ที่ดิน 1,124.11 ล้านบาท และระบบท่อก๊าซธรรมชาติในที่ดินเวนคืนและที่ดินรอนสิทธิ 3 โครงการอีก 15,050.69 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นทรัพย์ก่อนการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ของ ปตท.ในวันที่ 1 ต.ค.44
       
       ขณะที่จากข้อมูลของการตรวจสอบ ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นั้น พบว่า ปตท.ยังต้องคืนทรัพย์สินอีกว่า 32,613 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีทรัพย์สินที่ ปตท.จะต้องคืนให้แก่รัฐภายหลังการแปรรูป ณ วันที่ 1 ต.ค.44 อีกกว่า 157,102 ล้านบาทเนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการใช้สิทธิของรัฐและประชาชนจึงจำ เป็นต้องคืนให้แก่รัฐตามคำวินิจฉัยของศาลด้วยนั่นเอง
       
       ดังนั้น หากกระทรวงการคลังยังไม่ทำหน้าที่ตามที่ควรจะเป็นก็จะมีการประสานไปยัง มูลนิธิผู้บริโภคเพื่อกดดันในเรื่องดังกล่าวต่อไป
       
       จับตา ปตท.ขึ้นค่าผ่านท่อ
       ฟันกำไร 4,500 ล้าน

       
       นอกจากนี้ยังมีกรณีเร่งด่วนที่ส่งผลต่อการครองชีพของประชาชนอย่าง ยิ่งโดยเฉพาะการยื่นต่อ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ภายในวันที่ 16 มี.ค.นี้ เพื่อขออนุมัติเพิ่มค่าผ่านท่อจากเดิมซึ่งอยู่ที่ประมาณ 19 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู ไปอยู่ที่ประมาณ 20 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู ซึ่งจะส่งผลให้ ปตท.มีกำไรจากกิจการดังกล่าวปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือโดยรวมอยู่ที่ราวๆ 4,500 ล้านบาท เนื่องจากส่วนต่างนั้นมิได้เพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 1บาทเท่านั้น หากแต่ต้นทุนที่แท้จริงอยู่ที่ 17 บาทต่อ 1 ล้านบีทียูเท่านั้น
       
       และเมื่อพิจารณาจากต้นทุนของปตท.ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐในการใช้ท่อ ส่งก๊าซดังกล่าวนั้นพบว่ามีต้นทุนที่ถูกมากโดยอยู่ที่ราวๆ 1,300 ล้านบาทต่อระยะเวลา 30 ปี
       
       นอกจากนี้ยังพบข้อมูลจากการประเมินโดยตรงของ ปตท.จากการจ้างบริษัทเอกชนในการประเมินราคาเพื่อปรับค่าผ่านท่อดังกล่าวนั้น พบว่า ตัวเลขต้นทุนของท่อมีมูลค่าสูงสุดถึง 112,500 ล้านบาทหรือจากการกระเมินต่ำสุดที่ประมาณ 86,730 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับมูลค่าท่อก๊าซที่ปตท.คืนให้แก่รัฐตามคำวินิฉัยของศาลอยู่ ที่ประมาณ 16,176.22ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าราคาที่ ปตท.ประเมินไว้อย่างมาก
       
       ดังนั้น ราคาที่ ปตท.ประเมินนั้นค่อนข้างสูงด้วยฐานคิดจากการบำรุงรักษาท่อ การคิดค่าเสื่อม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ราคาที่ ปตท.ขอปรับขึ้นค่าผ่านท่อจึงมีอัตราที่ค่อนข้างสูงอย่างมาก และสามารถทำกำไรได้ค่อนข้างสูงจากต้นทุนของท่อที่ได้รับสัมปทานจากรัฐใน อัตราที่ต่ำมาก
       
       “ก่อนวันที่ 16 มี.ค.นี้จำเป็นต้องมีการยื่นเรื่องต่อกระทรวงการคลังและเรียกบอร์ดเข้ามาชี้ แจงเพื่อระงับการขึ้นค่าผ่านท่อดังกล่าวเนื่องจากรัฐเสียเปรียบและประชาชนจะ ต้องแบกรับต้นทุนด้านพลังงานที่สูงเกินไปอย่างไม่ยุติธรรม” รสนา ระบุ
       
       บทสรุปในการแก้ไขปัญหาด้านพลังงานและช่วยเหลือประชาชนให้ไม่ต้อง แบกรับต้นทุนด้านพลังงานที่สูงเกินไปจึงอยู่ที่ คณะกรรมการกิจการพลังงานที่จะเลือกในการจัดสรรประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ใน ฐานะข้าราชการหรือจะเลือกให้ประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นที่เป็นคนส่วนน้อยของ ประเทศเท่านั้น...
       
       **************
       
       PTT อาจได้เห็นที่ 134
       
       การ ยื่นเรื่องสอบถามปัญหาการโอนทรัพย์สินของ ปตท. คืนกระทรวงการคลังไม่ครบถ้วนต่อประธานวุฒิสภาของ รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาธิบาล วุฒิสภา เมื่อ 11 มีนาคม 2552 ส่งผลให้ราคาหุ้น PTT ปรับลดลงเหลือเพียง 144 บาท
       
       หลังจากทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังการแปรรูป บริษัท ปตท.ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 นั้น ไม่มีการโอนคืนแก่รัฐแต่อย่างใด ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 157,102 ล้านบาท ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดนี้ได้มาด้วยการใช้อำนาจมหาชน ซึ่งบริษัท ปตท.จะต้องคืนให้แก่รัฐตามคำพิพากษาของศาล
       
       “ตรงนี้ถือว่าเป็นปัจจัยลบสำหรับ PTT แน่นอน และบริษัทในเครือแน่ แม้เรื่องดังกล่าวจะทราบกันโดยทั่วไปแล้วก็ตาม แต่หากต้องมีการทำตามคำสั่งศาลปกครองย่อมส่งผลต่อมูลค่าสินทรัพย์และรายได้ ของ PTT ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนขณะนี้ยังต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง”
       
       หากประเมินจากสถานการณ์ในขณะนี้ราคาพื้นฐานของ PTT อยู่ที่ประมาณ 190 บาท ส่วนราคาตลาดคงต้องดูดัชนีตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งว่าจะเป็นอย่างไร แต่หากตลาดหุ้นปรับเพิ่มขึ้นเชื่อว่าราคาน่าจะเคลื่อนไหวระหว่าง 140-150 บาทเท่านั้น
       
       แต่หากดัชนีตลาดหลุด 400 จุดลงมาเหลือ 380 จาก ตัว PTT น่าจะอยู่ที่ประมาณ 130-134 บาท ดังนั้นหุ้นในกลุ่มพลังงานในระยะนี้คงไม่ใช่หุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีเหมือนอดีต ทั้งจากการใช้ที่ลดลงจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก และผลกระทบภายในประเทศ
       
       ส่วนผู้ลงทุนจะเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้คงต้องเลือกว่าจะลงทุนในระยะ สั้นหรือระยะยาว หากสามารถถือยาวๆ ได้ตัวนี้ก็น่าสนใจหากเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น
       
       *************
       
       ความจริง “LPG” ประชาชนต้องรู้.!
       ปตท.มุ่งโกย-โยนภาระให้คนไทย

       
       เผย ไส้ใน ปตท.กรณีก๊าซ LPG ชี้ครัวเรือนใช้ลดลงทุกปี ขณะที่ 'ปิโตรฯ-อุต' ยอดพุ่งมหาศาล ส่วนก๊าซธรรมชาติมีเพียงพอแต่ไม่ยอมสร้างโรงแยกก๊าซเพิ่มสาเหตุก๊าซขาดแคลน พร้อมระบุนำเข้า 10% ปีที่แล้วยอด 8,020 ล้าน โยนภาระให้ประชาชนต้องรับในส่วนต่างด้านราคา ขณะที่ ปตท.-บริษัทลูกไม่เกี่ยวข้อง ยืนยันปตท.ผูดขาดธุรกิจพลังงานครบวงจร
       
       ในช่วงกลางปีผ่านมามีความพยายามจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และกระทรวงพลังงานในการขอขึ้นราคาก๊าซ LPG (LIQUID PETROLEUM GAS) ในประเทศ ซึ่งเหตุผลทุกครั้งในการขอขึ้นคือไทยต้องนำเข้าก๊าซ LPG จากต่างประเทศ และราคาในตลาดโลกก็สูงขึ้นแต่คนไทยยังใช้ในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ล่าสุดยังมีความพยายามเสนอเรื่องดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 16 ม.ค. 2552 ต่อ คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กทพ.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แต่ผลสุดท้ายกพช.ก็ให้ยับยั้งไม่อนุมัติการขอขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG ) อีก 2.70 บาท/กิโลกรัม
       
       ประเด็นที่ทุกคนให้ความสนใจ คือ หลังจากที่ปีที่แล้ว LPG ในประเทศขาดแคลนทำให้ไทยต้องนำเข้าถึง 10% โดยมี ปตท.เป็นผู้แบกรับสำรองเงินจ่ายไปก่อนกว่า 8,020 ล้านบาทนั่นคือสาเหตุที่ทำให้ทั้งกระทรวงพลังงานและปตท.ได้พยายามขอขึ้นราคา ก๊าซหุงต้มในประเทศในช่วงที่ผ่านมา
       
       ถามว่าความเป็นจริงของเรื่องดังกล่าวคืออะไร ก๊าซ LPG ในประเทศขาดแคลนจริงหรือไม่ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ขาดแคลน 'ภาคครัวเรือน' เป็นจำเลยของสังคมจริงหรือไม่ แล้วโรงแยกก๊าซในประเทศมีเพียงพอจริงหรือ เพราะก๊าซ LPG ในประเทศกว่า 60% มาจากการขุดเจาะที่อ่าวไทยแล้วทำไมคนไทยต้องใช้ราคาก๊าซที่สูงเท่ากับราคา ตลาดโลก นี่คือคำถามที่ผู้เกี่ยวข้องตอบ..
       
       เผย 'อุต-ปิโตรฯ'
       แย่งก๊าซเกือบครึ่ง.!

       
       คำถามแรกที่ทุกคนสงสัยและต้องการคำตอบมากที่สุด คือ ก๊าซ LPG มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศหรือไม่จากขอมูลของกระทรวงพลังงานพบว่า ไทยสามารถผลิตก๊าซ LPG ได้ถึงปีละ 4.05 ล้านตันซึ่งแบ่งได้เป็นการใช้ของภาคครัวเรือนและยานยนต์ประมาณปีละ 2.66 ล้านตันและลดการใช้ลงทุกปีแปลว่ามี LPG เหลือเฟือสำหรับการใช้ในครัวเรือนของไทย แต่ทำไมยังขาดแคลนเพราะมีอีกกลุ่มที่ใช้ LPG มากที่สุดในระดับรองลงมาคือกลุ่มอุตสาหกรรมและปิโตรเคมี กลุ่มนี้มีอัตราส่วนในการใช้ LPG ในประเทศสูงถึง 40.3 % สูงเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมดที่มีแปลว่าที่ LPG ขาดแคลนในปีที่แล้วส่วนหนึ่งก็มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมและปิโตรเคมีใช่หรือไม่ แล้วทำไมทุกครั้งที่มีข่าวว่าก๊าซขาดแคลนกลุ่มคนที่ถูกกล่าวถึงมีเพียงกลุ่ม ผู้ใช้ครัวเรือนและยานยนต์เท่านั้น
       
       ขณะที่การขาดแคลน LPG ในประเทศน่าจะมาจากการไม่มีโรงแยกก๊าซที่ไม่เพียงพอเห็นได้จากก่อนที่ปตท. ได้แปรรูปในตลาดหลักทรัพย์ปตท.ได้เดินหน้าก่อสร้างโรงงานแยกก๊าซไว้ถึง 4 โรงโดยคำนึงประชาชนเป็นหลักในยามที่ขาดแคลน เหมือนที่ กฟผ.(การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ) ที่ต้องคำนวณล่วงหน้าถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตเมื่อถึงจุดพีคไฟฟ้าจะ ได้ไม่ดับ แต่ ปตท.เมื่อแปรรูป (1 ธ.ค.2544 )ไปแล้ว ได้สร้างโรงแยกก๊าซเพิ่มขึ้นเพียง 1 โรง เพราะ ปตท.สามารถคำนวณความต้องการใช้ในประเทศล่วงหน้าได้อยู่แล้ว และในอนาคต ปตท.ก็เชื่อว่าจะมีการขาดแคลนเกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่สร้างโรงแยกก๊าซเพิ่มขึ้น เพราะ ปตท.เกรงว่าจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้บริษัท และต้องคำนึกถึงผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่ประชาชนเจ้าของประเทศอีกต่อไป
       
       ปตท.ไม่สนประชาชน
       ผู้ถือหุ้นมาก่อน

       
       นอกจากนี้ ในยามที่ก๊าซ LPG ขาดแคลน มีเสียงเรียกร้องให้สร้างโรงแยกก๊าซเพิ่มขึ้นปตท.กลับต่อรองว่าจะสร้างโรง แยกก๊าซเพิ่มได้แต่ภาครัฐก็ต้องให้ขึ้นราคาก๊าซ LPG เช่นกันแปลว่าปตท.กำลังเอาประชาชนส่วนใหญ่ของเป็นตัวประกันสนองความต้องผู้ ถือหุ้นเพียงไม่กี่คนกระนั้นหรือ
       
       “ปัจจุบันการผลิตก๊าซ LPG ของโรงแยกก๊าซ ปตท.มาจากอ่าวไทยทั้งหมดซึ่งในหนึ่งวันมีการนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาวันละ ประมาณ 2,400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันซึ่งหากเทียบกับรัฐอลาสก้าจำนวนดังกล่าวมากกว่า 2 เท่าซึ่งถือว่าเยอะมาก แต่โรงแยกก๊าซของปตท.รองรับได้เพียง 1,7000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันเท่านั้น ทำให้ไทยต้องสูญเสียก๊าซธรรมชาติวันละ 600-700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งหากนำส่วนนี้มาผลิตก๊าซ LPG จะได้ก๊าซเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 ล้านตัว/ปีและชดเชยส่วนที่ขาดและต้องนำเข้ามา 10% ของปี 2551 ได้” แหล่งข่าวจากระทรวงพลังงาน ระบุ
       
       อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่ ปตท.ต้องแบกรับนำเข้าก๊าซในปีที่ผ่านมาจำนวน 10% คิดเป็นมูลค่ากว่า 8,020 ล้านซึ่งรัฐบาลต้องจ่ายคืนในเดือน เม.ย.นี้ในราคาที่นำเข้ามา 825 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน (27บาท/กิโลกรัม) แต่ในความเป็นจริง เวลาที่นำเข้า 10% ในราคา825 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ปตท.จะนำมาลบกับตัวเลขผู้ใช้ในประเทศที่ราคา 323 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน (13 บาท/กิโลกรัม) จะเป็นตัวหนี้กองทุนเชื้อเพลิงพลังงานทุกลิตรที่ประชาชนต้องรับผิดชอบ
       
       สุดท้ายประชาชน
       รับกรรมนำเข้า LPG

       
       ขณะที่อุตสาหกรรมและปิโตรเคมีที่เป็นบริษัทลูกของเครือ ปตท.จะซื้อก๊าซจากบริษัทแม่ในราคา 496 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน (16 บาท/กิโลกรัม) ซึ่งต่ำกว่าความเป็นจริงแต่ ปตท.ให้เหตุผลว่าหากอุตสาหกรรมและกลุ่มปิโตรเคมีซื้อในราคาที่นำเข้ามา บริษัทลูกๆเหล่านี้จะเจ๊งได้ และยังยืนยันว่าแม้ตัวเลขที่ซื้อจะน้อยกว่าราคาที่นำเข้ามาแต่ก็ยังสูงกว่า ประชาชนผู้บริโภคแต่การที่ ปตท.สำรองจ่ายไปก่อนเป็นเงิน 8,020 ล้านบาทเหมือนจะดี แต่เงินที่รัฐบาลจะนำมาจ่ายคืนให้ ปตท.ล้วนมาจากภาษีประชาชนทั้งนั้นแปลว่าประชาชนที่ใช้กาซในราคา 323 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน (13 บาท/กิโลกรัม) ต้องแบกรับส่วนต่างที่นำเข้ามาที่ 825 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน (27บาท/กิโลกรัม)
       
       “พูดง่ายๆ ว่านำเข้ามามากเท่าไหร่ ประชาชนจะรับผิดชอบแทนเพียงฝ่ายเดียว ทำไมไม่บอกประชาชนว่าประชาชนนั่นแหละแบกรับส่วนต่างราคานำเข้ามาตลอด ปตท.สำรองจ่ายให้ก่อนเท่านั้นแล้วเงินส่วนนี้จะไปตกแก่หลวงหรือว่าผู้ถือ หุ้น” แหล่งข่าวคนเดิมระบุ
       
       รายงานข่าวจาก ปตท.แจ้งว่า ที่ปี 2552 นี้ปตท.คาดว่าไทยจะต้องนำเข้า LPGประมาณ 1 ล้านตันคิดเป็นภาระนำเข้ากว่า 1 หมื่นล้านบาท โดย ปตท.คงไม่สามารถสำรองจ่ายส่วนต่างราคา LPG นำเข้ากับขายในประเทศได้หากครบวงเงินที่บอร์ดฯอนุมัติไว้ 1 หมื่นล้านบาท
       
       ไทยจ่าย LPG
       สูงกว่าตลาดโลก

      
       อย่างไรก็ดี แม้การผลิต LPG ในประเทศจะมาจากโรงแยกก๊าซ 60 % ประมาณกว่า 2 ล้านตันกว่าและอีกส่วนจะมาจากโรงกลั่น 40% ประมาณ 1ล้านตันกว่ารวมการผลิตทั้งหมดในประเทศประมาณ 4 ล้านตันเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศแต่ทำไมกระทรวงพลังงานและปตท.ยัง พยายามที่จะขอขึ้นราคาก๊าซ LPG ในประเทศจากราคา 18.30 บาทต่อกิโลกรัมขึ้นเป็นราคา 20 .83 บาทต่อกิโลกรัมขณะที่ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกก็ลดต่ำลงมาเรื่อยๆโดยราคาในตลาดโลกตอนนี้อยู่ที่ 13.30 บาทต่อกิโลกรัม แล้วคนไทยยังต้องจ่ายราคาค่าก๊าซ LPG ในราคาที่สูงกว่าตลาดโลกซึ่งการผลิตก็ล้วนมาจากทรัพยากรธรรมชาติบนผืนแผ่น ไทยทั้งนั้น ประกอบกับก๊าซที่ได้ในประเทศก็ซื้อในราคาที่ต่ำกว่าราคาในตลาดโลก แต่ถึงเวลาจะขายก็อ้างอิงราคาในตลาดโลกตลอดโดยไม่รับผิดชอบต่อประชาชนแต่ มุ่งแสวงหากำไรสนองผู้ถือหุ้นจนเกินงาม
       
       นอกจากนี้ บริษัท ปตท.เป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่ผูกขาดธุรกิจพลังงานในบ้านเราแบบครบวงจร อาทิ โรงแยกก๊าซ ธุรกิจก๊าซเอ็นจีวี ธุรกิจท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ธุรกิจการกลั่นน้ำมันนั้น (ปตท.เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน 5 โรงจาก 6 โรงกลั่นขนาดใหญ่) ที่มีกำลังการผลิตรวมกันกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
       
       ส่วนความได้เปรียบในธุรกิจพลังงานบริษัท ปตท.สิทธิพิเศษต่างๆ เช่น การผูกขาดการขายน้ำมันและก๊าซให้กับรัฐ การผูกขาดในธุรกิจแยกก๊าซ การผูกขาดในธุรกิจขนส่งก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งได้เปรียบจากจากทรัพย์สินที่โอนไปจากรัฐเมื่อตอนแปรรูปการปิโตรเลียม แห่งประเทศไทยมาเป็นเอกชนอาทิ โครงการก่อสร้างท่อก๊าซ ซึ่งหลังจากแปรรูปฯ ปตท.ได้เก็บค่าผ่านท่อในแต่ละปีเป็นเงินกว่าหมื่นล้านบาทซึ่งสุดท้ายค่าผ่าน ท่อนี้ ก็ถูกผลักภาระมาสู่ประชาชนในรูปราคาขายปลีกพลังงานที่สูงขึ้น
       
       ดังนั้นจึงกลายเป็นว่า ประชาชนซึ่งเดิมมีฐานะเป็นเจ้าของท่อก๊าซเพราะเป็นผู้จ่ายค่าก่อสร้าง กลับจะต้องจ่ายค่าใช้ท่อก๊าซอีกด้วยในปัจจุบัน เสมือนกับเจ้าของบ้านเมื่อลงทุนลงแรงสร้างบ้านของตนเสร็จเรียบร้อย บ้านกลับถูกโอนไปเป็นของคนอื่น ทำให้เจ้าของบ้านต้องกลับมาเช่าบ้านหลังเดิมนี้อีกเพื่ออยู่อาศัย
       
       ถึงเวลาหรือยังที่จะให้คนไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของประเทศมีส่วน ร่วมในการกำหนดอนาคตของตัวเอง หรือผูกขาดให้บางบริษัท และนักการเมืองร่วมกันทึ้งประเทศไทยต่อไปอย่างนี้อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น.!

โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ 12 มีนาคม 2552 09:03 น.

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน