ฉลามเขียวถาม สารีตอบ

News pic Replied to GreenShark

ฉลามเขียวถาม สารีตอบ

จากที่คุณฉลามเขียวได้เขียนแสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณี สภาองค์กรของผู้บริโภคเรียกร้องให้ กทม. หยุดต่อสัญญาสัมปทานและขึ้นราคารถไฟฟ้าบีทีเอส รวมทั้งเสนอว่าอัตราค่ารถไฟฟ้า 25 บาท สามารถทำได้จริงนั้น (โพสต์ต้นทาง : 25 บาท...เจ็บมั๊ย “สารี อ๋องสมหวัง”)

ก่อนอื่นขอตั้งข้อสังเกตคุณฉลามเขียวว่า หากคราวหน้าจะเขียนเรื่องรถไฟฟ้า อยากให้หาข้อมูลหรือสอบถามข้อมูลให้รอบคอบกว่านี้ ไม่ใช่กล่าวหาใครโดยไม่ตรวจสอบ หรือเชื่อข้อมูลของใครคนใดคนหนึ่ง ถึงแม้เขาจะเป็นกูรู แต่โลกนี้มีผู้เชี่ยวชาญอีกมากมายที่เป็นอิสระเชื่อถือได้ เช่น ดร.สุเมธ องค์กิตติคุณ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หรือ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น

ขอแนะนำ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” กับคุณฉลามเขียว ว่าสภาองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่บัญญัติรับรองสิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง โดยมีพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนดให้องค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการจดแจ้งจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 150 องค์กร มีสิทธิรวมตัวกันจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ทำหน้าที่เป็นผู้แทนผู้บริโภค มีวัตถุประสงค์เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้าน อาทิเช่น ให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค รวมตลอดทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 14 ของกฎหมายฉบับนี้

 โดยปัจจุบันสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้สามารถจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้สำเร็จเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 และสภาองค์กรของผู้บริโภคมีกลไกในการทำงานของสภาเป็นที่เรียบร้อย รอเพียงงบประมาณสนับสนุนเป็นทุนประเดิมจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามกฎหมายฉบับนี้  สภาองค์กรของผู้บริโภคมีสมาชิกที่เป็นองค์กรผู้บริโภคจำนวน 198 องค์กร โดยปัจจุบันมีองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการจดแจ้งทั้งหมดจำนวน ๒๓๑ องค์กร (รายชื่อองค์กรของผู้บริโภคที่ได้แจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค)

สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นองค์กรตามกฎหมาย และให้ทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ความคาดหวังของผู้บริโภคที่มีต่อสื่อมวลชนอย่างเช่นคุณฉลามเขียว ย่อมอยากเห็นว่า คุณฉลามเขียวได้ทำหน้าที่และมีโอกาสโต้แย้งนักการเมืองและรัฐบาลที่ลืมดูความจริงของสังคมที่ว่า รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชน ต้องไม่ทำให้เป็นบริการฟุ่มเฟือยที่คนมีเงินเท่านั้นจึงมีสิทธิ์ใช้ ปัจจุบันคนที่ใช้บริการขนส่งมวลชนใช้บริการรถไฟฟ้าเพียง 2.86 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

การคำนวณของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ แต่สังคมไทยคงอยากเห็นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่จะช่วยซักค้านว่าไม่ควรคิดต้นทุนรถไฟฟ้าอย่างเดียว ทำไมรัฐบาล นักการเมือง ข้าราชการไม่ช่วยคิดเรื่องค่าครองชีพของประชาชนว่ามีความสามารถจ่ายค่าเดินทางทุกวันในราคาสูงสุดเท่าใด จะดีกว่ามั้ยหากข้อมูลถูกเปิดเผยโปร่งใส อย่ารู้และคิดฝ่ายเดียว แบบคุณพ่อรู้ดีที่รักษาผลประโยชน์ประชาชนไม่ได้ ข้อมูลราคารถไฟฟ้าแม้แต่การตรวจสอบจากรัฐสภายังไม่สามารถทำได้ จนกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรเป็นอีกหน่วยงานที่ทำหนังสือให้ชะลอการต่อสัญญาสัมปทานไปที่นายกรัฐมนตรี

ทำไมไม่คำนวณว่าถ้ารัฐบาลหรือกรุงเทพมหานครไม่ต้องการกำไร 240,000 ล้านบาท ค่ารถไฟฟ้าถูกลงได้กว่านี้แน่นอน หรือทำให้ 25 บาททำได้จริง และถ้ารัฐบาลสนับสนุนราคารถไฟฟ้า รัฐบาลจะประหยัดค่าน้ำมันที่สิ้นเปลืองบนท้องถนนได้วันละเท่าไหร่ คนทำงานจะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้เท่าไหร่ ลดต้นทุนการจัดการมลพิษได้เท่าไหร่ ต้นทุนเหล่านี้คุ้มค่าที่รัฐบาลจะรีบทำให้ค่ารถไฟฟ้าลดลงเหลือ 25 บาท หรือท้ายที่สุดต้องไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ขั้นต่ำของคนกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

หรือทำไมรัฐบาลหรือหน่วยงานไม่ศึกษาว่า ขณะนี้ประชาชนมีภาระค่าเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองหลายขั้นกว่าจะขึ้นรถไฟฟ้าได้ ประชาชนเอาเงินมาจากไหน ควรมีการคำนวณว่าคนอาศัยอยู่ในเมืองและนอกเมืองมีปริมาณมากแค่ไหนที่มีความสามารถจ่ายและที่ไม่สามารถจ่ายได้ ทำไมรัฐต้องลงทุนสร้างถนนหลายแสนล้าน เพื่อให้เดินทางเข้าเมืองได้ เพราะระบบโครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งระบบรถไฟฟ้า สำคัญสำหรับประเทศในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

ประเทศไทยกำลังจะมีรถไฟฟ้ามากกว่า 500 กิโลเมตร มากเป็นอันดับ 5 ของโลก แต่คนนอกเมืองที่บ้านไกลกลายเป็นเพียงคนรับฝุ่นจากการก่อสร้างหรือยืนดูรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน เพราะเราขาดนโยบายและกฎหมายในการกำหนดราคาขั้นสูงที่ทำให้ทุกคนขึ้นได้ บัตรใบเดียวที่ขึ้นได้ทุกสายมีการศึกษามาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 จนปัจจุบันก็ยังอยู่ในระดับการศึกษาวิจัย การคิดค่าแรกเข้าที่ซ้ำซ้อนของรถไฟฟ้าหลากสี ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงถึง 113 บาทหากจะเดินทางจากมีนบุรีมายังในเมืองสยามสแควร์ เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องปฏิรูปรถไฟฟ้าทั้งสิ้น ปัจจุบันเป็นต้นทุนที่ประชาชนต้องแบกรับ และรัฐบาลต้องเสียโอกาสที่จะทำให้กรุงเทพเป็นเมืองมหานครสะอาด ลดมลพิษได้อย่างแท้จริง

หวังว่าสื่อที่มีอิทธิพลอย่างฉลามเขียวจะสร้างคุณูประการให้กับสังคมได้ เพียงแค่พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในฐานะประชาชนกรุงคนหนึ่งที่ต้องทนทุกข์จากการจราจรมลพิษ และค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่เกินตัว


สารี อ๋องสมหวัง

21 เมษายน 2564
ข้อมูลจาก : สารี ตอบคุณฉลามเขียว 

Tags: รถไฟฟ้า, BTS , มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มพบ., สภาองค์กรของผู้บริโภค, บีทีเอส, รถไฟฟ้าขึ้นราคา, รถไฟฟ้าบีทีเอส, ค่ารถไฟฟ้าแพง, รถไฟฟ้าสายสีเขียว, ค่าโดยสารรถไฟฟ้า

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน