มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ ผู้เสียหายทุกคนจาก ‘อุบัติเหตุรถทัวร์ไฟไหม้’ ต้องได้รับสิทธิเต็มวงเงินประกันภัย

4ED13232 A0D2 4493 A1ED 3CF2B035CD7A

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ ผู้เสียหายทุกคนจาก ‘อุบัติเหตุรถทัวร์ไฟไหม้’ ต้องได้รับสิทธิเต็มวงเงินประกันภัย และ ไม่ถูกตัดสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมจากสัญญาประนีประนอมยอมความ หากมีความเสียหายเกินวงเงินประกันภัย

จากกรณีอุบัติเหตุรถทัวร์โดยสารบริษัท 407 พัฒนา สายอุดรธานี - กรุงเทพ เกิดระเบิดที่ยางหลังด้านขวาและเพลิงลุกไหม้ บริเวณถนนมิตรภาพตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น เมื่อกลางดึกวันที่ 13 เมษายน 2564 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 5 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมากนั้น

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุรถทัวร์โดยสารไฟไหม้ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งและแต่ละครั้งนำมาซึ่งความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่าไม่ได้ อุบัติเหตุหลาย ๆ ครั้งเป็นบทเรียนที่เกิดขึ้นซ้ำบนความสูญเสียที่ควรจะป้องกันได้เนื่องจากรถโดยสารประจำทางเป็นบริการขนส่งมวลชนที่รัฐมีหน้าที่ต้องกำกับคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคที่ใช้บริการได้นอกจากนี้ยังพบปัญหาที่ตามมาจากอุบัติเหตุทุกครั้ง คือ ปัญหาการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่ล่าช้าและไม่เป็นธรรม หลายกรณีกลายเป็นคดีความฟ้องร้องต่อศาล เพราะสิทธิผู้บริโภคถูกละเลย ทั้งที่ผู้บริโภคทุกคนมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522

ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม กล่าวอีกว่า กรณีนี้ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถทัวร์โดยสารไฟไหม้มีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากประกันภัยภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ.รถ เป็นเงิน 500,000 บาท ประกันภัยภาคสมัครใจ เป็นเงิน 500,000 บาท และการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident Insurance หรือ PA) อีก 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 1.1 ล้านบาทต่อราย ขณะที่ผู้บาดเจ็บมีสิทธิตามประกันภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ.รถ แบ่งเป็น ค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน 80,000 บาท และในกรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) จะจ่ายค่าชดเชย 200 บาทต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 20 วัน แต่หากบาดเจ็บรุนแรงเกินวงเงินประกันภัยภาคบังคับ ผู้บาดเจ็บแต่ละรายยังมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากประกันภัยสมัครใจรถโดยสารคันที่เกิดเหตุเพิ่มได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบจากการชดเชยเยียวยา คือ การจ่ายเงินไม่ครบความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย และให้ผู้เสียหายลงนามในเอกสารยอมความตัดสิทธิผู้เสียหายในการเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติม คือ เมื่อคู่กรณีตกลงค่าเสียหายที่ต้องชดใช้กันได้จากประกันภัยแล้วต้องมีการลงชื่อในแบบฟอร์มสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยแบบฟอร์มจะมีข้อความลักษณะเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหาย คือ ผู้รับสัญญาตกลงไม่เรียกร้องค่าเสียหายอื่นใดทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อผู้ให้สัญญาและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ อีกต่อไป โดยให้ถือว่ามูลละเมิดดังกล่าวได้ระงับสิ้นไปแล้ว

“มูลนิธิฯ อยากแนะนำผู้เสียหายทุกคนว่า หากเจอข้อความแบบนี้ผู้เสียหายไม่ควรลงชื่อยินยอมในเอกสารดังกล่าวโดยเด็ดขาด เพราะหากลงชื่อไปแล้ว ถือเป็นการสละสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายอื่นเพิ่มต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทางออกในกรณีนี้แนะนำให้ผู้เสียหายขีดฆ่าข้อความดังกล่าวต่อหน้าพนักงานสอบสวนจากนั้นลงชื่อกำกับก็จะทำให้มีสิทธิรับเงินค่าเสียหายเฉพาะจากผู้ที่จ่ายได้และยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นได้เพิ่มหากมีความเสียหายเพิ่มเติมโดยผู้เสียหายควรจัดเก็บหลักฐานเพื่อประกอบการใช้สิทธิ เช่น ตั๋วโดยสาร หลักฐานค่ารักษาพยาบาลหรือค่าใช้จ่ายงานศพในกรณีเสียชีวิต” คงศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ มูลนิธิฯ ทราบว่าในวันที่ 19 เมษายน นี้ พนักงานสอบสวนนัดหมายผู้เสียหายและคู่กรณีเข้าเจรจาค่าสินไหมทดแทนที่ สภ.บ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น จึงอยากฝากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนให้ตระหนักและเคารพถึงสิทธิของผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย และร่วมกันยกเลิกข้อความที่ไม่เป็นธรรมในสัญญาประนีประนอมยอมความที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคเพราะผู้เสียหายแต่ละรายมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมหากมีความเสียหายเกินกว่าวงเงินประกันภัย สิทธิของผู้บริโภคจึงไม่ควรถูกลดทอนจากผู้ให้บริการเพื่อพัฒนาระบบการชดเชยเยียวยาให้เป็นธรรมตามสิทธิที่ผู้บริโภคควรได้รับตามกฎหมาย

 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน