เตือนภัย ‘ผ่อนไป ใช้ไป’ ระวังไม่ได้รับสินค้า

news pic 13012021 telephoneinstallmentcheating

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เตือน การผ่อนสินค้าแบบ ‘ผ่อนไป ใช้ไป’ ระวังไม่ได้รับสินค้าตามตกลง แนะควรตรวจสอบร้านค้าให้ดีก่อนตัดสินใจโอนเงิน พร้อมเสนอควรมีหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องการซื้อ - ขายสินค้าออนไลน์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (13 มกราคม 2564) มีผู้บริโภครายหนึ่งได้รับความเสียหายจากการผ่อนโทรศัพท์มือถือบนโซเชียลมีเดียในลักษณะ ‘ผ่อนไป ใช้ไป’ เมื่อโอนเงินจำนวนหนึ่งไปให้ร้านค้าและตกลงกันให้ส่งสินค้ามาให้ สุดท้ายกลับไม่ได้รับสินค้าตามที่ตกลงไว้

          ผู้เสียหายจากกรณีผ่อนสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า ให้สัมภาษณ์ถึงรายละเอียดของกรณีดังกล่าวว่า ปกติร้านค้าในลักษณะนี้จะให้ลูกค้าโอนเพื่อใช้ผ่อนชำระสินค้านั้น ๆ ไปก่อน แต่ยังไม่ส่งสินค้าให้ใช้เลย จนกว่าจะผ่อนชำระถึงจำนวนเงินที่ตกลงกับร้านค้าเอาไว้จึงจะส่งสินค้ามาให้ลูกค้า แต่ในกรณีของผู้เสียหายรายนี้ต้องการใช้โทรศัพท์มือถือทันที จึงทักร้านค้าบน Instagram ถึง 6 ร้าน และร้านที่โกงนั้นตอบกลับมาเร็วที่สุด จึงตัดสินใจเลือกร้านค้าดังกล่าวโดยไม่ได้ตรวจสอบก่อน ทั้งการอ่านรีวิวหรือการตรวจสอบที่มาของร้านค้า จากนั้นจึงโอนเงินไปให้ร้านค้า จำนวน 14,000 บาท และให้ร้านส่งสินค้ามาให้แต่เมื่อถึงวันกลับไม่ได้รับสินค้าตามที่ตกลง

          “เป็นความผิดของเราที่ไม่ได้ตรวจสอบร้านค้าให้ดีเอง แค่เพียงร้านนั้นตอบมาเร็วที่สุดก็ตัดสินใจโอนเลย ทั้งที่ก่อนโอนเราควรจะตรวจสอบชื่อบัญชีว่าตรงกับบัตรประจำตัวประชาชนไหม ซึ่งในกรณีของเราไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนมายืนยันด้วย เห็นแบบนั้นแล้วเราก็คิดว่าควรจะอ่านรีวิวประกอบ หรือ อาจจะตรวจสอบตำแหน่งที่ตั้งร้านค้าว่ามีอยู่จริงหรือไม่ หรือเช็กว่าผู้ขายขายสินค้าด้วยตัวเองไหม เช่น การไลฟ์ขายสินค้าแบบเห็นหน้าค่าตาของผู้ขาย ก็อาจจะช่วยรับประกันได้อีกทางหนึ่ง” ผู้เสียหายจากกรณีผ่อนสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า กล่าว

          ด้านคุณโชติวิทย์ เกิดสนองพงศ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การผ่อนสินค้าเป็นเรื่องปกติที่คนทั่วไปสามารถทำได้ โดยจะเป็นการได้สินค้ามาใช้ก่อนถึงค่อยผ่อนชำระ ในกรณีข้างต้นหากผ่อนสินค้าโดยยังไม่ได้รับสินค้า ควรมีการทำสัญญาเพื่อเป็นหลักฐานและหลักประกันว่าจะได้รับสินค้า ถ้าไม่ได้รับสินค้าตามสัญญาก็สามารถยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนได้ แต่ในกรณีแบบนี้อาจตั้งขอสังเกตได้ว่าการผ่อนโดยไม่มีการทำสัญญาหรือหลักฐานว่าผู้ซื้อจะได้สินค้าหรือไม่ อาจจะเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนได้ ดังนั้น ผู้บริโภคควรต้องระมัดระวังให้ดี

          ทั้งนี้ กรณีที่ไม่ได้รับสินค้า ผู้ซื้อสามารถแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับผู้ขายในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน โดยนำหลักฐานการสนทนา หรือ หลักฐานการโอนเงิน หรือหลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงขอให้ออกหนังสืออายัดบัญชีธนาคารของเจ้าของบัญชีที่ผู้ซื้อได้โอนเงินไป หลังจากนั้นจึงนำหนังสือไปขออายัดบัญชีที่ธนาคาร

          “ก่อนที่จะสั่งซื้อสินค้า หรือ ผ่อนสินค้าในกรณีแบบนี้ ควรตรวจสอบให้ถ้วนถี่ ทั้งชื่อร้านค้า บัญชีผู้รับโอนเงิน เพื่อดูว่าร้านค้าและเจ้าของมีประวัติการขายสินค้าอย่างไร ซึ่งอาจตรวจสอบได้เบื้องต้นจากการค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต เช่น อาจลองพิมพ์ชื่อร้านค้านั้น ๆ ลงบนกูเกิ้ล หรือทางเว็บไซต์ blacklistseller.com เพื่อตรวจสอบว่ามีประวัติการโกงหรือไม่ นอกจากนี้การตรวจสอบอีกทาง ก็คือ ร้านค้าที่ขายสินค้าบนออนไลน์นั้นจำเป็นต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์* ทุกร้าน เราสามารถสอบถามกับทางร้านค้า หรือ นำชื่อของร้านค้าไปตรวจสอบได้ที่ https://www.trustmarkthai.com/th/ เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ” เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าว

          เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย (เฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม) โดยตรง ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาในลักษณะนี้จึงไม่มีหน่วยงานเข้ามาดำเนินการตามกฎหมายได้ และจำเป็นต้องอาศัยการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดี ข้อเท็จจริง ก็พบว่า การตีความของตำรวจไม่เหมือนกัน ตำรวจบางรายมองว่าเป็นเรื่องที่ผิดสัญญาทางแพ่งให้ไปฟ้องร้องกันเอง หรือ บางรายอาจมองว่าเป็นเรื่องอาญาที่มีความผิดฐานฉ้อโกง หรือ ฉ้อโกงประชาชนก็จะดำเนินคดีให้ จึงต้องการฝากถึงรัฐ ให้มีการตั้งหน่วยงานเข้ามารับผิดชอบเรื่องการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ซื้อที่ใช้ช่องทางเหล่านี้เป็นช่องทางหลักในการซื้อสินค้า


*FACT : ในกรณีดังกล่าวเป็นการขายแบบผ่อนสินค้าบน Instagram ซึ่งเป็นการขายแบบออนไลน์รูปแบบหนึ่ง จำเป็นต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2553 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 โดยบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีรูปแบบค้าขายออนไลน์ ดังต่อไปนี้ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ภายใน 30 วัน นับแต่เริ่มประกอบพาณิชยกิจ และต้องกรอกข้อมูลเกี่ยวกับเว็บไซด์ในเอกสารแนบด้วย

          1. ซื้อขายสินค้า/บริการ โดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งครอบคลุมถึง เว็บไซต์ ร้านค้าใน e - Marketplace ร้านค้าในโซเชียลมีเดีย และแอปพลิเคชัน

          2. ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider: ISP)

          3. ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Web hosting)

          4. ให้บริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าและบริการ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e - Marketplace)

          หากร้านค้าออนไลน์ที่ไม่จดทะเบียนพาณิชย์ฯ จะมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และปรับวันละไม่เกิน 100 บาท จนกว่าจะปฏิบัติถูกต้องหลังจากจดทะเบียนพาณิชย์ฯ และต้องกรอกแบบฟอร์ม ยื่นแบบฟอร์มเพื่อขอรับเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์ฯ เครื่องหมาย DBD Registered ที่เจ้าของร้านค้าสามารถนำมาขึ้นบนหน้าเว็บไซต์ เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการ

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ฉ้อโกง, Instagram, ไม่ได้รับสินค้า, ไม่ได้เงินคืน, ผ่อนไปใช้ไป, ผ่อนสินค้า, ขายของออนไลน์, ขายออนไลน์, โซเชียลมีเดีย, อินสตาแกรม, ฉ้อโกงประชาชน

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน