มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอฟู้ดเดลิเวอรี่ ปรับค่าบริการขนส่งอาหารให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และเพิ่มทางเลือกภาชนะที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน
วันนี้ (10 เมษายน 2563) --- มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภคในช่วงที่ทุกคนหยุดกักตัวอยู่บ้าน เพื่อช่วยกันลดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ตามนโยบาย “หยุดเชื้อเพื่อชาติ” พบว่าธุรกิจบริการรับส่งอาหาร หรือ ฟู้ดเดลิเวอรี่ เป็นที่ต้องการของประชาชนมากขึ้นถึง 2-3 เท่าตัว แต่ไร้การควบคุม มีการฉวยโอกาสปรับราคาส่วนแบ่งรายได้จากร้านค้าที่เข้าร่วม เช่น จากเดิมร้อยละ 20 เป็น ร้อยละ 35 - 40 นอกจากนี้ยังพบปัญหาการเก็บค่าบริการขนส่งอาหารที่แพงกว่าที่ควรเป็น การแสดงราคาอาหารที่แพงกว่าหน้าร้าน ปัญหาการให้บริการของพนักงานส่งอาหาร อีกทั้งหลายร้านพบการใช้วัสดุจากโฟมและพลาสติก สวนทางกับกระแสลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่มีทางเลือกให้ผู้บริโภค
ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภคในช่วงโควิด-19 และส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ มพบ. จึงมีข้อเสนอต่อผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ดังนี้
1. ขอให้คิดค่าบริการขนส่งอาหารอย่างเป็นธรรม โดยผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่อาจคิดค่าขนส่งตามระยะทางจริง และมีการกำหนดมาตรฐานกลางที่เป็นธรรมทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ส่ง ร่วมกัน เช่น ระยะทาง 1-5 กิโลเมตร ต้องคิดค่าส่ง 10 บาท กิโลเมตรต่อไปบวกเพิ่มอีกเท่าไหร่ เป็นต้น หากมีการจัดโปรโมชั่นลดค่าขนส่ง บริษัทควรดำเนินการโดยไม่ส่งผลกระทบต่อค่าตอบแทนของร้านค้าและผู้ส่ง นอกจากนี้ ไม่ควรคิดค่าอาหารแพงกว่าความเป็นจริง โดยราคาอาหารที่แสดงบนแอปพลิเคชันต้องเท่ากับราคาอาหารที่ขายหน้าร้าน ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคด้วย
2. ผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ควรมีนโยบายรักษาความปลอดภัยสุขอนามัยของผู้บริโภค และการบริโภคที่ยั่งยืน โดยการส่งเสริมให้ร้านค้างดใช้ภาชนะโฟมใส่อาหารร้อน เนื่องจากเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการใช้บรรจุภัณฑ์โฟมเพื่อลดการสร้างขยะที่ย่อยสลายยาก โดยทำระบบแอปพลิเคชันให้ผู้บริโภคเลือกร้านค้าที่ใช้ภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือสามารถเลือกรับภาชนะที่ไม่ใช่โฟมได้ เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในการมีอิสระในการเลือกสินค้าและบริการ นอกจากนี้ ควรมีนโยบายควบคุมพนักงานส่งอาหารเลี่ยงการรับและทอนเงินสดในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยผู้ให้บริการควรมีช่องทางการโอนเงินที่ง่ายและสะดวกสำหรับผู้รับบริการ หรือกรณีจ่ายเงินสด พนักงานต้องสวมถุงมือป้องกัน
3. มีระบบรับแจ้งร้องเรียน และการชดเชยเยียวยาผู้บริโภค กรณีได้รับความเสียหายจากการรับส่งอาหาร เช่น ได้รับรายการอาหารไม่ตรงกับที่สั่ง ไม่ได้รับอาหารแต่ถูกตัดเงินจากบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต พนักงานส่งอาหารปฏิเสธรายการระหว่างรออาหาร หรือไม่ได้รับอาหารเนื่องจากเหตุสุดวิสัย โดยขอให้บริษัทฟู้ดเดลิเวอรี่คืนเงินเต็มจำนวนแก่ผู้บริโภคโดยเร็วที่สุดและไม่มีเงื่อนไขใดๆ
4. บริษัทฟู้ดเดลิเวอรี่ ควรมีการฝึกอบรมด้านความปลอดภัย ทั้งพฤติกรรมการขับขี่ การกำหนดอายุผู้ขับขี่ตามที่กฎหมายกำหนด การปฏิบัติตามกฎจราจร การตรวจสอบสภาพรถ การสวมหมวกนิรภัย และมีระบบร้องเรียนหากพบผู้ขับขี่ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร