โรคปอดจากการประกอบอาชีพ

โรคปอดจากการประกอบอาชีพ (Pneumoconiosis) เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการหายใจเอาฝุ่นละอองสารอนินทรีย์  หรือฝุ่นแร่เข้าไปในปอดทำให้เกิดพยาธิสภาพเนื้อพังผืดในลักษณะต่าง ๆ กัน ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของฝุ่น  เช่น ฝุ่นหิน ใยหิน, ฝุ่นฝ้าย,  ฝุ่นถ่านหิน, ฝุ่นแร่เหล็ก  และดินขาว เป็นต้น

ปี พ.ศ. 2548 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคปอดจากการประกอบอาชีพ  จำนวน 137 ราย อัตราป่วย 0.22 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2536 - 2548)  (รูปที่ 1)  และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เท่ากับ 0.28 ต่อประชากรแสนคน  รองลงมาได้แก่  ภาคกลาง  ภาคเหนือ  และภาคใต้  เท่ากับ 0.22, 0.18 และ 0.13 ต่อประชากรแสนคน  (รูปที่ 2)

จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดได้แก่ สมุทรสาคร อัตราป่วย 6.04 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาได้แก่ ลำปาง  ระยอง  อุบลราชธานี  ตราด  ศรีสะเกษ  สระแก้ว  ตรัง  สุราษฎร์ธานี  และอำนาจเจริญ    อัตราป่วยเท่ากับ 2.19, 1.45, 1.41, 0.92, 0.83 0.75, 0.67, 0.64 และ 0.54 ต่อประชากรแสนคน  ตามลำดับ (รูปที่ 3)

พบผู้ป่วย เพศหญิง 50 ราย  เพศชาย  87  ราย  อัตราส่วนเพศหญิง ต่อ เพศชาย  เท่ากับ 1:1.7  พิจารณาตามกลุ่มอายุพบว่า   กลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไป (93 ราย) อัตราป่วยสูงที่สุด เท่ากับ 0.33 ต่อประชากรแสนคน  รองลงมาได้แก่ กลุ่มอายุ 25 - 34 ปี (31 ราย) อัตราป่วย 0.28 ต่อประชากรแสนคน  กลุ่มอายุ  15 - 24 ปี         (13 ราย) อัตราป่วย 0.13 ต่อประชากรแสนคน (รูปที่ 4)   ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีอาชีพเกษตรกรรม 62 ราย     (ร้อยละ 45.26)  รองลงมาได้แก่  อาชีพรับจ้าง 36 ราย (ร้อยละ 26.28)  ผู้ป่วยอาศัยอยู่เขตองค์การบริหารส่วนตำบล ร้อยละ 96.35 ในเขตเทศบาล  ร้อยละ 3.65  ผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากที่สุดคือโรงพยาบาลชุมชน  ร้อยละ 91.97 รองลงมาได้แก่  โรงพยาบาลศูนย์   ร้อยละ 2.92  โรงพยาบาลทั่วไป และสถานีอนามัยเท่ากัน  ร้อยละ 2.19  และคลินิก  โรงพยาบาลเอกชน  ร้อยละ 0.73   ผู้ป่วยทั้งหมดเข้ารับการรักษาประเภทผู้ป่วยนอกร้อยละ  87.59  ผู้ป่วยในร้อยละ  12.41

การจำแนกชนิดฝุ่นของการป่วยในปีนี้  พบว่า เป็นชนิดฝุ่นแร่ 1 ราย  ฝุ่นหิน 17 ราย  ฝุ่นชานอ้อย 10 ราย  ฝุ่นฝ้าย 17 ราย และไม่ทราบชนิด,ไม่ระบุ  92 ราย  การรายงานไม่ทราบชนิดของฝุ่น ร้อยละ 67.15   แต่อย่างไรก็ตามการรายงานชนิดของฝุ่นในปีนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งคาดว่าการรายงานชนิดของฝุ่นจะมีความครบถ้วนมากขึ้น ๆ จนครบร้อยละ 100  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนดำเนินงานด้านสาธารณสุขต่อไป

แร่ใยหิน

ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา   พบว่า มีการนำเข้าแร่ใยหินเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ประมาณ 34 ล้านตัน   โดยอุตสาหกรรมที่ใช้แร่ใยหินมากที่สุดในประเทศไทย คือ ผลิตภัณฑ์สิ่งก่อสร้าง อันได้แก่ กระเบื้องมุงหลังคา   กระเบื้องแผ่นเรียบ  กระเบื้องปูพื้นและท่อน้ำ นอกจากนี้ ยังมีการใช้แร่ใยหินในอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ ในประเทศไทยอีกได้แก่   ผลิตภัณฑ์ซีเมนต์   ผลิตภัณฑ์พลาสติกได้แก่    กระเบื้องปูพื้นไวนิล   กระดาษแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์เส้นใยอัดแน่น   ผลิตภัณฑ์ผ้าเบรกและคลัทช    ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ทำด้วยแร่ใยหิน   ฉนวนกันความร้อนในอาคาร   และใช้เป็นสารยึดใน      ยางมะตอยลาดถนน    เป็นวัตถุดิบในการทำหินเจียร   เป็นต้น  เมื่อแร่ใยหินเข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดโรคหรือพยาธิสภาพต่าง ๆ ได้แก่  โรคปอดแร่ใยหิน ( Asbestosis) โรคมะเร็งปอด  โรคมะเร็งหลอดลม   โรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด(Mesothelioma)    การเกิดหูดใยหินที่ผิวหนัง(Asbestos wart)    การเกิดโรคมะเร็งกล่องเสียง    การเกิดมะเร็งรังไข่และเต้านม   เป็นต้น

จากการตรวจสุขภาพพนักงานประจำปี พ.ศ. 2548 ของบริษัทผลิตกระเบื้องมุงหลังคา   ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่มีการใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์แห่งหนึ่ง   อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่า คนงานจำนวน 14 คน มีผลการตรวจฉายภาพรังสีทรวงอกพบปอดผิดปกติ  มีเยื่อหุ้มปอดหนา (pleural thickening)     ดังนั้นสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม   กรมควบคุมโรค   กระทรวงสาธารณสุข    ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    ทำการสอบสวนภาวะการเกิดเยื่อหุ้มปอดหนาจากการสัมผัสแร่ใยหิน(Asbestos)  อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทราบลักษณะทางระบาดวิทยา     และปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะเยื่อหุ้มปอดหนา  ด้วยวิธีการศึกษาระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์ ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง    ผลการศึกษาพบว่า ปริมาณฝุ่นแร่ใยหิน        มีปริมาณ  0.001  เส้นใย / อากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานประเทศไทย  ไม่เกิน 5  เส้นใย / อากาศ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร)   มีอัตราความชุกของภาวะการเกิดเยื่อหุ้มปอดหนาจากการสัมผัสแร่ใยหิน เท่ากับ ร้อยละ 6.12   (95 % CI เท่ากับ 2.25 - 9.99)โดยพบว่า กลุ่มผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 50 ปี   การศึกษาอยู่ในระดับต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย   มีอายุงานมากกว่า 25 ปี   ไม่มีประวัติมีโรคประจำตัว   ทำงานอยู่ในแผนกฉีกถุงแร่ใยหิน  ผสมแร่ใยหิน หม้อบดแร่ ใยหิน  และปั้นครอบ   มีประวัติสัมผัสแร่ใยหินก่อน พ.ศ. 2533  มีระยะเวลาในการสัมผัสแร่ใยหินมากกว่า 20 ปี และ มีประวัติเคยสูบบุหรี่มากกว่า 20 ปี   

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะการเกิดเยื่อหุ้มปอดหนาจากการสัมผัสแร่ใยหิน(Asbestos) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ประกอบด้วย   การมีประวัติการสัมผัสแร่ใยหินก่อน พ.ศ. 2533(Ors = 50.75, 95%          CI = 6.05 - 425.63)   ระยะเวลาในการสัมผัสแร่ใยหินที่มากกว่า 20 ปี (Ors = 50.75, 95% CI = 6.05 - 425.63)    การเปลี่ยนแผนกงาน(Ors = 9.71, 95% CI = 1.08 - 87.31)   การทำงานในแผนกเก็บ(Ors = 1.30, 95%   CI = 1.09 - 1.54)  แผนกฉีกถุง (Ors = 24.0, 95% CI = 2.20 - 261.16)  แผนกผสม (Ors = 24.0, 95% CI = 2.20-261.16) แผนกหม้อบด(Ors = 15.0, 95% CI = 1.32-169.87) แผนกทำแผ่น (Ors = 1.30, 95%      CI = 1.09 - 1.54) และแผนกปั้นครอบ(Ors = 37.5, 95% CI = 3.45 - 408.06)   สำหรับการสูบบุหรี่ การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ไม่พบมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ดังนั้นบริษัทควรมีการตรวจสุขภาพพนักงานอย่างต่อเนื่อง   กระตุ้นการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแผนกที่มีสิ่งคุกคาม  และควรจัดกิจกรรมให้สุขศึกษาแก่พนักงานทุกคน

 

เอกสารอ้างอิง 

1.  โยธิน  เบญจวัง,  สมชัย  บวรกิตติ.  โรคปอดเหตุอาชีพ.  วารสารเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม  2542 ; 1:536.

2.  คทาวุธ  ดีปรีชา  และคณะ. การสอบสวนภาวะการเกิดเยื่อหุ้มปอดหนาจากการสัมผัสแร่ใยหิน(Asbestos) ณ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช. Asian  Asbestos  Conference  2006.     (26-27 กค.49)

 

ผู้เรียบเรียง: นางวัชรี   แก้วนอกเขา

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน