วุฒิสภาเห็นชอบ (ร่าง) พ.ร.บ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยคะแนน 115 เสียงจาก 120 เสียง‏


(
9 กันยายน 56 ) ผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ขอขอบคุณสมาชิกวุฒิสภาที่เห็นชอบ (ร่าง) พ.ร.บ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ด้วยคะแนน 115 เสียง  ไม่เห็นชอบ (ไม่มี) งดออกเสียง 4 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง จากจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่ประชุม จำนวน 120 คน การพิจารณาเห็นชอบของวุฒิสมาชิกผ่านเรียบร้อย  พร้อมคาดหวังสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นชอบกฎหมายฉบับนี้ ขอขอบคุณไว้ล่วงหน้า จะได้สนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมประกาศไม่เหนื่อยเปล่า ที่ร่วมมือกันผลักดันมา 15 ปี

 

ผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้ร่วมกันผลักดันร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... นับตั้งแต่มีการกำหนดไว้ในมาตรา 57 ในรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2540 และมาตรา 61 ในปัจจุบัน เป็นการผลักดันต่อเนื่องแบบมาราธอน มากว่า 15 ปี โดยได้มีประสบการณ์ในการหารายชื่อ 50,000  รายชื่อ และได้รวบรวม 12,208 รายชื่อในการเสนอกฎหมายฉบับนี้  รวมทั้งมีการรณรงค์ และการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย

ปัจจุบัน กฎหมายฉบับนี้ ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา แต่เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบร่างกฎหมายที่มีการแก้ไขของวุฒิสภา ทำให้มีการตั้งกรรมาธิการร่วมของสองสภาในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้  โดยในวันนี้วุฒิสภา เสียงข้างมากจำนวน 115 เสียงจาก 120 เสียง ได้เห็นชอบร่างพรบ.ฉบับนี้  ต่างมีความหวัง ว่า กฎหมายฉบับนี้เมื่อถูกส่งไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา จะได้รับการเห็นชอบเช่นเดียวกัน

หากทั้งสองสภาเห็นชอบ จะมีการประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการสรรหาจำนวน 9 คน ภายใน 30 วัน และคณะกรรมการสรรหาต้องจัดให้มีคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภายใน 180 วัน

 

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้

นับ เป็นกฎหมายที่ทำให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภค และทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่เป็นจริง มีสิทธิร้องเรียน ได้รับการการเยียวยาความเสียหาย และรวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยกฎหมายมีหลักการและสาระสำคัญหลายประการ เช่น

1)                ความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการจากหน่วยงานรัฐและธุรกิจเอกชน โดยมีการสนับสนุนงบประมาณขององค์การไว้ที่ 3 บาท ต่อหัวประชากร

2)                ให้ความเห็นต่อหน่วยงานรัฐในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

3)                ตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค

4)                เปิดเผยรายชื่อสินค้าหรือบริการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคได้

5)                เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการสามารถส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินคดีได้

6)                สนับสนุนการใช้สิทธิร้องเรียนและการดำเนินคดีของของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน