คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ชี้ ผู้บริโภคยังมีความไม่ปลอดภัย

คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ชี้ ผู้บริโภคยังมีความไม่ปลอดภัยทั้งจากสินค้าและบริการ พร้อมเร่งรัฐบาลและรัฐสภาเร่งผลักดันองค์การอิสระ พร้อมแถลงผลงานคณะกรรมการในรอบ ๖ เดือน

 

21 มิ.ย. 56 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชนจัดแถลงข่าว ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าว มีองค์ประกอบจากนักวิชาการ และองค์กรผู้บริโภค จำนวน ๑๕ คน ได้นำร่องในการทำหน้าที่ให้ความเห็นและกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้ บริโภค ตามเจตนารมณ์ของมาตรา ๖๑ ของรัฐธรรมนูญ

โดยใน ๖ เดือนที่ผ่านมาคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคดังต่อไปนี้

๑. การตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานรัฐ ต่อกรณีความเสียหายของผู้บริโภคกรณี แคลิฟอร์เนียฟิตเนสว้าว เอ็กซ์พีเรียน จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีผู้บริโภคจำนวนมากถูกหลอกให้ซื้อบริการ แต่กลับไม่สามารถใช้บริการดังกล่าวได้ เนื่องจากบริษัทได้ปิดกิจการลงหลายสาขา จนเป็นที่มาของการร้องเรียนกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) , กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.), ธนาคารแห่งประเทศไทย, ศาลล้มละลาย และ กรมบังคับคดี ใน ๓ ประเด็นคือ การฉ้อโกง เข้าข่ายหลอกลวง และทำสัญญาขัดต่อประกาศ สคบ. จนกระทั่งศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์บริษัทแคลิฟอร์เนียฟิตเนสว้าว เอ็กซ์พีเรียน จำกัด (มหาชน) ทำให้ผู้เสียหายสามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้

จาก การตรวจสอบการดำเนินงานกรณี บริษัทแคลิฟอร์เนียฟิตเนสว้าว เอ็กซ์พีเรียน จำกัด (มหาชน) ที่ผ่านมา พบว่า การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐมีความล่าช้า ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ขาดการแจ้งเตือนกับผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายตามมาจำนวนมาก ดังนั้น คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการ

คุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จึงมีความเห็นว่า ๑) ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ให้ปรับปรุงประกาศ ของ สคบ. ว่าด้วยสัญญา เรื่อง ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ.๒๕๕๔ ๒) ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทบทวนการพิจารณารับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากมีข้อมูลใหม่จาก ปปง. ที่พบการโอนย้ายทรัพย์สินไปต่างประเทศจำนวน ๑,๖๙๐ ล้านบาท ๓) ให้ ปคบ. เร่งรัดดำเนินคดีกับผู้ประกอบการและแจ้งไปยัง ปปง. ว่าได้ดำเนินคดีตามความผิดมูลฐานตามมาตรา ๓ (๓) แห่ง พ.ร.บ. การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้ว ขอให้ ปปง. ดำเนินการยีด หรืออายัด ทรัพย์สินผู้ประกอบการ เพื่อเยียวยาความเสียหายต่อผู้บริโภคตามสิทธิผู้บริโภคพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๒๒

๒. คณะกรรมการองค์การอิสระฯ ภาคประชาชน จัดทำความเห็นให้การทางพิเศษยุติการขึ้นค่าผ่านทางและทบทวนการขึ้นราคาโดยมี เหตุผล ๒ ประการ ดังนี้

๑) บริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่มีการดำเนินการเพื่อให้การจราจรบนส่วนต่าง ๆ ของทางด่วนขั้นที่ ๒ ไหลเวียนได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญา

๒) ข้อตกลงในสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ ๒ ระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กับ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด นี้ ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และไม่คำนึงต่อประโยชน์สาธารณะ เมื่อการทางพิเศษจะมีการเปลี่ยนแปลงมาตรการในการขึ้นราคา ควรจะมีการขอความคิดเห็นจากองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตาม เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากยังไม่มีองค์การนี้ในปัจจุบัน ก็ควรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรผู้บริโภคเป็นการทั่วไป

๓. ตรวจสอบกรณีเหตุไฟฟ้าดับ ๑๔ จังหวัดภาคใต้ คณะกรรมการฯ เห็นว่ากรณีนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบไม่อาจสรุปว่าเป็นเรื่องสุดวิสัยได้ โดยมีเหตุผลสำคัญ ๙ ประการ

ได้แก่ ๑) การตรวจสอบขาดความเป็นอิสระจากกระทรวงพลังงาน ๒) การหยุดซ่อมโรงไฟฟ้าพร้อมกันถึง ๒๗ % ของกำลังการผลิต ๓) การอ้างฟ้าผ่าทั้งที่ระบบไฟฟ้ามีสายล่อฟ้าเพื่อป้องกันฟ้าผ่า ๔) ขาดแผนรองรับฉุกเฉินเมื่อเกิดอุบัติเหตุในการซ่อม ๕) ขาดแผนลดการใช้ไฟฟ้าในส่วนที่ไม่มีความจำเป็น ๖) อำนาจในการสั่งตัดไฟฟ้ารวมศูนย์อยู่ที่ กกพ. แต่ผู้ปฏิบัติการไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ๗) สัญญาการแลกไฟฟ้ากับมาเลเซีย ไม่สามารถปฏิบัติจริง โดยอ้างราคาค่าไฟฟ้าที่หน่วยละ ๑๖ บาท ขณะที่ในมาเลเซีย ประมาณ ๔ บาท ๘) ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้เพียงพอ ๙) ขาดการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน

๔. ทำความเห็นให้นายกรัฐมนตรียุติการขึ้นราคาก๊าซ LPG ในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๖ เนื่องจากเห็นว่า รัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลยังไม่ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในกิจการก๊าซธรรมชาติ ดังนี้

๑) เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากธุรกิจปิโตรเคมีในอัตรา ๑๒.๕๕ บาท ต่อ กก. เทียบเท่ากับภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้กองทุนน้ำมันมีเงินเพิ่มขึ้นถึง ๓ หมื่นล้านบาทต่อปี

๒) ปรับลดอัตราค่าผ่านท่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ โดยสามารถปรับลดอัตรากำไรจากร้อยละ ๑๘ สำหรับท่อเก่า มาเป็นร้อยละ ๑.๒ ตามอัตราผลตอบแทนในการลงทุนวางท่อของ ปตท. ในปี ๒๕๕๕

๓) กำหนดราคาเนื้อก๊าซที่จำหน่ายให้กับผู้ซื้อทุกรายเป็นอัตราเดียวกัน มิใช่ให้อภิสิทธิ กับกลุ่มธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง

๕. สนับสนุนความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภคทุกระดับโดยจัดทำแผนยุทธศาสตร์การ คุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่ระดับจังหวัด ภาค และประเทศ ด้วยการมีส่วนร่วมจากประชาชน องค์กรผู้บริโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จากรูปธรรมปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวยังมีสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ อนามัย สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคอีกหลายประการ เช่น ความสับสนและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณภาพความปลอดภัยของข้าวสารถุงที่จำหน่าย ในท้องตลาด ปัญหาคุณภาพของรถยนต์ใหม่ที่ชำรุดบกพร่อง สะท้อนว่าถึงแม้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการองค์การองค์การอิสระเพื่อการคุ้ม ครองผู้บริโภคภาคประชาชน เพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภค สร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้บริโภค และให้ความรู้กับผู้บริโภคทั่วไป แต่เมื่อไม่มีกฎหมาย ก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติต่อหน่วยงาน และไม่สามารถสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้นรัฐบาลควรเร่งออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐ ธรรมนูญ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างให้ภาคธุรกิจเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน