ผู้บริโภคยื่นจดหมายวุฒิสภาเร่งรัดพิจารณา กม.ผู้บริโภค

26 เม.ย.54 14.00 น. รัฐสภา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะผู้แทนองค์กรที่ร่วมเสนอ(ร่าง) พระราชบัญญัติองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ยื่นจดหมายต่อนายนิคม ไวรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ขอให้เร่งรัดการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและสนับสนุนการตั้งกรรมาธิการประชาชนเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายฉบับนี้

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การเพื่อการ คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ....วาระ 2 และ 3 เมื่อวันที่ 20  เมษายน 2554  ที่ผ่านมา และได้นำส่งให้วุฒิสภาดำเนินการพิจารณากลั่นกรอง (ร่าง) พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวนั้น

“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะผู้แทนองค์กรที่ร่วมเสนอ(ร่าง) พระราชบัญญัติองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ด้วยการเข้าชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 11,230 รายชื่อ และได้มีโอกาสร่วมพิจารณากฎหมายในชั้นกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ประธานวุฒิสภาให้ความสำคัญเร่งรัดการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพิจารณากฎหมายตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หวังว่าจะได้มีสัดส่วนของภาคประชาชนจำนวนหนึ่งในสามของคณะกรรมาธิการวิสามัญ” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว

อนึ่งคณะกรรมาธิการภาคประชนมาเพื่อประกอบการพิจารณาแต่งตั้งจำนวน 15 ท่านคือ 1. นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชน เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กรรมการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค 2. นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 3. ศ. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง  อดีตสมาชิกวุฒิสภา 4. รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานกรรมการกำกับกับทิศ แผนงานเครือข่ายเภสัชศาสตร์ร่วมสร้างสุขภาพชุมชน 5. นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานโครงการเข้าถึงยา องค์กรหมอไร้พรหมแดนและแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ 6. นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก 7. นายชัยรัตน์ แสงอรุณ กรรมการสภาทนายความ กรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม 8. รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย 9. ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค 10. นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม 11. ผศ.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ รองผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ 12. นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ 13. . ผศ.กอบชัย ภัทรกุลวณิชย์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 14. คุณดำรง พุฒตาล อดีตประธานคณะอนุกรรมการติดตามการคุ้มครองผู้บริโภควุฒิสภา 15. นางสาวชโลม เกตุจินดา ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้

วันเดียวกันในที่ประชุม คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค โดยนายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการพิจารณา พระราชบัญญัติองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .ว่า มี 2 แนวทางคือ หากภายในวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 นี้ มีการยุบสภากฎหมายก็จะอยู่ในชั้นการพิจารณาของวุฒิสภา และเมื่อได้รัฐบาลใหม่ ก็จะมีการพิจารณาประชุมร่วม 2 สภาฯเพื่อจะนำกฎหมายเข้ามาพิจารณาต่อไป 

"หากสภาฯยังไม่มีการยุบวุฒิสภาก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในแล้วเสร็จภายในวันที่ 20 พฤษภาคม ก่อนปิดสมัยประชุม และจะมีกรรมาธิการส่วนภาคประชาชน 1 ใน 3 ของคณะกรรมาธิการแน่นอน แต่ต้องดูสัดส่วนว่าจะเป็นกี่คน"  นายสมชาย กล่าว

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน