“จุรินทร์” เซ็นดันร่าง กม.คุมเครื่องสำอางฉบับใหม่ เข้า ครม.

“จุรินทร์” ลงนามชงร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอางฉบับใหม่ เข้า ครม.ชี้ เพื่อให้เหมาะสม ทันสมัย เนื้อหาคลุมความปลอดภัย การโฆษณาเกินเว่อร์ พร้อมสอดคล้องกับกลุ่มประเทศอาเซียน หนุนศักยภาพอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยสู่ตลาดโลก

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามหนังสือเสนอร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการเครื่องสำอาง และรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เห็นชอบกับการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยได้ใช้พระราชบัญญัติเครื่องสำอางเป็นแม่บทในการกำกับดูแล เครื่องสำอางที่ผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่าย ตั้งแต่ พ.ศ.2535 มาจนถึงปัจจุบันรวมแล้ว 17 ปี บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ และกลไกการผลิตได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งเทคโนโลยีและการแข่งขันทางการค้า จึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัย และสอดรับการเขตการค้าเสรีอาเซียน เพื่อใช้ในการกำกับดูแลเครื่องสำอางในอาเซียนเป็นมาตรฐานเดียวกันตามบท บัญญัติเครื่องสำอางแห่งอาเซียน (ASEAN Cosmetic Directive) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.2551 เป็นต้นมา

“ร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอางฉบับใหม่นี้ นอกจากจะสามารถคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ขณะเดียวกัน ก็สนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย ให้มีศักยภาพในระดับสากล สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ขณะนี้มีผู้ประกอบธุรกิจเครื่องสำอางจำนวนมาก ยื่นขอจดทะเบียนที่ อย.ประมาณ 40,000 เรื่อง” โฆษก สธ.กล่าว

นพ.สุพรรณ กล่าวอีกว่า สำหรับในร่างกฎหมายเครื่องสำอางฉบับใหม่ ได้ปรับปรุงสาระสำคัญเช่น 1. ปรับนิยามเครื่องสำอางให้มีความชัดเจนครอบคลุมตามหลักสากลและเพิ่มเติมนิยาม ศัพท์ ได้แก่ สารสำคัญ ผู้รับจดแจ้ง ผู้ประกอบธุรกิจ ข้อความ โฆษณา สื่อโฆษณา หน่วยงานของรัฐ ด่านอาหารและยา 2.เพิ่มมาตรการกำกับดูแลเครื่องสำอาง โดยกำหนดให้ผู้ประสงค์จะผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางทุกประเภท ต้องแจ้งรายละเอียดของเครื่องสำอางต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนผลิต/นำเข้า ปรับจากเดิมที่เครื่องสำอางบางประเภทเท่านั้นที่ต้องขึ้นทะเบียนตำรับและบาง ประเภทต้องจดแจ้ง

3.เพิ่มมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค โดยปรับเพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับภาชนะบรรจุหลักเกณฑ์วิธีการผลิต วิธีการนำเข้าหรือวิธีการเก็บรักษา วิธีการรายงานอาการที่ไม่พึงประสงค์ ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งผู้ผลิตหรือนำเข้า เพื่อขาย ต้องจัดให้มีไว้เพื่อการตรวจสอบ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค 4.ปรับปรุงบทบัญญัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการโฆษณา กำหนดให้การโฆษณาเครื่องสำอาง จะต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค

5.ปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อหรือส่งเสริมการส่งออก และเพิ่มโอกาสให้องค์กร ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลมากขึ้น โดยมีทั้งหมด 10 หมวด 85 มาตรา มีบทลงโทษเช่น กรณีขายเครื่องสำอางโดยไม่มีฉลากภาษาไทย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท เป็นต้น


ข้อมูล - ภาพจาก  ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 กุมภาพันธ์ 2554 11:44 น.

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน