บริการสุขภาพ

เปิดเวที 3 ฝ่าย ถกค่ารักษาป่วยฉุกเฉินที่เหมาะสม

preeyanan“ปรียนันท์” แจงตอบไม่ได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่กับข้อเสนอของ สพฉ.ที่ให้จ่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินแบบ Fee schedule เหตุไม่เคยได้เข้าร่วมพิจารณา ไม่ทราบรายละเอียด แนะเปิดเวที 3 ฝ่าย ถกกันถึงความเหมาะสมเรื่องค่ารักษา กังวลจะเกิดปัญหาค่าใช้จ่ายการรักษาบานปลายมากไปอีก ด้านรายงานความคืบหน้า หลัง สพฉ.ของบ 1 พันล้านจาก ครม.เพื่อทำหน้าที่เคลียริ่งเฮาส์เจ็บป่วยฉุกเฉินแทน สปสช.แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้าของ “ร่างระบบบริการและการกำหนดราคาค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉินภายใต้นโยบาย“ เจ็บ ป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” โดยกำหนดอัตราจ่ายตาม Fee schedule ซึ่งเป็นร่างที่ สพฉ.เสนอโดยใช้ข้อมูลจากกรมบัญชีกลางขอให้สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลัก ประกันสุขภาพไทย (สวปก.) จัดทำขึ้นเพื่อชดเชยค่ารักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ป่วยฉุก เฉินระดับมาก (สีแดง) ซึ่งครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล รวมไปถึงค่าห้อง ค่าอาหาร แต่ผู้ป่วยที่จะได้รับสิทธิจะต้องผ่านการประเมินโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน แห่งชาติ (สพฉ.) ก่อน  ซึ่งร่างนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชุมคณะ กรรมการการแพทย์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา และให้ สพฉ. กลับไปทบทวนมาใหม่นั้น

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในส่วนของอัตราการจ่ายตาม Fee schedule นั้น ภาคประชาชนไม่เคยได้เข้าร่วมพิจารณา จึงตอบไม่ได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพราะไม่รู้ว่าโครงสร้างค่าใช้จ่ายมีอะไรบ้างและเอาตัวเลขมาจากไหน ส่วนเรื่องการเข้ามาเป็นหน่วยงานกลางในการจัดการค่าใช้จ่าย (clearing house) ระหว่าง สปสช.กับ สพฉ.นั้น ตนเห็นว่าหน่วยงานใดจะเข้ามาทำหน้าที่นี้ก็คงไม่ต่างกัน เพราะเข้าใจว่าจะจ้างบริษัทประกันมาทำหน้าที่พิจารณาเงื่อนไขแบบเดียวกับการ เคลมประกัน เพื่อให้เป็นคนกลาง

“เพื่อให้เรื่องนี้เป็นที่ยุติ ภาคประชาชนขอเสนอให้จัดเวทีเปิดให้ 3 ฝ่าย คือ 1.ฝ่ายผู้จ่ายเงินกองทุนต่างๆ คือ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และ สปสช. 2.ฝ่ายสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และ 3.นักวิชาการกลาง สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และตัวแทนภาคประชาชน มาถกกันอย่างเปิดเผยถึงความเหมาะสม เพราะขณะนี้ตัวเลขที่ สพฉ.เสนอนั้น ไม่มีอะไรมาบอกว่าได้เหมาะสมอย่างไร ภาคประชาชนจึงห่วงว่าจะนำมาซึ่งการบานปลายของค่ารักษาในอนาคต และหาข้อยุติไม่ได้เนื่องจากไม่ได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียครบ ทุกภาคส่วน” นางปรียนันท์ กล่าว

ส่วนกรณีที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จะเข้ามารับหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายและระบบ ข้อมูลบริการสาธารณสุข (National Clearing House) ตามโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ทำหน้าที่นี้ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 มีนาคม 2556 และ สพฉ. ได้ของบประมาณจากคณะรัฐมนตรี 1,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามโครงการดังกล่าวแต่ไม่ได้รับการตอบสนองจาก ครม. นั้น 

แหล่งข่าวในวงการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะ สพฉ. ไม่ควรเป็นผู้ดำเนินการ clearing house เนื่องจากไม่มีความพร้อม ไม่มีงบประมาณ และไม่มีแม้แต่คนที่จะมาทำหน้าที่นี้ ในขณะที่ สปสช. ซึ่งทำเรื่องนี้มานานตามมติ ครม.นั้น มีความเชี่ยวชาญและชำนาญอยู่แล้ว ก็ควรจะปล่อยให้ สปสช. ทำงานต่อไป ส่วน สพฉ. ต้องทำหน้าที่วินิจฉัยกรณีการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ว่าเป็นฉุกเฉินระดับใด  (สีแดง =มาก สีเหลือง=ปานกลาง หรือ สีเขียว=ฉุกเฉินแต่รอได้)  ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของหน่วยงานมากกว่า.

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน