บริการสุขภาพ

จับตา สธ.เร่งแก้ไขกฎหมายบัตรทอง อ้างรองนายกฯอนุมัติให้เข้าครม.แล้ว กลุ่มคนรักหลักประกันฯ เตรียมเคลื่อน ค้านแยกเงินเดือน เพิ่มคกก.วิชาชีพ และฮุบซื้อยา

601002 news
จากกรณีที่ตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงความคืบหน้าในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าได้รับอนุมัติจาก พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว กลุ่มคนรักหลักฯ ชี้ประเด็นขัดแย้งยังอยู่ ครม.อย่าเพิ่งเร่งพิจารณา ขอเข้าพบรองนายกฯ เพื่อให้ข้อมูลร่วมกันพิจารณาอย่างรอบด้านและแสดงจุดยืน ค้านแยกเงินเดือน และกลไกใหม่ในการจัดซื้อยารวม



นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีประเด็นที่ขัดแย้งหลายเรื่อง และถูกทักท้วงทั้งจากภาคประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้ รวมทั้งกรรมการร่างกฎหมายเสียงส่วนน้อย ทั้งที่ขอสงวนความเห็นและไม่เห็นด้วยหลายประการ จึงต้องรับฟังและตัดสินใจบนฐานของข้อมูล

“ตามที่รองนายกฯณรงค์ได้ขอคำชี้แจงเพิ่มเติมจาก สธ. หากรัฐบาลมีเจตนาต้องการเห็นระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นระบบสวัสดิการเพื่อคนไทยอย่างถ้วนหน้าและเท่าเทียม ต้องวิเคราะห์ให้ละเอียดรอบคอบ เพราะการแก้ครั้งนี้จะส่งผลต่อพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ” นายนิมิตร์กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการของร่างกฎหมายฉบับแก้ไข เห็นชัดว่าไม่ได้แก้เพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคน ลดความเหลื่อมล้ำ เกิดการหลอมรวมให้เป็นระบบเดียวตามมาตรา 9 และมาตรา 10 ของกฎหมายฉบับเดิม

“อย่างกรณีการจัดซื้อยารวมในจำนวน 4.9% ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ดำเนินการมากว่า 10 ปี สร้างระบบไว้ได้ดี ที่สำคัญเป็นการจัดซื้อเพียงยาจำเป็นที่ต้องต่อรองราคาเพื่อทำให้ยาถูกลง ครอบคลุมคนมากขึ้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องการความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ มีระบบข้อมูลจำนวนความต้องการใช้ที่ชัดเจน รวมทั้งระบบการกระจายยา ที่คำนึงถึงทั้งผู้ให้บริการและผู้ป่วย แต่พอมีการทักท้วงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เรื่องอำนาจการจัดซื้อของ สปสช. แทนที่จะแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับการปฏิบัติที่ทำมาดีอยู่แล้ว กลับไปสร้างเงื่อนไขหาวิธีอื่นมาทำแทน ซึ่งยังไม่รู้ว่าถูกกฎหมายตามที่อ้างกันหรือไม่ พอยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง เหมือนลิงแก้แห จึงควรกลับมาพิจารณาให้ สปสช. จัดซื้อยารวมโดยมีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน หากจะทำให้ไม่ยุ่งยาก ควรเพิ่มอำนาจในกฎหมายให้ สปสช.จ่ายค่าตอบแทนให้หน่วยบริการเป็นเงิน หรือจ่ายเป็นยาหรือเวชภัณฑ์ได้ ฉะนั้นรองนายกฯควรเปิดรับฟังความเห็นต่างจากภาคประชาชนด้วย” นายนิมิตร์กล่าว

ด้าน นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักฯ และตัวแทนกรรมการร่างกฎหมาย กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับสุดท้ายนี้ ยังมีหลายเรื่องที่ภาคประชาชน ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยในกรรมการไม่เห็นด้วย เช่น เรื่องการแยกเงินเดือนของบุคลากรของโรงพยาบาลรัฐออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งกรณีนี้มีข้อทักท้วงมากมายจากโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่ง โดยเฉพาะในแถบพื้นที่ห่างไกล อย่างภาคอีสาน ที่จะส่งผลต่องบประมาณและจำนวนบุคลากรในการให้บริการแก่ประชาชน ทั้งนี้ การแยกเงินเดือนจะดีต่อโรงพยาบาลขนาดใหญ่ใกล้เมือง และโรงพยาบาลขนาดเล็กใกล้ กทม. ซึ่งจะทำให้เงิน และคนทำงานกระจุกตัว ในขณะที่พื้นที่ที่ต้องการคนทำงานเพิ่มกลับขาดแคลน ซึ่งที่ผ่านมา ตัวแทน สธ.ไม่เคยใช้ข้อมูลกำลังคนในการพิจารณาเลย

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ยืนยันว่า ขณะนี้เกิดความปั่นป่วนในระดับพื้นที่ เภสัชกรหลายโรงพยาบาลยังไม่รู้ความชัดเจนของระบบใหม่ ที่ให้โรงพยาบาลราชวิถีดำเนินการจัดซื้อยาแทน และยังมีคำสั่งจาก สธ.ไปยังโรงพยาบาลให้ทำข้อมูลจำนวนผู้ป่วย จำนวนคนใช้ยา ซึ่งข้อมูลพวกนี้มีอยู่แล้วในระบบที่ สปสช.จัดทำขึ้น ทำให้คนทำงานไม่มั่นใจว่าระบบจะมียาให้ผู้ป่วยเพียงพอหรือไม่ ซึ่งคนทำงานที่อยู่หน้างานจำเป็นต้องวางแผน จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์เฉลี่ยยาให้ผู้ป่วย เพื่อจ่ายยาให้ได้ครอบคลุมทุกคนให้ได้นานที่สุด โรงพยาบาลจึงจ่ายยาจากครั้งละ 3 เดือนเป็น 1 เดือน หรือ 2 อาทิตย์บ้าง

“ที่เราออกมาพูดแบบนี้ไม่ได้ตีตนไปก่อนไข้ ไม่ได้ดราม่า ไม่ได้โจมตีใคร แต่กำลังจะบอกว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต้องยอมรับความจริงว่าระบบใหม่มันยังมีปัญหา โดยเฉพาะช่วงของรอยต่อของการสั่งซื้อยาระหว่างปี 2560 และปี 2561 ซึ่งประชาชนจะรู้ไหมว่าแก้ไขกันได้ไม่ได้ หากท่านยืนยันว่าไม่มีปัญหาก็ออกมาอธิบายให้ผู้ป่วยรู้ว่าตอนนี้ระบบเป็นอย่างไร” นายอภิวัฒน์กล่าวและว่า “ผมอยากสื่อสารถึงผู้ติดเชื้อฯ ทุกคนที่กำลังกินยาต้านฯ อยู่ว่า โรงพยาบาลทุกแห่งมีระบบสำรองยาต้านฯ จนถึงปลายปีนี้ ถ้าผู้ติดเชื้อฯ คนใดมีปัญหา ไม่ได้รับยา ให้ประสานงานมาที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯที่เบอร์โทร 0-2377-5065 ได้

ทั้งนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพขอเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีชะลอการพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายบัตรทองไว้ จนกว่าจะได้ข้อยุติในเชิงวิชาการโดยเฉพาะเรื่องการแยกเงินเดือนจากค่าเหมาจ่ายรายหัว และการเสียสมดุลของคณะกรรมการ และให้ รองนายกฯ เปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชน ผู้แทนโรงพยาบาลชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการชี้แจง และอธิบายต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ร่วมกับ สธ.ด้วย มิเช่นนั้นทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพทั่วประเทศจะต้องพิจารณาเลือกการเคลื่อนไหวพร้อมกันเพื่อคัดค้านการลักไก่พิจารณาแก้กฎหมายเช่นนี้

พิมพ์ อีเมล