บริการสุขภาพ

บอร์ด สปสช.เตรียมหารือขยาย ม.41 หลักประกันสุขภาพฯ

บอร์ด สปสช.เตรียมหารือแนวทางขยาย ม.41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ 13 ก.ย.นี้ ด้าน คปส.ออกแถลงการณ์ จี้ รัฐบาลทำประชาพิจารณ์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ป่วย วอน สตง.ตรวจสอบการใช้งบเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบฯ ของ สปสช.ย้อนหลัง 8 ปี พร้อมเดินหน้าชี้แจง รพ.ต่างๆ ทำความเข้าใจเรื่องเงินกองทุน

วันนี้ (3 ก.ย.) นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่มีแพทย์กลุ่มหนึ่งเรียกร้องให้มีการขยายมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อให้ครอบคลุมสิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ นอกเหนือจากสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง แทนการผลักดัน พ.ร.บ.คุ้ทครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ..... ว่า วัน ที่ 13 ก.ย.คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จะประชุมหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า สามารถขยายมาตรา 41 ให้ครอบคลุมในทุกระบบหรือไม่ ทั้งนี้ โดยหลักการแล้ว หากขยายกฎหมายก็หมายความว่า ต้องมีการแก้กฎหมาย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับนับหนึ่งใหม่ เหมือนกับต้องร่างกฎหมายอีกฉบับ ซึ่งไม่แตกต่างจากร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฉบับปัจจุบันที่หมอคัดค้าน ทั้งนี้ ในการตัดสินใจของบอร์ด สปสช.นั้นต้องอิงความถูกต้องหลักกฎหมายในการพิจารณาร่วมด้วย

ด้านนพ.มงคล ณ สงขลา ประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองฯ ถือเป็นฉบับที่ดีกว่ามาตรา 41 เพราะครอบคลุมประชาชนทุกคนทุกสิทธิ ทั้งสิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ การจะขยายมาตรา 41 จะเป็นการผิดหลักการของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มุ่งเน้นเพียงดูแลประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองเพียงอย่างเดียว การจะมาคลุมอีก 2 ระบบนั้น จึงไม่ใช่หลักการที่ควรจะเป็น เพราะอย่าลืมว่าแต่ละระบบมี พ.ร.บ.ในการดูแลผู้ป่วยสิทธิขอตนอยู่แล้ว และหากต้องการให้ขยายจริงๆ ก็ต้องจัดทำเป็นกองทุนเดียว ซึ่งนั้นจะยิ่งเป็นปัญหาใหญ่กว่าเดิม ซึ่งบางคนกังวลว่าจะมีการโกงกินกันในกองทุนใหม่นี้ หากกังวลก็เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการดูแลกองทุนได้

ขณะที่ นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ ผู้ ประสานงานเครือข่ายคุ้มครองประชาชนด้านสาธารณสุข (คปส.) กล่าวถึงความคืบหน้าของการดำเนินการคัดค้าน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ... ว่า จาก การที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น เป็นเหมือนการกระทำเพื่อบีบบังคับกับประชาชนที่ใช้บริการสาธารณสุข ทุกชนิด ทุกกรณี และใช้บังคับกับสถานบริการสาธารณสุขทุกประเภทโดยไม่มีการทำประชาพิจารณ์ ดังนั้น ทาง คปส.จึงได้ดำเนินการคัดค้านมาโดยตลอด เนื่องจากมองว่าหาก พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้จะเป็นการสร้างภาระระบบการคลังอย่างมหาศาล ทั้งๆ ที่ขณะนี้รัฐมีงบประมาณด้านการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบริการ สาธารณสุขตามมาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ถึงปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท หากรวม 8 ปีแล้วจะสามารถใช้เพื่อการเยียวยาฯที่สมควรได้รับถึงราว 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ที่ต้องดำเนินการดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างถูกต้อง โดยสปสช.จะต้องบริหารงบประมาณ และเยียวยาประชาชนอย่างเหมาะสมไม่ใช่นำเงินกองทุนไปใช้อย่างอื่นที่ไม่เป็น ไปตามกฎหมาย

นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าวต่อว่า ทาง คปส.และได้ทำแถลงการณ์ฉบับที่ 7/2553 ลงวันที่ 2 ก.ย.เพื่อเตรียมชี้แจงและขอให้ภาครัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ที่เสนอและผลักดันให้เกิดร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการเข้ารับบริการสาธารณสุข พ.ศ..... รับผิดชอบใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ให้รับผิดชอบเร่งรัด แก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากระบบริการสาธารณสุขซึ่ง รัฐบาลและสปสช.ยอมรับว่ามีงบสำหรับเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายตามมาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ 2545 กำลังจำนำเข้าประชุมบอร์ด สปสช.2 ขอให้รัฐบาลและ สธ.จัดทำประชาพิจารณ์/รับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯให้ถูกต้องตามกฎหมาย 3.ขอให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบการใช้งบประมาณมาตรา 41 ของ สปสช.ซึ่งหักค่าใช้จ่ายแล้วมีส่วนที่ค้างและไม่จ่ายให้ประชาชนว่าเงินกว่า หมื่นล้านใน 8 ปีหายไปไหน รวมทั้งดำเนินการแก้ไขที่ สปสช.ทำผิดเกี่ยวกับเงินซึ่งเป็นงบประมาณของแผ่นดินด้วย

ผู้ประสานงาน คปส.กล่าวเพิ่มว่า สำหรับข้อเสนอดังกล่าวนั้น ทาง คปส.จะร่วมมือกับสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศ ไทยเริ่มดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจกับบุคลากรในสถานพยาบาลต่างๆเกี่ยวกับ ข้อเสนอดังกล่าว รวมทั้งเรื่องของเงินทุนท่ใช้สำหรับเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการรับบริการ สาธารณสุขด้วย

“เราจะเริ่มจากการลงพื้นที่ในวันที่ 3 กันยายน ที่โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา, วันที่ 7 กันยายน ที่โรงพยาบาลราชวิถี, 8 กันยายน ที่ โรงพยาบาลเจ้าพระยมราช จังหวัดสุพรรณบุรี 10 กันยายน ที่ โรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา 16 กันยายน ที่ โรงพยาบาลโพธาราม นอกจากนี้ ยังมีโรงพยาบาลอื่นๆ ที่ขอให้ คปส.ได้ไปชี้แจงเรื่องดังกล่าวเพิ่มด้วย อาทิ โรงพยาบาลสระบุรี และโรงพยาบาลชัยภูมิ เป็นต้น ซึ่งทาง คปส.และสหพันธ์ก็จะเร่งดำเนินการดังกล่าวโดยเร็ว” นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าว

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 4 กันยายน 2553

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน