บริการสุขภาพ

สธ.ออกกฎคุมมาตรฐานฝังเข็มรักษาโรค

สธ.หนุน "ฝังเข็ม" รักษาโรค ออกกฎคุมมาตรฐาน "แพทย์จีน" เริ่มใช้ 21 ต.ค.

นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข กล่าวในงานประชุมวิชาการการแพทย์ไทย-จีน ครั้งที่ 3 ถึงการรักษาโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุข ด้วยศาสตร์การฝังเข็ม ว่า การฝังเข็มซึ่งใช้ในประเทศจีนมากว่า 2,000 ปี เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ว่า สามารถนำมารักษาโรคต่างๆ จำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสนับสนุนการฝังเข็มมาใช้ร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบัน เนื่องจากต้นทุนในการรักษาต่ำ ใช้เพียงเข็มและอุปกรณ์อื่นอีกเล็กน้อย สะดวกรักษาได้ทุกที่ และช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ

ขณะนี้ มี รพ.รัฐและเอกชนเปิดให้บริการฝังเข็มแล้วใน 50 จังหวัด ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับศาสตร์การฝังเข็ม ว่า สามารถใช้รักษาโรคต่างๆ ที่มีผลงานวิจัยรองรับ 28 โรค อาทิเช่น อาการปวดเข่า ปวดหลัง ปวดต้นคอ ปวดข้อ ไมเกรน ภาวะซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมอง และกำลังทำการศึกษาวิจัยการใช้การฝังเข็มรักษาโรคอื่นๆ เพิ่มอีกเกือบ 100 โรค อาทิเช่น การรักษาสิว อาการปวดจากมะเร็ง โรคนิ่วในถุงน้ำดี การมีบุตรยากในสตรี โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในชาย โรคเกาต์ โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน การติดบุหรี่ ติดยาเสพติด โรคต่อมลูกหมากเรื้อรัง ซึ่งหากสำเร็จจะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาการเจ็บป่วยของประชาชนได้มาก

นายมานิต กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ได้มีการออกกฎหมายกำหนดให้การแพทย์แผนจีนเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ สาขาที่ 9 ตาม พ.ร.บ.ประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ซึ่งประกอบด้วย การนวดแผนจีน การฝังเข็มและการจับชีพจรและรักษาด้วยสมุนไพร หรือที่รู้จักกันว่า "หมอแมะ" ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2552 และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. 2552 เป็นต้นไป ผู้ที่ประกอบวิชาชีพทุกคน จะต้องมีความรู้และสอบใบประกอบโรคศิลปะตามหลักเกณฑ์

รศ.พญ.วัณณศรี สินธุภัค คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาผลการรักษาริ้วรอยบนใบหน้าด้วยวิธีฝังเข็มในอาสาสมัครอายุ 35-60 ปี จำนวน 30 คน พบว่า การฝังเข็มที่รอยย่น รอยตีนกา บริเวณหางตา บริเวณระหว่างหัวคิ้ว 2 ข้าง และหน้าผาก ติดต่อกันเป็นเวลา 5 สัปดาห์ๆ ละ 2 ครั้งๆ ละ 15-30 นาที พบว่าสามารถลดริ้วรอยลงได้ แต่ในสัปดาห์ที่ 8-12 ริ้วรอยที่ลดลงนั้นเริ่มกลับมาอีก ดังนั้น ชี้ให้เห็นว่าการฝังเข็มสามารถลดริ้วรอยลงได้ก็จริงแต่ไม่ถาวร ซึ่งริ้วรอยบนใบหน้านั้นเกิดจากอายุที่มากขึ้น รวมทั้งการตากแดด สูบบุหรี่ หัวเราะมากจนเกินไปหรือยิ้มมากจนเกินไป อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ริ้วรอยเป็นมานาน ลึกมาก เป็นกล้ามเนื้อ อาทิเช่น บริเวณแก้ม คงจะไม่สามารถลดริ้วรอยลงได้

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 08 / 09 / 52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน