'ฉลาดซื้อ' เผยผลทดสอบ ‘สารกันบูด - ปริมาณไขมัน’ ในน้ำสลัดครีม แนะควรเลือกแบบไขมันต่ำเพื่อไม่ให้ได้รับไขมันเกิน

news pic 06102020 saladdressing 2ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลตรวจวิเคราะห์สารกันบูดและปริมาณไขมันในสลัดครีม 17 ตัวอย่าง พบสารกันบูดเกินเกณฑ์มาตรฐาน 1 ตัวอย่าง และมีการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากผลิตภัณฑ์ทุกยี่ห้อ แนะผู้บริโภคอ่านข้อมูลการใช้วัตถุกันเสีย ปริมาณโซเดียมและไขมัน ฉลาดซื้อแนะควรดูปริมาณไขมันก่อนรับประทาน

           วันนี้ (6 ตุลาคม 2563) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบปริมาณวัตถุกันเสีย และปริมาณไขมัน ในผลิตภัณฑ์สลัดครีม 17 ตัวอย่าง ที่สุ่มเก็บจากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าทั่วไปในกรุงเทพมหานคร จากผลตรวจปริมาณไขมันในผลิตภัณฑ์สลัดครีม พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่มีปริมาณไขมันทั้งหมดน้อยที่สุด (ต่อน้ำสลัด 100 กรัม) ได้แก่ อเมริกัน คลาสสิค แรนส์ น้ำสลัด (American Classic Ranch) ตรวจพบปริมาณไขมันทั้งหมด เท่ากับ 2.34 กรัม ต่อน้ำสลัด 100 กรัม และ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่มีปริมาณไขมันทั้งหมดมากที่สุด (ต่อน้ำสลัด 100 กรัม) ได้แก่ สลัดครีม คิวพี ตรวจพบปริมาณไขมันทั้งหมด เท่ากับ 48.33 กรัม ต่อน้ำสลัด 100 กรัม

            ในขณะเดียวกัน มีผลิตภัณฑ์สลัดครีม 1 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก รวมกันเกินเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ อเมริกัน คลาสสิค แรนส์ น้ำสลัด (American Classic Ranch) ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก เท่ากับ 664.14  มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ ปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ 569.47 มิลลิกรัม/กิโลกรัม รวมปริมาณวัตถุกันเสียทั้งสองชนิด เท่ากับ 1,233.61 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งเกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) ได้กำหนดในบัญชีแนบท้ายประกาศฯ อนุญาตให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic acid) ชนิดละไม่เกิน 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในหมวดอาหารประเภทซอสและผลิตภัณฑ์ทำนองเดียวกัน

            อย่างไรก็ตาม หากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารที่มีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่เป็นตัวเลขในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป จะต้องมีผลรวมของสัดส่วนของปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหารต่อปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดไม่เกินหนึ่ง

            น้ำสลัดสูตรดั้งเดิมรวมถึงที่ปรับเป็นสไตล์ญี่ปุ่นจะมีความอร่อย ทั้งเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม สูตรดั้งเดิมจึงมีไขมันในปริมาณสูง ทั้งนี้ การบริโภคสูตรที่มีปริมาณไขมันสูงที่สุดคราวหนึ่งจะได้รับไขมันถึงประมาณ 15 กรัม คิดร้อยละ 69 ของไขมันที่ควรกินไม่เกินในมื้อนั้น ซึ่งก็คงต้องระมัดระวังไขมันจากอาหารอื่นในมื้อนั้นไม่ให้สูงมาก ดังนั้น การเลือกกินสูตรที่ปริมาณไขมันต่ำกว่า ย่อมให้โอกาสกินอาหารอย่างอื่นได้มากขึ้น อย่างไรก้ตาม บนฉลากน้ำสลัดส่วนใหญ่ระบุว่าใช้น้ำมันถั่วเหลืองทำให้ตัดข้อกังวลเรื่องไขมันอิ่มตัวที่อาจได้รับมากเกินไปได้

            ทั้งนี้ การเลือกผลิตภัณฑ์ประเภทสลัดครีม นอกจากรสชาติที่ชื่นชอบแล้ว ผู้บริโภคอาจพิจารณาข้อมูลบนฉลากเพิ่มเติม เช่น ปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ ข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียว่ามีการใช้วัตถุกันเสียหรือไม่ หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้วัตถุกันเสียเลย เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ ซึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงที่แนะนำของน้ำสลัดประเภทต่างๆ อยู่ที่ 30 กรัม โดยผู้บริโภคสามารถอ่านผลทดสอบฉบับเต็ม
            ได้ที่ เว็บไซต์นิตยสารฉลาดซื้อ https://www.chaladsue.com/article/3452

news pic 06102020 saladdressing fat

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, นิตยสารฉลาดซื้อ, สารกันบูด, กรดเบนโซอิก, กรดซอร์บิก, น้ำสลัดครีม, สลัด, สลัดครีม, สุขภาพ

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน