ชี้ยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาของไทยเอาใจอเมริกา

ผู้รายงานพิเศษแห่งยูเอ็นฯ จับตายุทธศาสตร์ทรัพย์สินปัญญาของไทย หวั่นกระทบต่อสิทธิด้านสุขภาพ ชี้รายงานระบุชัด "ทำเอาใจอเมริกา"

 

จากกรณีภาคประชาสังคมไทยติดตามและ รณรงค์เพื่อให้เกิดการเข้าถึงยาได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อขอให้ทบทวนโดยใช้สิทธิตามมาตรา 11 ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ เพื่อขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติทบทวนยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ และแผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา เพราะมีเนื้อหาหลายส่วนขัดกับยุทธศาสตร์เข้าถึงยาถ้วนหน้า ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อนหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม เมื่อทางกลุ่มฯได้แถลงข่าวออกไป สื่อไทยและสื่อต่างประเทศให้ความสนใจประเด็นนี้และติดตามรายงานข่าวอย่างมาก

ล่าสุด ภาคประชาสังคมไทยได้รับการติดต่อจากทีมงานของนายอนันด์ โกรเวอร์ (Anand Grover) ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิในสุขภาพ (UN Special Rapporteur on the right to health) ขอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อติดตาม ตรวจสอบว่า ยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาฯ และแผนเร่งรัดปราบปรามดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสิทธิทางสุขภาพของประชาชนหรือไม่

ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ยังเปิดเผยต่อว่า จากรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ครั้งที่ 3/2522 ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ระบุอย่างชัดเจนว่า แผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานั้น ทำขึ้นเพื่อให้ สหรัฐฯถอดไทยออกจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองพิเศษ (PWL)

"ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์พยายามปฏิเสธมาตลอดว่า แผนนี้ไม่ใช่ Plan of Action ที่ไปรับปาก USTR มา แต่รายงานการประชุมครั้งนี้ มันชัดมากว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาทำ แผนเร่งรัดฯนี้เพื่อเอาใจอเมริกา โดยไม่สนใจว่า ผลของแผนจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและการเข้าถึงความรู้ของประชาชนอย่างไร บ้าง เป็นเรื่องน่าผิดหวังอย่างยิ่ง ทั้งที่เรื่องนี้เป็นนโยบายสาธารณะของประเทศ ควรจะมีกระบวนการจัดทำนโยบายที่ชัดเจน โปร่งใส ศึกษาถึงผลดีผลเสียของแผนเร่งรัดฯ และรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางขวางและรอบด้าน ไม่ใช่อเมริกาสั่งอะไร ก็เดินตามก้นไปทั้งหมด โดยไม่สนใจว่าจะสร้างผลกระทบอะไรบ้าง
แต่สิ่งที่น่าตกใจที่สุด คือ แผนด้านความร่วมมือกับภาคเอกชน ที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาแจ้ง ต่อที่ประชุมว่า หมายความรวมถึงการหารือกับเอกชนเจ้าของสิทธิบัตรในกรณีการบังคับใช้สิทธิ บัตรยาด้วย ทั้งๆที่ ตาม พรบ.สิทธิบัตร และตามความตกลงทริปส์ไม่ได้บังคับไว้ หากการบังคับใช้สิทธินั้นๆเป็นการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ดังนั้น ภาคประชาสังคมไทย กำลังพิจารณาอาจจะทำเรื่องร้องเรียนไปยังผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้าน สิทธิในสุขภาพ" ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าว

ภาคประชาสังคมที่ร่วมลงนามในหนังสือถึง นายกรัฐมนตรีประกอบไปด้วย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิเภสัชชนบท, มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิด้านเอดส์, คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิสุขภาพไทย และ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)


ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ (UN Special Rapporter) เป็นกลไกที่ถูกก่อตั้งโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในการตรวจสอบ ติดตาม ให้ข้อแนะนำ และเผยแพร่รายงานกรณีสิทธิมนุษยชน โดยปัจจุบันนี้มีผู้รายงานพิเศษจำนวน 38 ตำแหน่ง ประกอบไปด้วยผู้รายงานพิเศษติดตามสถานการณ์ในประเทศ (Country-specific Special Procedures) 10 ประเทศ และ ผู้รายงานพิเศษติดตามสถานการณ์ตามประเด็น (Thematic-specific Special Procedures) 28 ประเด็น นายอนันด์ โกรเวอร์ (Anand Grover) ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงมากในอินเดีย ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้ ตั้งแต่เมื่อปี 2551


นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 กันยายน 2552

 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน