ข่าว/บทความรถโดยสาร

สั่งม.44 เพิ่มมาตรการความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ

600620 newslawcar

ประกาศราชกิจจาฯ หัวหน้า คสช. สั่งม.44 เรื่อง มาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๐ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๕/๒๕๖๐ เรื่อง มาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ

เนื่องจากในปัจจุบันการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะโดยเฉพาะรถตู้โดยสาร ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดเป็นที่นิยมของประชาชนเป็นจํานวนมาก เนื่องจากมีความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางแต่โดยที่มาตรการในการควบคุมกํากับดูแลรถโดยสารสาธารณะที่มีอยู่ยังไม่สามารถรองรับต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเพื่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุดได้ จนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวันซึ่งมีผู้โดยสารสัญจร เป็นจํานวนมาก จึงจําเป็นต้องกําหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้โดยสารและผู้ใช้รถใช้ถนนมีความปลอดภัยสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงสภาพของรถโดยสาร การควบคุมผู้ประกอบการขนส่งและผู้ขับรถให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งกําหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนําไปดําเนินการแก้ไขให้ครบถ้วน อันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการคมนาคมและการขนส่ง เพื่อประโยชน์ต่อความสงบเรียบร้อยในสังคม เพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และเสริมสร้างความมั่นใจในการเดินทางของประชาชน

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)
พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒
และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๓๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามประเภทที่อธิบดีประกาศกําหนดต้องจัดให้มีสมุดประจํารถ ประวัติผู้ประจํารถ การตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถและผู้ขับรถพร้อมทั้งบันทึกการตรวจสอบดังกล่าว และใบกํากับสินค้าที่ทําการขนส่ง รวมท้ังต้องจัดทํารายงานการขนส่งและรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด”

ข้อ ๒ ให้นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกมีอํานาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนรถ  ระงับใช้รถหรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้  ไม่เกินหกเดือน เมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้
(๑) เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจากการขนส่งอันกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบการขนส่ง โดยมีสาเหตุมาจากการที่ผู้ประกอบการขนส่งไม่ควบคุมกํากับดูแลผู้ขับรถให้ใช้ความเร็วไม่เกินอัตราที่กฎหมายกําหนด ขับรถเกินชั่วโมงการทํางานตามที่กฎหมายกําหนด ขับรถโดยประมาท หรือขับรถในขณะที่ร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถ
(๒) ผู้ประกอบการขนส่งปล่อยปละละเลยให้มีการนํารถไปใช้กระทําความผิด เช่น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษี
(๓) ผู้ประกอบการขนส่งไม่ควบคุมกํากับดูแลผู้ขับรถหรือพนักงานเก็บค่าโดยสาร ทําให้มีการบรรทุกผู้โดยสารเกินจํานวนที่นั่ง ทอดทิ้งผู้โดยสาร หรือเก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กําหนด

ข้อ ๓ ให้กรมการขนส่งทางบกควบคุมผู้ให้บริการระบบติดตามรถสําหรับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกและกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ให้ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับคุณลักษณะและระบบการทํางานของเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถผู้ให้บริการระบบติดตามรถ  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้กรมการขนส่งทางบกมีอํานาจเปรียบเทียบปรับได้วันละไม่เกินห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

ข้อ ๔ ให้กรมการขนส่งทางบกกําหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับรถประจําทางและไม่ประจําทางประเภทรถตู้โดยสาร เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งดําเนินการโดยเคร่งครัด ดังต่อไปนี้
(๑) การติดตั้งถังบรรจุก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวต้องไม่ทําให้น้ําหนักรถรวมน้ําหนักบรรทุกเกินสมรรถนะของรถ
(๒) การติดตั้งหรือการปรับปรุงแก้ไขตัวรถและเครื่องอุปกรณ์ เพื่อความปลอดภัยต่อการใช้รถและการเดินทาง โดยเฉพาะเพื่อให้ผู้โดยสารสามารถออกจากตัวรถได้โดยสะดวกและรวดเร็ว เมื่อมีกรณีจําเป็นหรือเกิดอุบัติเหตุ เช่น การแก้ไขกลไกเปิดประตูหลัง การเพิ่มขนาดหน้าต่าง การปรับปรุงพนักพิงเบาะหลังเพื่อให้พับได้และใช้เป็นทางออกฉุกเฉิน ทั้งนี้ ตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกําหนด
(๓) กําหนดจํานวนที่นั่งผู้โดยสารให้มีจํานวนที่เหมาะสมและปลอดภัยกับการบรรทุกและขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งต้องไม่เกินสิบสามที่นั่ง

ข้อ ๕ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้โดยสารและบุคคลภายนอก ให้รถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกหรือกฎหมายว่าด้วยรถยนต์จัดให้มีการทําประกันภัยรถยนต์เพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ๒๕๓๕  โดยให้กรมการขนส่งทางบกกําหนดเป็นเงื่อนไขสําหรับการรับจดทะเบียนหรือรับชําระภาษีประเภทรถที่ต้องจัดทําประกันภัยเพิ่มเติมและวงเงินคุ้มครองผู้โดยสารและบุคคลภายนอกให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกําหนด

ข้อ ๖ ให้กฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ ยังมีผลใช้บังคับไปพลางก่อนจนกว่าจะมีประกาศที่ออกตามมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคําส่ังนี้ใช้บังคับแทน ทั้งนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวให้ใช้บังคับได้เป็นเวลาไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ

ข้อ ๗ ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทําความผิดหรือมีการกระทําใดที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในการให้บริการขนส่งสาธารณะ

ทั้งนี้ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการเพิกเฉยหรือละเลยไม่กระทําการหรืองดเว้นกระทําการ หรือมีการแสวงหาผลประโยชน์โดยการเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นพิจารณาดําเนินการทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครองต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดกรณีที่หัวหน้าส่วนราชการหรือผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุปล่อยปละละเลยไม่ดําเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นความผิดวินัยหรือความผิดทางอาญาแล้วแต่กรณี

ข้อ ๘ ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้

ข้อ ๙ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

พิมพ์ อีเมล