ข่าว/บทความรถโดยสาร

ผมไม่ได้ค้าชีวิตเมีย

car case11
“เวลามันปวด บอกไม่ได้บอกว่ามันปวดมากหรือปวดน้อย รู้แต่เพียงว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป อยากจะตายหนีให้พ้นจากภาวะแบบนี้”
เป็นคำเอ่ยของธารารัตน์  ดวงงาม ผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถโดยสารเมื่อถูกถามถึงอาการปวดของเธอ


ย้อนไปเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ธารารัตน์ เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านร่องขุ่น ตำบลดอยลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงรายและเดินทางกลับไปราชบุรีในวันที่ 1 มีนาคม 2555

เธอนั่งรถเมล์สาย เชียงราย – จุนสี สีฟ้าขาว เลขทะเบียน 10-1608  รถค่อยๆเคลื่อนตัวออกจาก บขส. เชียงรายเวลาประมาณบ่ายโมงเศษ ครั้นรถวิ่งมาถึงตรงข้ามศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านร่องเผียว ต.ห้วยสัก อ.เมือง จ.เชียงราย

ความปกติของชีวิตและร่างกายกว่า 40 ปีของเธอได้สิ้นสุดลง ณ วันนั้นเอง เมื่อรถโดยสาร ได้เสียหลักพลิกคว่ำ เธอซึ่งนั่งอยู่เบาะแรกจากประตูทางขึ้น กระเด้งจากเก้าอี้ หลังกระแทกกับห้องเครื่อง  กระดูกหลังหักและคำจากปากของหมอโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์บอกเธอว่า พิการไปตลอดชีวิต’






กว่า 1 เดือนที่ต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล และอีกกว่า 3 เดือน ที่ต้องนอนอยู่บนเตียง กับหัวใจที่เต้นตุบๆ อยู่ในร่างกายที่รู้สึกเพียงครึ่งท่อนบน

“การใช้ชีวิตมันเปลี่ยนไปไม่ว่าจะ นั่ง จะนอนจะเจ็บที่หลังตลอดเวลา ร่างกายตั้งแต่บั่นเอวลงไปไม่มีความรู้สึกแล้ว เพราะไขกระดูกมันแตก แล้วหมอบอกว่ามันจะสร้างไม่ได้อีกแล้ว หมอผ่าหลังแล้วใส่เหล็ก 2 เส้น น๊อต 8 ตัว ดามหลังให้ จะความคุมการฉี่ไม่ได้ต้องใส่ถุงปัสสาวะตลอดเวลา หรือแม้แต่อึก็จะไม่รู้เรื่อง ควบคุมทุกอย่างไม่ได้ ต้องเรียกสามีมาเช็ดให้




นั่งนานเกิน 20 นาทีไม่ได้จะปวดหลังมากและขาก็จะบวม ต้องนอนเกือบทั้งวัน ต้องอยู่ในห้อง จนตอนนี้ตาแพ้แสงไปแล้ว”





บททดสอบความรักของแดนชัย  ดวงงามคู่ชีวิตที่รักกันมากว่า 15 ปีครั้งนี้เป็นการทดสอบที่สาหัสสากัน แต่เขาก็เป็นทุกอย่างของชีวิตธารารัตน์เสมอเมื่อเธอต้องการ

“รักเขา แล้วก็สงสารเขา ทุกเช้าก็มาจะนวดขา ยืดเส้นให้เขาเพื่อไม่ให้ขามันลีบ ถึงแม้จะไม่มีความรู้สึกแล้วก็ตาม ช่วงแรกเขากินยาตาย ต้องพากันไปล้างท้องมาครั้งหนึ่งแล้วที่โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี  อีกครั้งก็กินยาเกินขนาด ตอนนี้ก็ทำทุกอย่างทั้งหาอาหาร อาบน้ำ ใส่ผ้าอ้อม ซักผ้า อยู่เพื่อกันและกัน” แดนชัย ว่าพลางนวดแข้งขาภรรยาที่รัก

ด้วย อาชีพรับจ้างซ่อมไดนาโมรถมอเตอร์ไซค์   บางวันก็ได้บางวันก็ไม่ได้ แต่รายจ่ายกลับเพิ่มทวีเมื่อต้องมาดูแลคู่ชีวิตทั้งค่ายา  ค่าหมอ ค่าผ้าอ้อม ค่าเช่าห้องอีกเดือนละ 2,000 บาทและอีกจิปาถะ  เงินก้อนค่าชดเชยเยียวยาที่ได้มาจากบริษัทวิริยะประกันจำนวน 150,000 บาท ในเงื่อนไขทุพลภาพไปตลอดชีวิต ก็ถูกใช้ไปกับการปรับปรุงที่อยู่ให้อำนวยความสะดวกให้กับธารารัตน์มากที่สุด เท่าที่แดนชัยจะทำให้ภรรยาได้
ชุดที่ธารารัตน์ซักเองไม่ได้

“ติดต่อไปที่บริษัทรถ เขาบอกว่าจะให้ 100,000 บาท กับค่าเลี้ยงดูอีก 10 เดือน เดือนละ 8,000 บาท แต่ต้องไม่ฟ้องเขานะ  แล้วเขาก็บอกว่าถ้าฟ้องก็จะได้น้อยกว่านี้และกินเวลานานกว่าคดีจะจบ แต่ผมก็ไม่รู้จะทำไงเลยติดต่อไปที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”




หลังจากได้รับหนังสือแจ้งสิทธิ์จากศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแดนชัย จึงติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือ  หลังจากได้ฟังข้อมูลต่างๆเรื่องสิทธิของผู้โดยสาร และสิทธิการชดเชยเยียวยา รวมถึงการฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีผู้บริโภคแล้ว ทำให้เขาตัดสินใจแน่วแน่ที่จะเรียกร้องสิทธิ์กับเจ้าของรถ นั่นก็คือบริษัท ก.สหกิจเดินรถ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของรถคันดังกล่าว

“ก็ไม่รู้ว่าจะได้เท่าไร แต่ผมก็จะสู้ ผมจะสู้เพื่อลบคำที่เจ้าของรถบอกผมว่า ‘ผมเอาชีวิตเอาความพิการของเมียผมมาต่อรองเพื่อเป็นธุรกิจ’ มันไม่ใช่มันคือชีวิตคนที่ต่อรองราคาไม่ได้”




อีกครอบครัวที่ต้องฟันฝ่าเพื่อทวงสิทธิ์ของตัวเองจากผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ถึงแม้จะปลดเปลื้องจาก “พันธนาการจากความพิการ” ไม่ได้ แต่ก็เพื่อปลดเปลื้อง “พันธนาการคำสบประมาทในใจ”ที่ใครหลายคนเกินกว่าจะรับไว้และเพื่อยืนว่า เขาไม่ได้ค้าชีวิตเมีย’

พิมพ์ อีเมล