การขายทอดตลาด
สวัสดีครับ.......ท่านผู้อ่านทุกท่าน
ความรู้ในเรื่องของกฎหมายกันต่อดีกว่า ในเรื่องเด่นประจำสัปดาห์ซึ่งวันนี้เป็นเรื่องของการขายทอดตลาด
การกำหนดราคาเริ่มต้นของการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานมีกำหนดดังนี้
ครั้งแรกในราคาร้อยละ 80 ของราคาประเมิน ครั้งที่ สอง ร้อยละ 50 ของราคาประเมินแต่ต้องไม่น้อยกว่าราคาที่มีผู้เสนอสูงสุดในครั้งก่อน
เมื่อประมูลทรัพย์ได้แล้ว ต้องนำเงินส่วนที่เหลือมาชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เสร็จก่อนภายใน 15 วันนับแต่วันซื้อเป็นต้นไป ในกรณีที่ผู้ประมูลไม่สามารชำระเงินส่วนที่ค้างชำระได้ภายในกำหนดเวลา 15 วัน และได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงิน ซึ่งต้องระบุเหตุผลและความจำเป็น เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขยายให้อีกตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ไม่เกิน 3 เดือนและไม่ว่ากรณีใด ๆ จะไม่มีการขยายเวลาวางเงินให้อีก ถ้าไม่นำเงินที่เหลือมาชำระให้เสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีจะริบมัดจำที่วางไว้และนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดใหม่ หากขายทอดตลาดต่อไปได้ราคาสุทธิต่ำกว่าครั้งก่อนเท่าใด ผู้ประมูลต้องชดใช้ให้เต็มจำนวนที่ประมูลไว้ในครั้งก่อนและต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สำหรับการขายทอดตลาดครั้งหลังนี้ด้วย
ส่วนในเรื่องของกฎหมายใหม่ ซึ่งออกมาในรูปของกฎกระทรวง ดังนั้นในเรื่องราคาเริ่มต้นในการขายทอดตลาดรั้งแรกและครั้งที่ สอง ที่เคยเริ่มต้นกันที่ 80% และ 50% บัดนี้ถูกกฎกระทรวงลบทิ้งไปหมดแล้วต่อไปการขายทอดตลาด ผู้ที่มาประมูลทรัพย์ต้องเสนอราคาหรือรับราคาเริ่มต้นที่ 100% ซึ่งตามกฎกระทรวงให้ใช้ราคาเริ่มต้นจากการขายทอดตลาดโดยนำราคาต่าง ๆ ที่กฎกระทรวงบังคับไว้ ราคาใดสูงสุดให้นำมาเป็นราคาเริ่มต้นในการขายทอดตลาด และกฎตัวนี้ให้โอกาสจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ ได้มากำหนดราคาของตัวเองไว้ด้วย ซึ่งแน่นอนจำเลยก็จะต้องระบุราคาสูงไว้ก่อน เพราะฉะนั้นทรัพย์แปลงใดราคาสูงนั่นแหละเป็นราคาของจำเลย
อีกส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงคือ หลักเกณฑ์ในการกำหนดให้ผู้ประมูลซื้อทรัพย์จากกรมบังคับคดีจะต้องวางเงินประมูลเพิ่มขึ้น 5-10% จากเดิมที่กำหนดไว้เพียง 2 ส่วนคือ
1. ทรัพย์สินรอการประมูลขายที่มีราคาประเมินไม่เกิน 20 ล้านบาทต้องวางเงินประกันจำนวน 5,000 บาท
2. ทรัพย์สินที่มีราคาเกินกว่า 20 ล้านบาท ต้องวางเงินจำนวน 1 ล้านบาท สำหรับเกณฑ์ใหม่ในการวางเงินประมูลนั้น แบ่งเป็น 8 ส่วน ประกอบด้วย
วงเงินที่เข้าซื้อไม่เกิน 1 ล้านบาท ต้องวางเงิน 50,000 บาท
วงเงิน 1-5 ล้านบาท ต้องวางเงิน 250,000 บาท
วงเงิน 5-10 ล้านบาทต้องวางเงิน 500,000 บาท
วงเงิน 10-20 ล้านบาทต้องวางเงิน 1 ล้านบาท
วงเงิน 20-50 ล้านบาทต้องวางเงิน 2.5 ล้านบาท
วงเงิน 50-100 ล้านบาท ต้องวางเงิน 5 ล้านบาท
วงเงิน 100-200 ล้านบาทต้องวางเงิน 10 ล้านบาท และกรณีในวงเงิน 200 ล้านบาทขึ้นไปต้องเสนออธิบดีพิจารณาอนุมัติการวางเงินเป็นราย ๆ ไปครับ