ฮาวทูเคลม.. เคลมประกันอย่างไร ให้ได้ประโยชน์สูงสุด

 know your rights 04052020 cover

          อุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่มีใครคาดฝัน และมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกที่ และทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุเล็กน้อย เช่น ตกบันได หกล้ม หรือได้รับอุบัติเหตุที่รุนแรง เช่นรถชนทำให้กระดูกแตกหรือร้าว คนที่ทำประกันก็จะโชคดีกว่าคนที่ไม่ทำประกัน เพราะคนที่ทำประกันย่อมจะมีตัวช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นมาได้

          ทั้งนี้ประกันที่สามารถเคลมค่ารักษาพยาบาลได้นั้น มีทั้งประกันอุบัติเหตุและประกันสุขภาพ ซึ่งประกันแต่ละแบบหรือแต่ละบริษัทย่อมให้ความคุ้มครองแตกต่างกันไป ทั้งนี้จะต้องดูเงื่อนไขความคุ้มครองของการจ่ายค่ารักษาพยาบาลว่าเป็นอย่างไร บางกรมธรรม์จ่ายเป็นเงินชดเชยเมื่อตอนพักรักษาในโรงพยาบาล แต่บางกรมธรรม์ก็จะจ่ายค่ารักษาตามที่เกิดขึ้นจริง เมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลก่อนอื่นควรเช็คความคุ้มครองจากประกันอุบัติเหตุดังนี้

1. ค่ารักษาในกรณีที่เป็นผู้ป่วยใน (รักษาตัวในโรงพยาบาล)
2. ค่ารักษาในกรณีที่เป็นผู้ป่วยนอก
3. ค่ารักษาต่อเนื่อง
4. ค่าชดเชยในระหว่างนอนโรงพยาบาล

วิธีการเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัยเมื่อมีการเกิดอุบัติเหตุรถ

1. การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.)
(ซึ่งมีการปรับความคุ้มครองเพิ่มเติม และมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2563)

1.1  ค่าเสียหายเบื้องต้น หมายถึง ค่าเสียหายที่กฎหมายกำหนดให้ประกันจ่าย โดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด ดังนี้
      - ค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 30,000 บาท
      - ค่าทุพพลภาพ/สูญเสียอวัยวะหรือค่าปลงศพ 35,000 บาท

1.2 ได้รับความเสียหายต่อร่างกาย หรืออนามัย จ่ายค่ารักษาพยาบาล ตามความเสียหายที่แท้จริง แต่ไม่เกิน 80,000 บาทต่อหนึ่งคน (กรณีที่เป็นผู้โดยสารโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด)

1.3 สูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพอย่างถาวร หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 200,000 - 500,000 บาทต่อหนึ่งคน

1.4 ค่าชดเชยรายวัน จ่ายให้แก่ผู้ประสบเหตุที่ต้องนอนโรงพยาบาลวันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน

1.5 กรณีเสียชีวิต 500,000 บาทต่อหนึ่งคนวงเงินคุ้มครองสูงสุด ตาม พ.ร.บ. คือ 504,000 บาท

 

สิ่งสำคัญที่ผู้ประสบอุบัติเหตุควรจดจำในเรื่องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

1) ต้องยื่นเอกสารเรียกค่าสินไหมทดแทนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่เกิดเหตุ
2) ยื่นเอกสารกับทางบริษัทประกันที่รับทำ พ.ร.บ
     -  สำเนาบัตรประชาชนผู้เสียหาย
     -  เอกสารในการรักษาพยาบาล (ใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จรับเงิน)
     -  บันทึกประจำวันเจ้าหน้าที่ตำรวจที่แสดงว่าผู้เสียหายประสบอุบัติเหตุ
     -  สำเนาใบมรณบัตร กรณีผู้ประสบเหตุ เสียชีวิต

3) หากประกันไม่ยอมจ่ายสามารถยื่นเอกสารเรียกร้องต่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สายด่วนประกันภัย 1186 หรือ คปภ. ประจำจังหวัดได้ทันที    

know your rights 09052020 002


2. การเรียกร้องค่าเสียหายกับทางบริษัทประกันภาคสมัครใจ (เรียกส่วนเกินจาก พ.ร.บ.) ค่าเสียหายที่สามารถเรียกได้คือ

2.1 ค่ารักษาพยาบาล ในส่วนที่เกินจากวงเงินของ พ.ร.บ.
2.2 ค่าเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้ประสบอุบัติเหตุ หมายถึง ทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุ
2.3 ค่าเสียหายอื่นๆ เช่น ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าขาดรายได้ และค่าสูญเสียความสามารถในการทำงาน

          นอกจากการเคลมประกันที่เกิดขึ้นกับชีวิตและร่างกายแล้ว การเกิดอุบัติเหตุกับทรัพย์สินและไม่ได้ใช้งานเนื่องจากนำรถเข้าซ่อม ผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถเรียกค่าขาดประโยชน์จากบริษัทประกันได้เช่นกัน เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นจะขอยกตัวอย่างเรื่องร้องเรียนที่มีผู้ร้องเข้ามาดังต่อไปนี้

 

กรณีตัวอย่าง การเรียกค่าขาดประโยชน์จากการซ่อมรถกรณีเกิดอุบัติเหตุ

know your rights 09052020 003

          รถจักรยานยนต์ของผู้ร้องได้ชนกับรถยนต์ที่มีประกันชั้น 1 ของบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ซึ่งบริษัทและคู่กรณียินดีที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อมให้ทั้งหมด โดยผู้ร้องไม่ได้แจ้งความ ต่อมาผู้ร้องได้นำรถเข้าซ่อมที่ศูนย์รถจักรยานยนต์ เนื่องจากเพิ่งนำรถออกมาได้เดือนเดียว โดยมีวัตถุประสงค์ใช้ขับขี่เพื่อซื้อของในตลาดละแวกบ้าน โดยมีค่าซ่อมรถประมาณ 10,000 บาท 
          ซึ่งทางบริษัทฯ ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าซ่อมรถจำนวนดังกล่าวให้ผู้ร้องเรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากรถจักรยานยนต์ต้องจอดซ่อมเป็นเวลา 55 วัน ผู้ร้องจึงปรึกษาว่าสามารถเรียกค่าเสียหายส่วนอื่นได้อีกหรือไม่

แนวทางการแก้ไขปัญหา

          กรณีนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้แนะนำว่า ผู้ร้องเป็นฝ่ายถูก โดยสามารถเรียกค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อมรถ จากบริษัทประกันของคู่กรณีได้ เมื่อต้องนำรถส่งเข้าซ่อม         
          ผู้ร้องจึงเรียกค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์จากรถที่นำไปซ่อม 12,000 บาท แต่บริษัทประกัน เสนอจ่ายให้ 5,000 บาท ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าบริษัทได้รับผิดชอบค่าเสียหายและค่าซ่อมรถแล้ว จึงยินยอมรับเงิน 5,000 บาท จากบริษัทประกัน
 

          ทั้งนี้  คปภ. ได้กำหนดอัตราขั้นต่ำค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ที่บริษัทประกันภัยต้องชดใช้ไว้เป็นหลักเกณฑ์ ดังนี้
          1. รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง  ไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท
          2. รถยนต์รับจ้างสาธารณะขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง  ไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท
          3. รถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่ง  ไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท
          4. รถประเภทอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นไปตามข้อ 1-3 เช่น "รถจักรยานยนต์" ให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องและตกลงกันได้ โดยพิจารณาหลักฐานเป็นกรณีไป

          ซึ่งเอกสารประกอบการเรียกค่าเสียหาย ได้แก่
           - ใบนำรถยนต์เข้าจัดซ่อม / ใบรับรถยนต์
       - สำเนาการจดทะเบียนรถ
       - เอกสารประกอบการใช้รถยนต์แต่ละวัน (ถ้ามี)
       - ใบเสร็จค่าเช่ารถ (ถ้ามี)
       - สำเนาบัตรประชาชน
       - ใบเคลม

บทความ โดย  ชูชาติ คงครองธรรม
ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค
สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02 248 3737, 089 788 9152
อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

พิมพ์ อีเมล