แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ : กระทบทั้งสิ่งแวดล้อม และเงินในกระเป๋าคุณ

จากการ ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีมติเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 (Power Development Plan 2010 : PDP2010) เมื่อ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับใน 20 ปีข้างหน้า มีหลายประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามและประเมินศักยภาพความเป็นไปได้ของการ พยากรณ์ไฟฟ้า ทั้งในด้านความต้องการไฟฟ้า กำลังการผลิตไฟฟ้า และการสำรองไฟฟ้าในอีก 20 ปีข้างหน้า

แผนพีดีพี 2010 เป็นยุทธศาสตร์ด้านพลังงานระยะยาวของประเทศ โดยสาระสำคัญในแผนมุ่งเน้นให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนพัฒนา กำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศตามสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป และสร้างความมั่นคงของกำลังการผลิตไฟฟ้าควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ณ ปี 2573 รวม 65,547 เมกะวัตต์ (ซึ่ง ณ ธ.ค. 52 มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 29,212 เมกะวัตต์)

แม้ว่าที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานจะมีการจัดสัมมนา เพื่อเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน แต่ก็ยังมีประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในกลุ่มนักวิชาการ เอกชน หรือแม้แต่กลุ่มเอ็นจีโอ โดย "สกว.ชวนคิด" ตอนนี้ ผู้เขียนจะขอหยิบยกประเด็นข้อถกเถียงต่างๆ มาให้ผู้อ่านได้ลองพิจารณาตาม ดังนี้

การให้สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า ค่อนข้างน้อย เป็นประเด็นใหญ่ที่ถูกกล่าวถึง ทั้งๆ ที่หนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของการจัดทำแผนพีดีพี 2010 คือ ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการผลิตไฟฟ้า แต่กลับไม่ได้ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานลม พลังน้ำ หรือพลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งล้วนแต่เป็นพลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างความมั่งคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศได้ (ลดการนำเข้า เป็นพลังงานที่เราผลิตได้เองในประเทศ) นอกจากนี้ ในแผนส่งเสริมพลังงานทดแทน 15 ปี ของกระทรวงพลังงานเองก็ดูเหมือนจะเน้นการกระตุ้นให้เอกชนลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า จนปัจจุบันอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนเติบโตขึ้นมาก แต่ดูเหมือนการจัดทำแผนพีดีพี 2010 จะไม่สอดคล้องกับแผน 15 ปีของกระทรวงเท่าไร

ในทางกลับกัน พีดีพี 2010 ผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 11 โรงภายใน 20 ปี (พ.ศ. 2573) และพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหิน (รวมลิกไนต์) 23 โรง ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่เพียงจะเป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งในสังคมเท่า นั้น แต่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นโรงไฟฟ้าชนิดที่เราต้อง "นำเข้า" จากต่างประเทศ ทั้งเทคโนโลยี และเชื้อเพลิง ซึ่งเท่ากับประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ

ความน่าเชื่อถือของการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่แพ้กัน เพราะจากการพยากรณ์ในกรณีพีดีพีฉบับที่ผ่านมา มีการกล่าวถึง การพยากรณ์ที่เกินความเป็นจริง โดยเฉพาะการคำนวณความต้องการไฟฟ้าโดยใช้จีดีพี จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์เป็นฐาน เพราะเป็นที่ทราบกันว่าการพยากรณ์จีดีพีมักจะพยากรณ์สูงเกินจริงเพื่อสร้าง ความเชื่อมั่นในการลงทุน ค่าพยากรณ์จึงมีความคลาดเคลื่อนสูง ด้วยเหตุผลนี้ จึงส่งผลให้ค่าพยากรณ์ไฟฟ้าสูงตาม

นโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยใช้มาตรการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (adder) หรือให้การสนับสนุนทางการเงินอื่นๆ แม้ว่าจะจูงใจเอกชนผู้ลงทุน และเป็นผลดีต่อประเทศในการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้สูงขึ้น แต่ถ้าไม่มีการกำกับดูแลแผนการลงทุนที่เหมาะสมและเข้มงวด อาจนำไปสู่การสนับสนุนการลงทุนที่เกินจริง นั่นเท่ากับว่า เม็ดเงินที่จ่ายไปเพื่อสนับสนุนให้เอกชนลงทุน จะถูกผลักไปแฝงอยู่ในรูปแบบค่าเอฟทีของอัตราค่าไฟฟ้า (ซึ่งปกติขึ้น-ลงได้ตามราคาเชื้อเพลิงหรือค่ารับซื้อไฟฟ้าที่ กฟผ.รับซื้อ) ทำให้ในที่สุด ประชาชนต้องตกเป็นผู้แบกรับภาระจ่ายค่าไฟฟ้าแพงกว่าที่ควร

มาตรการการประหยัดพลังงาน (Demand Side Management หรือ DSM) ไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังนักในแผนนี้ มีเพียงโครงการการส่งเสริมการประหยัดไฟฟ้า โดยเปลี่ยนมาใช้หลอดผอมใหม่ T5 เท่านั้น อีกทั้งยังมีเป้าหมายการประหยัดเพียง 240 เมกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 0.3% ตลอด 20 ปี ซึ่งตรงข้ามกับในรายงานการศึกษาของ กฟผ. ที่ระบุว่า มาตรการนี้จะช่วยให้ประเทศไทยประหยัดพลังงานได้ถึง 29% ภายใน 20 ปี

และประเด็นสุดท้าย ที่ดูจะมีความสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแผนพีดีพี 2010 เนื่องจากแผนดังกล่าวเป็นการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง ประเทศไทย (กฟผ.) เพียงหน่วยงานเดียว โดยไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ ในขณะที่ กฟผ. เองก็ได้รับสิทธิในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผนนี้ด้วย ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงบทบาทที่ทับซ้อน นอกจากนี้ ยังมีเสียงห่วงใยในประเด็นการบริหารโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ได้มีการกล่าวถึงในแผนนี้มากนัก

ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงบางประเด็นที่อยากให้ข้อสังเกตกับผู้อ่าน เพื่อให้ประเทศไทยไม่ต้องพบกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจากการพยากรณ์ความ ต้องการไฟฟ้าสูงเกินไป เช่น การมีไฟฟ้าสำรองที่ล้นระบบ เป็นต้น ผู้เขียนไม่ได้ต้องการเพียงถกเถียงความน่าเชื่อของแผนพีดีพีฉบับนี้เท่านั้น แต่อยากจะชวนให้ผู้อ่านฉุกคิดว่า แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องรับประกัน ว่าเราจะมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่มีผลกับสภาพแวดล้อม และที่สำคัญ คือ คือ อาจกระทบต่อเงินในกระเป๋าของเราที่จะต้องรับภาระการจ่ายค่าไฟฟ้าที่สูง (เกินกว่าที่ควร) อีกด้วย

รวีภัทร์ เสือโต

เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ งานพลังงาน สกว.

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



กรุงเทพธุรกิจ 15/07/2553

พิมพ์ อีเมล