กฟผ.ยันเอสพีพีมีความเสี่ยง

ผู้ว่าการ กฟผ.ห่วงโรงไฟฟ้าเอสพีพีมีปัญหา เข้าระบบไม่ได้ตามปริมาณรับซื้อไฟ 3,500 เมกะวัตต์ เหตุลูกค้าอุตสาหกรรมที่ใช้ไอน้ำมีน้อย ต้องแย่งกันขาย ส่งผลทำให้บางโครงการเกิดไม่ได้เพราะไม่คุ้มทุน ส่งผลให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าต่ำกว่าที่คาดไว้ แต่ยืนยันจะเร่งโรงไฟฟ้าจะนะ และวังน้อยให้เร็วกว่า 3 เดือน เพื่อรับไฟขาดปี 2557 

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้อนุมัติให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กหรือเอสพีพี ระบบโคเจเนอเรชัน เพิ่มอีก 1,500 เมกะวัตต์ จากเดิม 2,000 เมกะวัตต์ รวมเป็น 3,500 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เพื่อรองรับการขาดแคลนไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากยังไม่มีความแน่นอนของโรงไฟฟ้าไอพีพีของบริษัท สยามเอ็นเนอยี่ จำกัด ขนาดกำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ และบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ซัพพลาย จำกัด หรือเอ็นพีเอส ขนาด 540 เมกะวัตต์ จะสามารถจะก่อสร้างได้ทันและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในช่วงปี 2558-2559 ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าลดต่ำลงเหลือแค่ 9 % และปริมาณสำรองที่พร้อมจ่ายได้ทันทีแทบจะไม่มีเหลือในปี 2557 จากปกติปริมาณสำรองควรจะอยู่ในระดับ 15 % ขึ้นไป และปริมาณสำรองพร้อมจ่ายทันทีควรจะอยู่ในระดับ 700-1,400 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ในส่วนของกฟผ.มีความเห็นว่า แม้กพช.จะอนุมัติการปรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มแล้วก็ตาม แต่เกรงว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอสพีพีระบบโคเจเนอเรชัน จะไม่สามารถก่อสร้างได้ตามปริมาณที่รับซื้อไฟฟ้าทั้งหมด เนื่องจากยังมีความเสี่ยงของผู้ลงทุนว่าจะสามารถหาลูกค้าขายไอน้ำได้หรือไม่ เพราะระบบโคเจเนอเรชัน หากจะได้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าสูงสุดจะต้องมีลูกค้าที่ใช้ไอน้ำมารองรับ เมื่อไม่มีในส่วนนี้ก็ไม่สามารถตั้งโรงไฟฟ้าได้ เพราะไม่คุ้มทุน

ประกอบกับเวลานี้เองผู้ที่ยื่นเสนอขายไฟฟ้าก็แย่งลูกค้าที่ใช้ไอน้ำกันอยู่ เพราะอยากได้รับการคัดเลือกจากทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ที่จะประกาศประมาณเดือนมกราคมปีหน้า แต่ไม่มีใครคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นใน 1-2 ปีได้ว่าจะเกิดวิกฤติหรือไม่ หากอุตสาหกรรมที่ใช้ไอน้ำขึ้นไม่ได้ แม้จะได้รับใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าและลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าแล้วก็ตาม ปริมาณที่เปิดรับซื้อไว้ 3,500 ก็ไม่สามารถเข้าระบบตามที่กำหนดได้ ซึ่งยังเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้และเป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

นายสุทัศน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การที่กพช.มีนโยบายที่จะเร่งให้โรงไฟฟ้าเอสพีพีเข้าระบบได้เร็วภายในปี 2557 นั้น คงไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากสายส่งมูลค่าลงทุน 10,000 ล้านบาท ที่จะก่อสร้างมารองรับการซื้อไฟฟ้าในปริมาณดังกล่าวจะแล้วเสร็จในปี 2558 อีกทั้ง เวลานี้ยังทราบว่าผู้ที่เสนอขายไฟฟ้ามาอยู่ในโซนที่มีการก่อสร้างสายส่งรอง รับหรือไม่ หากโรงไฟฟ้าเอสพีพีที่ชนะการคัดเลือกเข้ามาไม่อยู่ในโซนที่ก่อสร้างสายส่ง ก็ต้องมาพิจารณากันใหม่ว่าจะลงทุนในส่วนไหนเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้เสียเวลาออกไปอีก ประกอบกับการลงทุนก่อสร้างสายส่งสามารถรองรับไฟได้แค่ 3,000 เมกะวัตต์ ดังนั้น จึงไม่มั่นใจว่าโรงไฟฟ้าเอสพีพีจะเข้าระบบได้ทั้งหมด

ส่วนที่เกรงกันว่าปริมาณไฟฟ้าจากเอสพีพีที่รับซื้อเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่นำมาผลิตไฟฟ้าจะไม่เพียงพอนั้น ในส่วนนี้ได้รับการยืนยันจากบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)(บมจ.)แล้วว่า สามารถจัดหาได้อย่างเพียงพอ เพราะนับจากต้นปีหน้าเป็นต้นไป บมจ.ปตท.จะเริ่มมีการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเข้ามา แต่อาจจะต้องมีการปรับแผนบางส่วนในการลงทุนเชื่อมท่อส่งก๊าซจากฝั่งตะวันตก กับฝั่งตะวันออกใหม่

อย่างไรก็ตาม เวลานี้ทางกฟผ.ได้เตรียมแผนที่จะรับมือไฟฟ้าไม่เพียงพอในปี 2557 แล้ว โดยจะพยายามที่จะเร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ หน่วยที่ 2 ขนาด 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าวังน้อย หน่วยที่ 4 ขนาด 800 เมกะวัตต์ ให้แล้วเสร็จก่อนกำหนด 3 เดือน เพื่อให้ทันช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในเดือนเมษายนหรือเดือน พฤษภาคม 2557 หากแล้วเสร็จตามระยะเวลา จะทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าขึ้นไปอยู่ในระดับ 15 % ได้ และหากรวมกับโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ หน่วยที่ 2 ขนาด 800 เมกะวัตต์ ที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2558 จะทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 21-22 % แต่หากโรงไฟฟ้าเอสพีพีเข้าไม่ได้ตามที่เปิดรับซื้อไฟฟ้าไว้ ก็จะทำให้ปริมาณสำรองต่ำกว่า 20 % ๆได้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,589  5-8 ธันวาคม พ.ศ. 2553



วันศุกร์ที่ 03 ธันวาคม 2010 เวลา
กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ

พิมพ์ อีเมล