เกาะติดวิกฤติไฟฟ้า!!!สัญญาณร้ายไทยเสี่ยงเมืองมืด

สถานการณ์ ผลิตไฟฟ้าในบ้านเราขณะนี้ดูเหมือนใกล้จะถึง "ทางตัน" เมื่อ "สุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์" ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ออกมาระบุว่า.....

"3-4 ปีข้างหน้าการจัดหาไฟฟ้าของไทยจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติ และต้องมีการดับไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่สลับกันไป ขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่ไหนมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด"!!!

เหตุ ที่ "ผู้ว่าฯกฟผ." กล่าวเช่นนี้ เนื่องจากตั้งแต่ปลายปี 2556-2557 เป็นต้นไป จะไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ขนาดใหญ่ จ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ทันตาม "แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า" หรือ "พีดีพี 2010"
เกาะติดแผนโรงไฟฟ้าไทย

ถ้า พิจารณาแผนพีดีพี ตามกำหนดช่วงเดือนมีนาคม-กันยายน 2556 และปี 2557 จะมีโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลายแห่งที่ต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ขณะที่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554-มกราคม 2558 ต้องมีการปลดโรงไฟฟ้าที่หมดอายุลงออกจากระบบ โดยจะส่งผลให้ไฟฟ้าต้องหายไปจากระบบ 2,297 เมกะวัตต์

ทั้ง นี้ ถ้าเป็นไปตามแผนพีดีพี ช่วงปี 2557 ไทยจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 39,720 เมกะวัตต์ มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอยู่ที่ระดับ 23.4% ของระบบ มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 28,341 เมกะวัตต์ ขณะที่สิ้นปี 2553 กำลังผลิตไฟฟ้าจะอยู่ที่ 31,349 เมกะวัตต์ มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอยู่ที่ 28.1% มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 23,249 เมกะวัตต์

ทว่า..... สิ่งที่เกิดขึ้นเวลานี้กลับเป็นไปในทางตรงข้าม เพราะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลายแห่งไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะ "โรงไฟฟ้าวังน้อย-โรงไฟฟ้าจะนะ" ของ กฟผ.ที่อาจต้องเลื่อนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบออกไป 1 ปี-1 ปี 6 เดือน จากเดิมคาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเร็วกว่าแผนเดิม 6 เดือน หมายความว่าโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งนี้จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้อย่างช้าที่สุดปี 2559
"ม็อบ".....บ่วงกรรมโรงไฟฟ้า
 
ที่ เป็นเช่นนี้เพราะโครงการดังกล่าวเข้าข่ายโครงการ หรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ที่กำหนดให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม-ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ที่มีกำลังผลิตรวมกันในพื้นที่เดียวกันตั้งแต่ 1,000 เมกะวัตต์ขึ้นไป ต้องดำเนินงานตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรค 2 คือ ต้องจัดทำรายงานศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ และรายงานประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือเอชไอเอเพิ่มขึ้นมา และต้องเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชน รวมถึงต้องผ่านการประเมินจากองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่ต้องเสียเวลาในการจัดทำส่วนนี้ไม่ต่ำ 1 ปี ทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้

ใน ส่วนนี้แม้ทาง กฟผ.จะทำเรื่องถึงกระทรวงพลังงาน เพื่อนำเสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อให้ถอดถอนโครงการเหล่านี้ออกจากประเภทกิจการรุนแรง โดยอ้างว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่ง แวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ดังตัวอย่างของ "โรงไฟฟ้าราชบุรี" ที่มีกำลังผลิตรวม 3,600 เมกะวัตต์ และเปิดดำเนินการมากว่า 10 ปีก็ยังไม่ส่งผลกระทบด้านใดเกิดขึ้น และถ้าจะให้โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เข้าข่ายประเภทกิจการรุนแรง ควรขยายขนาดกำลังผลิตรวมขึ้นไปที่ 4,000-5,000 เมกะวัตต์ ไม่เช่นนั้นแล้วจะส่งผลกระทบต่อการจัดการไฟฟ้าในระยะอันสั้นที่จะถึงนี้ได้

ทว่า.....เหตุผลของ กฟผ. "ไม่ผ่าน"!!!

นอก จากนี้ในส่วนของภาคเอกชน ก็มีปํญหาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าบางคล้าของบริษัท สยามเอ็นเนอยี่ จำกัด กำลังผลิต 1,600 เมกะวัตต์ จากเดิมที่ต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2556 ได้เลื่อนการจ่ายไฟฟ้าออกไปเป็นปี 2558 เนื่องจากเกิดปัญหา "ม็อบต้าน" จนต้องย้ายไปก่อสร้างในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา

ขณะ ที่โรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ซัพพลาย จำกัด กำลังผลิต 270 เมกะวัตต์ เข้าระบบปลายปี 2556 และกำลังผลิตอีก 270 เมกะวัตต์ จะเข้าระบบต้นปี 2557 ก็ได้ขอเลื่อนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบออกไปอีก 2 ปี จากปัญหาการถูกต่อต้านเช่นกัน

ถ้า รวมโรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี กำลังผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ของบริษัท เพาเวอร์ เจนเนอเรชั่น ซัพพลาย ที่อาจจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งอยู่ในข่ายโครงการที่ส่งผลกระทบรุนแรงด้วยแล้ว ก็อาจจะทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าล่าช้าออกไป 1 ปี จากเดิมที่จะเข้าระบบในช่วงกลางปีและปลายปี 2557
กฟผ.ส่งสัญญาณอันตราย

จะ เห็นได้ว่าเมื่อรวมกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าข้างต้นแล้ว เมื่อถึงปี 2556-2557 จะทำให้ไม่มีไฟฟ้าจ่ายเข้าระบบถึง 5,340 เมกะวัตต์ ซึ่ง "ผู้ว่าฯกฟผ." ออกมายืนยันว่า.....

" กำลังผลิตไฟฟ้าที่หายไปนี้จะส่งผลให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของไทย อยู่ในระดับต่ำกว่า 10% ซึ่งเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟฟ้าตก หรือไฟฟ้าดับในบ้างพื้นที่ เพราะเกณฑ์ปกติที่คำนีงถึงความมั่นคงด้านการใช้ไฟฟ้าแล้ว กำลังผลิตสำรองไม่น่าจะอยู่ต่ำกว่า 15% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าโดยรวม ยังไม่รวมกำลังผลิตที่หายไปจากการปลดโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุลงอีก 2,297 เมกะวัตต์ ถ้าดำเนินการส่วนนี้แล้วปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยก็จะยิ่งลดต่ำลงอีก"

การ ที่ "ผู้ว่าฯกฟผ." ออกมายืนยันเช่นนี้เพราะมีสัญญาณบ่งบอกให้เห็นแล้วว่าถ้าไม่มีกำลังผลิต ไฟฟ้าใหม่เข้ามาการขาดแคลนไฟฟ้าจะเกิดขึ้นแน่นอน เห็นได้จากการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าในปีนี้ที่มีเติบโตสูงกว่าที่พยากรณ์ไว้ โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปีนี้อยู่ในระดับ 24,000 เมกะวัตต์ ทั้งๆที่พยากรณ์ไว้เพียง 23,249 เมกะวัตต์ ภายใต้การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ที่เติบโต 4%

ถ้า ปีหน้าและปีต่อๆไปจีดีพียังเติบโตต่อเนื่อง มากกว่าจีดีพีที่ตั้งไว้ในปีนี้ 4% ก็คงมองกันออกว่าอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อไม่มีการจัดหาไฟฟ้าใหม่เข้ามา!!!
ทางออก....."เมืองมืด"!!!
 
สำหรับ ทางออกเดียวที่เป็นความหวังและดำเนินการได้ทันที คือ หนีไม่พ้นการกลับไปยืดอายุโรงไฟฟ้าที่จะหมดอายุลงให้กลับมาเดินเครื่องต่อ ได้อีก ซึ่งจะช่วยเสริมระบบไฟฟ้าได้ระดับหนึ่ง แต่ "ผู้ว่าฯกฟผ." ก็ส่งสัญญาณแล้วว่าวิธีนี้ประชาชนจะต้องเป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้น ที่เป็นผลมาจากโรงไฟฟ้าที่อายุใช้งานมากแล้วประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจะต่ำ ต้นทุนการผลิตสูงกว่าโรงไฟฟ้าใหม่ ที่สำคัญส่วนใหญ่ต้องใช้น้ำมันเตา ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือต้นทุนผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น จำเป็นต้องส่งผ่านค่าไฟฟ้ามาในรูปค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ "ค่าเอฟที" ที่ผู้บริโภคจะได้รับในวันข้างหน้า

ถึง วันนี้คงต้องจับตาสถานการณ์ผลิตไฟฟ้าในไทยอย่างใกล้ชิดว่าหลังจากนี้จะมีโรง ไฟฟ้าใหม่ๆเกิดขึ้นได้หรือไม่ โดยต้องมองข้าม "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ที่อยู่ระหว่างการศึกษาไปก่อน เพราะทุกวันนี้แค่โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ก็ยังมีปัญหาสร้างไม่ได้ นับประสาอะไรกับโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งเป็นการบ้านที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปแก้ไขให้ได้ว่าอีก 3-5 ปีข้างหน้า จะจัดหาไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อความมั่นคงอย่างไร.....

ก่อนที่ "ไทย" จะตกอยู่ในความเป็น "เมืองมืด"!!!

วิโรจพันธ์ อนันต์ภิรมย์รื่น
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- จันทร์ที่ 6 ธันวาคม 2553

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน