มติบอร์ด สปสช.เห็นชอบ 125 ล้าน คุ้มครองผู้เสียหายลดฟ้องร้องแพทย์

บอร์ด สปสช.เห็นชอบจัดสรรงบช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการ 2.68 บาทต่อคน หรือ 125 ล้านบาท เผยเยียวยากว่า 500 ราย ใช้งบ 60 ล้าน ส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายจากคลอดบุตร

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รอง เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามมาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กำหนดให้มีการกันเงินงบประมาณได้ไม่เกิน 1% ของงบฯ ทั้งหมดของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี สำหรับใช้ในการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจาก การรักษาพยาบาล แต่จากความเป็นจริงที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการใช้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2545 จนถึงปัจจุบัน ใช้งบประมาณจ่ายชดเชยเบื้องต้นไปแล้ว 287 ล้านบาท หรือใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 50 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งในแต่ละปีการตั้งงบฯ ช่วยเหลือเบื้องต้นฯ จะพิจารณาจากความจำเป็น สำหรับปีงบประมาณ 2554 พบว่ามีแนวโน้มผู้ใช้บริการยื่นคำร้องมากขึ้น อย่างไรก็ตามในปี 2554 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติอนุมัติงบรายหัวสำหรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการตามมาตรฐาน 41 จำนวน 2.68 บาทต่อหัวประชากรเป็นเงินประมาณ 125 ล้านบาทเพื่อใช้ในการจ่ายค่าชดเชยเบื้องต้น

นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) เครือข่ายสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ เสียหายตามมาตรา 41 ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยคลอดบุตรที่ได้รับรับการช่วยเหลือ ซึ่งพบว่าสถานการณ์การใช้ระบบบริการสุขภาพของประชาชนในปี 2552 พบมีประชาชนเข้าใช้บริการผ่าท้องคลอดของหญิงตั้งครรภ์สูงถึง ร้อยละ 25 ส่วนมากเข้าใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชน ทั้งนี้ สวปก.พบว่า ในปี 2551 มีอัตราการใช้บริการร้อยละ 30 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35 ในปี 2552 ขณะที่โรงเรียนแพทย์มีอัตราลดลง โรงพยาบาลรัฐขนาดน้อยกว่า 100 เตียงมีอัตราคงที่ และสำหรับโรงพยาบาลรัฐขนาดมากกว่า 100 เตียงก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้อัตราการผ่าคลอดที่สูงขึ้นอาจมีสาเหตุจากคนไทยตั้งครรภ์ในช่วงอายุ ที่มากขึ้น

นพ.ประทีปกล่าวว่า ถึงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขด้วยว่า จากประสบการณ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยืนยันว่าเงินช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นทำให้ปัญหาคลี่คลายผู้เสียหายและ แพทย์เกิดความเข้าใจทั้งสองฝ่ายลดการฟ้องร้องแพทย์ได้อย่างชัดเจน ดังนั้น ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายนี้ถือเป็นการขยายต่อยอดจาก มาตรา 41 ให้ครอบคลุมผู้ถือสิทธิประกันสังคมและสิทธิสวัสดิการข้าราชการด้วย ไม่เฉพาะผู้ถือสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น และหาก พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ สปสช.พร้อมที่จะโอนภารกิจและงบประมาณที่เหลืออยู่ตามมาตรา 41 ไปอยู่ในหน่วยงานตาม พ.ร.บ.ใหม่ที่จะเป็นองค์กรกลาง แต่หากไม่มีการจัดตั้งองค์กรใหม่ สปสช.ก็พร้อมที่จะบริหารจัดการต่อไป

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 15 กรกฎาคม 2553 11:26 น.
ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต

พิมพ์ อีเมล