ปตท.สูบเลือดประชาชนไม่รู้อิ่ม ต้านขึ้นค่าก๊าซเอ็นจีวีไม่โปร่งใส

ASTVผู้จัด การออนไลน์ - ผลพวงจากการปล่อยให้เครือปตท.กลุ่มทุนสามานย์ใต้เสื้อคลุมรัฐวิสาหกิจผูกขาด ธุรกิจพลังงานทั้งระบบสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนไม่จบสิ้น ขนส่ง-แท็กซี่ก่อม็อบใหญ่กดดันปตท. รัฐบาลทรยศปรับขึ้นค่าก๊าซเอ็นจีวี ประธานกมธ.ตรวจสอบทุจริตฯ วุฒิสภา ชี้ขาดความโปร่งใส ต้นทุนเนื้อก๊าซของไทยราคาต่ำกว่าตลาดโลกเกือบครึ่ง แฉอ้างขาดทุนหวังเงินชดเชยจากรัฐตามฟอร์ม

การชุมนุมคัดค้านการปรับขึ้นค่าก๊าซเอ็นจีวี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2554 นำโดยสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กลุ่มผู้ประกอบการขนส่งทั้งรถบรรทุก รถร่วมบริการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) และบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) รวมถึงสหกรณ์รถแท็กซี่ ที่นัดชุมนุมใหญ่บนถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ บมจ.ปตท. สำหรับรถบรรทุกและรถบัส ส่วนรถแท็กซี่ รวมตัวกันบริเวณลานพระรูปทรงม้า รัชกาลที่ 5 และล้อมรอบทำเนียบรัฐบาล นับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดของกลุ่มประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจาก การดำเนินนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลที่ปล่อยให้เครือ ปตท. ผูกขาดธุรกิจพลังงานทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทั้งก๊าซฯ และน้ำมัน

ความ เดือดร้อนของประชาชนจากราคาต้นทุนพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นไม่หยุด จะหมุนเวียนเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่จบสิ้น ตราบใดที่ ปตท. ได้หลงลืมปรัชญาการก่อเกิดองค์กรพลังงานของชาติแห่งนี้ว่ามีจุดมุ่งหมาย เพื่อใคร และมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจแสวงหากำไรสูงสุดด้วยการอาศัยสถานะรัฐวิสาหกิจที่ ใช้อำนาจมหาชนของรัฐแสวงหาประโยชน์จากสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งผลักดันให้รัฐบาลออกนโยบายและมาตรการที่เอื้อประโยชน์ต่อการผูกขาด ธุรกิจพลังงานของตนเอง เป็นสำคัญ

ความวุ่นวายที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ หากมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น จะพบว่า ปตท.ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้รัฐบาลส่งเสริมนโยบายการใช้ก๊าซเอ็นจีวี ในภาคขนส่ง โดยอ้างเหตุผลว่า ก๊าซเอ็นจีวี เป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาด เหมาะสำหรับใช้ในภาคขนส่งทั้งรถบรรทุก รถบัส รถแท็กซี่ ส่วนก๊าซแอลพีจีซึ่งเป็นที่นิยมใช้ในการขนส่งอยู่นั้นไม่มีความปลอดภัย เป็นการใช้ก๊าซฯไม่ถูกประเภท และทำให้ก๊าซแอลพีจีขาดแคลน

ทั้งที่ความจริงแล้วทั่วโลกต่างใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคขนส่งกันทั้งนั้น และก๊าซแอลพีจีไม่ได้ขาดแคลนอย่างที่ปตท.กล่าวอ้าง แต่เป็นการสร้างเรื่องกดดันเพื่อให้รัฐบาลประกาศลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจีใน ราคาตลาดโลก หรือไม่เช่นนั้นรัฐก็ต้องชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาก๊าซในประเทศและต่าง ประเทศ ซึ่งเป็นกลวิธีที่ปตท.ทำแล้วได้ผล เพราะจนถึงเวลานี้รัฐบาลยังต้องควักเงินกองทุนน้ำมัน เงินที่เก็บจากประชาชนผู้ใช้น้ำมันเบนซินมาชดเชยราคาก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวี ให้กับปตท.เป็นเงินรวมแล้วหลายหมื่นล้านบาท

กรณีการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นวีจีก็เช่นกัน นโยบายนี้ทั้งรัฐบาลและปตท.ต่างร่วมรณรงค์ให้รถขนส่ง แท็กซี่ หันมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีจนสำเร็จ กล่าวเฉพาะกรณีแท็กซี่นั้น ปตท.ผลักดันให้รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน ออกมาตรการสนับสนุนด้วยการควักเงินกองทุนน้ำมันรวมกับงบอื่นๆ ประมาณ 1,200 ล้านบาท มาสนับสนุนแท็กซี่ที่ติดก๊าซแอลพีจีให้เปลี่ยนมาใช้เอ็นจีวีเพราะราคาก๊าซ ถูกกว่าและปลอดภัยกว่า โดยตั้งเป้าหมาย 30,000 คัน

แต่ ทว่ามาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานช่วยเหลือกลุ่มแท็กซี่ด้วยการติดตั้ง เอ็นจีวีกลับกลายเป็นมาตรการขูดเลือดแทน เมื่อคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 อนุมัติให้มีการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี ตามที่ปตท.เรียกร้องและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เห็นชอบ ให้ปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีกิโลกรัมละ 6 บาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 รวมปรับ 12 ครั้งๆ ละ 0.50 บาท จากราคาปัจจุบัน 8.50 บาทต่อกิโลกกรัม โดยอ้างเหตุผลเดิมๆ คือ ต้นทุนค่าก๊าซและค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้น ปตท.ต้องแบกรับภาระการขาดทุนหลายหมื่นล้านบาทแล้ว

“ต้นทุนเนื้อก๊าซธรรมชาติปตท.ยังไม่รวมค่าขนส่งและบริหารจัดการอยู่ ที่เฉลี่ย 9.90-10 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นราคาก๊าซ NGV ตามกรอบที่รัฐกำหนดคือทยอยขึ้นเดือนละ 50 สตางค์ต่อกก.จนครบ 6 บาทในสิ้นปี 2555เพื่อลดภาระขาดทุนในการนำไปปรับปรุงการบริการที่ดีขึ้น” พีระพงษ์ อัจฉรียชีวิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลต่อสื่อ

เช่นเดียวกับ เติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.ระบุว่า ต้นทุนการขายของ ปตท.หน้าปั๊มในขณะนี้ เท่ากับ 15.50 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นการจำหน่ายในอัตรา 8.50 บาท จึงเป็นอัตราที่ขาดทุน และ ปตท.พร้อมให้พิสูจน์ต้นทุนการขนส่งและบริหารจัดการจากสถานีแม่ไปสถานีลูกที่ มีต้นทุนประมาณ 5 บาทต่อกิโลกรัม

การอ้างเหตุผลเพราะขาดทุนทั้งจากค่าเนื้อก๊าซ ค่าขนส่ง ค่าบริหารจัดการของปตท. ถูกโต้แย้งจากฝ่ายสหพันธ์ขนส่งฯ และเครือข่าย ว่าเป็นการขึ้นราคาที่ไม่มีความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการขนส่งและรถแท็กซี่ และไม่เชื่อว่าต้นทุนค่าขนส่งก๊าซฯ ไม่ได้สูงดังที่ปตท.กล่าวอ้าง

ที่ สำคัญ คือ ตั้งคำถามจาก รสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่ระบุว่า ขณะนี้ราคาก๊าซดิบในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง เวลานี้อยู่ที่ 3.37 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเมื่อเทียบกับราคาตลาดโลก จะเห็นว่า ปตท.ซื้อก๊าซในประเทศถูกกว่าตลาดโลกถึง 40 - 67% การที่ปตท.กล่าวอ้างว่ามีต้นทุนเนื้อก๊าซฯ อยู่ที่ 9.90 - 10 บาทต่อกิโลกกรัม ไม่น่าจะถูกต้อง และปตท.มักอ้างว่าราคาขายไม่อิงตลาดโลกทำให้ขาดทุน แต่ไม่เคยเอ่ยถึงต้นทุนเนื้อก๊าซที่ถูกกว่าตลาดโลกอย่างมากแต่อย่างใด

นอกจากนั้น ต้นทุนค่าขนส่งก๊าซเอ็นจีวีที่สูงถึง 40% ที่ปตท.กล่าวอ้างยังน่าสงสัย ไม่นับว่า การส่งเสริมให้ใช้ก๊าซเอ็นจีวีในรถเล็กนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้องเพราะรถเล็กจะ มีปัญหาในการเติมก๊าซจากปั๊มที่อยู่นอกแนวท่อ ซึ่งทำให้เสียเวลาและค่าต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้น การส่งเสริมให้ใช้ก๊าซเอ็นจีวีควรใช้สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ และสร้างปั๊มตามแนวท่อก๊าซเป็นหลักเท่านั้น

“ต้น ทุนที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นจริง และไม่มีประสิทธิภาพ เพราะถูกผูกขาดโดยปตท. น่าจะต้องมีการตรวจสอบ” ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าว และยังตั้งคำถามต่อว่า ปตท.มีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำไมถึงไม่สามารถทำราคาให้เหมาะสมได้ ทั้งที่เรามีต้นทุนเนื้อก๊าซถูกเหมือนผลไม้ในสวนเราเอง แต่ปตท.กลับทำเหมือนขาดทุนตลอดเวลา ควรมีการตรวจสอบว่ามีการผ่องถ่ายกำไรไปยังบริษัทลูกหรือไม่ การบอกว่าขาดทุนเป็นเรื่องเพื่อให้ได้รับเงินชดเชยจากรัฐมากกว่า


พิมพ์ อีเมล