ขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกดัมพ์ลงประเทศยากจน

jung

ยูเอ็นเผย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นพิษจำนวนมากถูกดัมพ์ลงประเทศยากจน



เมื่อผู้คนโยนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เครื่องเก่าทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์นับล้านตันจะถูกส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนาอย่างผิดกฎหมาย

สหประชาชาติออกมาเตือนว่าคริสต์มาสนี้ จะมีการจับจ่ายโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต ของเล่น กล้องถ่ายรูป และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ นับล้านเครื่อง ซึ่งจุดจบของอุปกรณ์เหล่านั้น จะกลายเป็นคลื่นขยะอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเวสต์ (e-waste) จำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลไปยังประเทศกำลังพัฒนา

จากข้อมูลของ Step Initiative ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าในสี่ปีข้างหน้าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 33% โดยจะมีน้ำหนักมากกว่ามหาพีระมิดอียิปต์ถึงแปดเท่า ในปีที่แล้วประชากรโลกสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ถึง 50 ล้านตัน หรือเฉลี่ยคนละ 7 กิโลกรัม

ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ประกอบด้วยวัสดุหลายประเภท รวมถึงโลหะหนักที่เป็นพิษ เช่น สารตะกั่ว สารปรอท แคดเมียม สารหนู และสารยับยั้งการเกิดประกายไฟ ยกตัวอย่างเช่น จอคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าหนึ่งจอ ประกอบด้วยสารตะกั่ว 3 กิโลกรัม

เมื่อขยะเหล่านี้ถูกนำไปฝังกลบ สารพิษจะรั่วไหลออกสู่พื้นที่รอบๆ ปนเปื้อนในพื้นดิน แหล่งน้ำ และอากาศ นอกจากนี้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มักจะถูกแยกชิ้นแบบหละหลวมเรื่องความปลอดภัย คนงานที่ทำงานแยกชิ้นส่วนมักจะล้มป่วยเพราะสารพิษเป็นประจำ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วองค์การตำรวจสากลออกมาเปิดเผยจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนา พบว่าจำนวนหนึ่งในสามตู้คอนเทนเนอร์ที่มุ่งหน้าออกจากสหภาพยุโรปส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างผิดกฎหมาย ทำให้ 40 บริษัทถูกสอบสวนในทางอาญา

รูดิเกอร์ เคือฮ์ เลขานุการผู้บริหาร Step กล่าวว่า "คริสต์มาสเป็นเทศกาลแห่งโปรโมชันลดราคาและการสร้างขยะในทุกมุมโลก... ขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นมหาศาลเพราะเทคโนโลยีก้าวไปเร็ว ผู้บริโภคเปลี่ยนโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์บ่อยขึ้น สิ่งของเหล่านี้ก็ถูกออกแบบมาให้อายุการใช้งานสั้นลงด้วย”

จากรายงานของ Step พบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีตั้งแต่ ตู้เย็นเก่า ของเล่น ไปจนถึงแปรงสีฟันไฟฟ้า เป็นประเภทขยะที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในบรรดาขยะทั้งหมด ปีที่แล้วประเทศจีนครองแชมป์ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดในโลก คิดเป็นจำนวน 11 ล้านตัน ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา 10 ล้านตัน แต่ถ้าหากคิดเป็นจำนวนเฉลี่ยต่อคน จะมีจำนวนแตกต่างกันมาก โดยสหรัฐฯสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ 29.5 กิโลกรัมต่อคน ในขณะที่จีนสร้างขยะเพียงคนละ 5 กิโลกรัมเท่านั้น

เคือฮ์คาดการณ์ว่าภายในปี 2017 จะมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์มากพอที่จะใส่รถบรรทุกขนาด 40 ตันต่อแถวได้ยาวถึง 15,000 ไมล์ สำหรับในทวีปยุโรป เยอรมนีครองแชมป์สร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่ถ้าคิดเฉลี่ยต่อหัวแล้ว นอร์เวย์กับลิกเตนสไตน์มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ส่วนสหราชอาณาจักรก็ครองอันดับเจ็ดของโลกด้วยจำนวน 1.37 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 21 กิโลกรัมต่อคน อย่างไรก็ตามรัฐบาลหรือภาคอุตสาหกรรมไม่ให้ข้อมูลว่ามีการส่งออกเป็นจำนวนเท่าไร

องค์การตำรวจสากลเผยว่า การส่งของที่ไม่ใช้แล้วไปยังประเทศยากจนนั้นถูกต้องตามกฎหมาย ถ้ายังสามารถนำมาใช้ใหม่ หรือซ่อมแล้วยังนำกลับมาใช้ได้ แต่ของจำนวนมากที่ส่งออกไปยังแอฟริกาหรือเอเชียมีการระบุประเภทโดยบิดเบือนความจริง โดยระบุว่าเป็นของมือสอง แต่ในความเป็นจริงของพวกนั้นไม่สามารถใช้การได้อีก กล่าวคือ เป็นขยะนั่นเอง

บ่อยครั้งขยะเหล่านั้นถูกส่งต่อไปยังตลาดมืดในคราบของสินค้ามือสองเพื่อหลีกเลี่ยงภาระค่าใช้จ่ายตามกฎหมายในการรีไซเคิล ขยะพวกนี้เมื่อส่งไปยังปลายทางในแอฟริกาหรือเอเชียแล้ว มักจะถูกจัดการในกิจการนอกระบบ ทำให้เกิดมลภาวะและความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างใหญ่หลวงต่อชุมชนรอบข้าง โดยมีเพียงไม่กี่ประเทศที่เข้าใจความร้ายแรงของปัญหา เพราะไม่มีการเก็บตัวเลขว่าขยะที่ส่งออกมีปริมาณเท่าใดกันแน่ แต่องค์การสิ่งแวดล้อมสหภาพยุโรปประมาณการไว้ว่าอาจมีจำนวนระหว่าง 250,000 ถึง 1.3 ล้านตัน

ข้อมูลจากการศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ พบว่าในปี 2010 สหรัฐทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ประกอบด้วยคอมพิวเตอร์ จอคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์และโทรศัพท์มือถือเป็นจำนวน 258.2 ล้านชิ้น ซึ่งได้รับการรีไซเคิลเพียง 66% มีการซื้อขายโทรศัพท์มือถือ 120 ล้านเครื่อง ส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปยังฮ่องกง ประเทศแถบละตินอเมริกาและแคริบเบียน

โทรศัพท์มือถือรุ่นหนึ่งๆ จะวางขายอยู่บนชั้นไม่เกินสองปี รัฐบาลสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นเผยว่าโทรศัพท์หลายร้อยล้านเครื่องถูกโละทิ้งหรือเก็บไว้เฉยๆ ในสหรัฐอเมริกา มีโทรศัพท์เพียง 12 ล้านเครื่องที่เข้าสู่ระบบรีไซเคิล ในปี 2011 แม้จะมียอดการซื้อขายถึง 120 ล้านเครื่อง ในขณะที่โทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ แข่งขันกันออกมาตีตลาด โทรศัพท์รุ่นเก่าก็ต้องลงเอยในกองขยะ

แผงวงจรโทรศัพท์มือถือประกอบด้วยโลหะมีค่าหลายชนิด ได้แก่ ทองแดง ทองคำ สังกะสี เบริลเลียม และแทนทาลัม และมักจะใช้ตะกั่วเป็นสารเคลือบ ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือนำเอาลิเธียมมาใช้เป็นแบตเตอรี่มากขึ้นเรื่อยๆ แต่มีโทรศัพท์เพียง 10% ที่ถูกแยกชิ้นส่วนนำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนหนึ่งก็เพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยนี้มีความซับซ้อนและมีส่วนประกอบที่เล็กลงมาก ซึ่งความล้มเหลวในการรีไซเคิลจะนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแร่หายากซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต


แปลและเรียบเรียงโดย เครือข่ายพลเมืองเน็ต

จาก http://www.theguardian.com/global-development/2013/dec/14/toxic-ewaste-illegal-dumping-developing-countries

StEP: Solving the E-waste Problem http://www.step-initiative.org/

ภาพประกอบจากวิกิมีเดียคอมมอนส์ http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Electronic_waste.jpg

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน