ป.ป.ช.ทวงผลสรุปแก้ไขสัญญามือถือ

สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) ตามสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ในกรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ครั้งที่ 7 เพื่อให้มีการใช้เครือข่าย (โรมมิ่ง) ระหว่างค่ายมือถือรายอื่น และให้หักค่าใช้จ่ายจากการโรมมิ่งก่อนนำไปคำนวณจ่ายส่งแบ่งรายได้

ทั้งนี้คณะกรรมการป.ป.ช.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง แล้ว และได้ไต่สวนข้อเท็จจริงจากทีโอทีแล้ว ปรากฏว่าทีโอทีได้ดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยนำเข้าสู่กระบวนการคณะกรรมการประสานงานมาตรา 22 ของพ.ร.บ.ร่วมทุนและได้รายงานข้อเท็จจริงและเหตุผลไปยังกระทรวงไอซีที เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ดังนั้นจึงขอทราบเหตุและผลในการดำเนินการของกระทรวงไอซีที หลังจากได้รับรายงานผลของคณะกรรมการประสานงานมาตรา 22 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และผลเป็นประการใด แล้วขอให้นำผลงานดังกล่าวส่งให้คณะอนุป.ป.ช.เพื่อประกอบการพิจารณาไต่สวนต่อ ไปด้วย

โดยคณะกรรมการตามมาตรา 22พ.ร.บ.ร่วมทุนสำหรับสัญญาสัมปทานระหว่างทีโอทีกับเอไอเอสนั้น ได้พิจารณาแล้วเสร็จตั้งแต่ปลายปี 2554 และทีโอทีก็ได้นำเสนอให้ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที สั่งการเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว แต่ น.อ.อนุดิษฐ์ ยังไม่ได้หยิบยกประเด็นนี้มาหารือหรือทบทวน ทำให้ปัญหาสัญญาสัมปทานที่ยืดเยื้อมานานยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องตาม คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา

สำหรับผลการพิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 22 นั้น มีการโหวตโดยเสียงข้างมากให้กลับไปยึดตามสัญญาเดิมที่ยังไม่มีการแก้ไข เพราะรัฐเสียประโยชน์ โดยไม่เห็นด้วยที่จะนำค่าใช้จ่ายโรมมิ่งมาหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ ขณะที่ เสียงข้างน้อยเห็นด้วยกับการแก้ไข เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการใช้เครือข่ายร่วมกัน ส่งผลต่อสัญญาณการใช้โทรศัพท์มือถือที่ดีขึ้นด้วย

นสพ.แนวหน้า
วันอังคาร ที่ 05 มิถุนายน พ.ศ. 2555, 06.00 น.

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน