คลอด11กสทช. แล้ว

วุฒิสภา ลงคะแนนทำคลอด แล้ว 11 อรหันต์ "กสทช." ผู้กุมชะตาอุตสาหกรรมวิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคมไทย พบเครือข่ายทหารตบเท้าพาเหรดยึดเก้าอี้พรึ่บ ด้าน "ธเรศ-นที" ติดโผตามคาด เผยเบื้องหลังระหว่างการประชุมกลุ่ม 40 ส.ว.ประท้วงกันวุ่น หลังจากส.ว.ศรีสะเกษขอให้เลื่อนการลงคะแนนออกไป 1 สัปดาห์ เพราะพบสิ่งผิดปกติ ทั้งยังมีการบล็อกโหวต ซึ่งอาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือของวุฒิสภา

จากกรณีวุฒิสภามีกำหนดการ เปิดประชุมเพื่อลงคะแนนเลือกกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 11 คน ตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กสทช. พ.ศ.2553 ภายหลังคณะกรรมาธิการสามัญ (กมธ.) ทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกสทช. แล้วเสร็จ

เมื่อ เวลา 09.00 น. วันที่ 5 ก.ย. ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิ) กล่าวว่า การเลือกกรรมการกสทช. จะเริ่มจากการรับทราบรายงานจากกมธ.ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกสทช. โดยจะเป็นการประชุมลับ จากนั้นจะเป็นการลงมติ โดยการลงมติวิปวุฒิมีความเห็นให้ใช้วิธีลงคะแนนลับเลือกกรรมการกสทช. โดยส.ว.จะได้บัตรลงคะแนนคนละ 8 ใบ แบ่งเป็น 8 สี ตามจำนวนกลุ่มตัวแทนกสทช. และลงคะแนนโดยวิธีกาบัตรในคูหาที่เตรียมไว้ก่อนจะนับคะแนนทีละกลุ่ม ซึ่งผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นกสทช. จะต้องได้คะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่ม เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาลงคะแนนและนับคะแนนอย่างน้อย 4-5 ชั่วโมง แต่หากในแต่ละกลุ่มมีผู้ได้คะแนนมากที่สุด 2 คน จะต้องลงคะแนนใหม่เฉพาะผู้ที่มีคะแนนเท่ากัน ซึ่งอาจใช้เวลาอีก 2-3 ชั่วโมง

นาย สมชาย กล่าวว่า กรณีที่ส.ว.บางส่วนต้องการให้ลงมติเลือกกสทช. ทีละกลุ่มเป็นสิทธิในการเห็นแตกต่างกันได้ อย่างไรก็ตาม วิปวุฒิยืนยันว่าวิธีเลือกในคราวเดียวเหมาะสมที่สุดแล้ว เพราะหากแยกเลือกและนับคะแนนทีละกลุ่ม อาจมีผลต่อการลงมติ วิธีเลือกคราวเดียวยังเป็นการป้องกันข้อครหาเรื่องการล็อบบี้ หรือฮั้วไม่ให้เกิดขึ้น ทั้งนี้หากที่ประชุมมีความเห็นแตกต่างกันที่ประชุมสามารถลงมติวิธีการลง คะแนนได้ ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ามีการขัดขวางกระบวนการเลือกกสทช. ไม่ให้ทันตามกรอบของกฎหมายนั้น ตนได้ข่าวมาบ้าง แต่คิดว่าส.ว.ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 เห็นตรงกันว่ากระบวนการทุกอย่างที่ทำมาถูกต้องแล้ว หากไม่สามารถเลือกให้เสร็จสิ้นในวันนี้อำนาจในการเลือกกสทช. จะไปตกแก่รัฐบาล ซึ่งทุกคนไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น

รายงานข่าวแจ้งว่า การสรรหา กสทช. 11 คน วุฒิสภาจะพยายามสรรหาให้เสร็จภายในวันที่ 11 ก.ย.นี้ เพราะหากไม่สามารถพิจารณาผู้ที่มีความเหมาะสมตามกำหนด อำนาจพิจารณาคัดเลือกจะเปลี่ยนมือไปอยู่ที่นายกรัฐมนตรี โดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกภายใน 30 วัน ดังนั้นวุฒิสภาจึงต้องเร่งดำเนินการ

เวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา มีพล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ลุกขึ้นอภิปรายว่า การลงคะแนนเลือกกสทช. ครั้งนี้ตนอยากให้ชะลอไปก่อน 1 สัปดาห์ เนื่องจากการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหา พบสิ่งผิดปกติ และหลายประเด็นอาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือของวุฒิสภา อาทิ สถานะขององค์กรและผู้แทนองค์กรที่เป็นกรรมการสรรหา ซึ่งไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย นอกจากนั้น ขั้นตอนการสรรหาอาจเข้าข่ายขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 ในหลายมาตรา อาทิ มาตรา 13,15 และ 16 และรายชื่อผู้สมควรที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกสทช. มีลักษณะของการบล็อกโหวต

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายจิตติพจน์อภิปราย ปรากฏว่า มีสมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว. หลายคนลุกขึ้นประท้วงพล.อ.ธีรเดช ประธานวุฒิสภา อ้างว่านายจิตติพจน์กล่าวเท็จซ้ำซาก ส่งผลให้นายจิตติพจน์ ชี้แจงว่า จากกรณีมีผู้กล่าวหาว่าตนพูดความเท็จ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนั้นตนได้เชิญบุคคลที่ต้องสงสัยว่าจะนำบุคคลที่ไม่ใช่ กรรมการสรรหาตัวจริงมาพิจารณา มีทั้งสิ้น 6 องค์กร แต่มีหน่วยงานมาให้ข้อมูลเพียง 2 หน่วยงาน หน่วยงานอื่นต้องอาศัยการสอบถามจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เป็นหน่วยงานราชการทั้งกรมการปกครอง กระทรวงไอซีทีและกระทรวงอื่นๆ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ได้รับมาทั้ง 2 หน่วยงานนับว่าเป็นข้อมูลเพียงพอจะชี้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการสรรหาก สทช. เป็นเรื่องไม่ปกติ

เวลา 11.30 น. นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยเข้าสู่กระบวนการพิจารณาลับอภิปรายตรวจสอบเนื้อหา ประวัติของผู้เข้ารับการสรรหาเป็นกสทช. ทั้ง 44 คน ซึ่งการประชุมลับใช้เวลา 45 นาทีจึงเสร็จสิ้น จากนั้นมีการเปิดเผยขั้นตอนลงมติสรรหากสทช. โดย เอกสารการลงคะแนนสรรหากสทช. ให้เหลือ 11 คน แบ่งเป็น 8 ด้าน มีเอกสาร 8 ซอง 8 สี ในแต่ละด้านแยกเป็น 1.ด้านกิจการกระจายเสียง 4 คน 2. ด้านกิจการโทรทัศน์ 4 คน 3.ด้านกิจการโทรคมนาคม 8 คน 4.ด้านกฎหมาย 8 คน 5.ด้านเศรษฐศาสร์ 8 คน 6.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 4 คน 7.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคกิจการโทรคมนา คม 4 คน 8.ด้านการศึกษา ด้านวัฒนธรรม หรือการพัฒนาสังคม 4 คน โดยแต่ละด้านจะมีรายชื่อผู้ได้รับเลือกเป็นกสทช. จาก 4 คน เลือก 1 รายชื่อ และจาก 8 คน เลือกเพียง 2 รายชื่อ และขั้นตอนการลงมติกำหนดให้ส.ว.ทั้ง 149 คน เรียงรายชื่อตามลำดับตัวอักษรเป็นผู้ร่วมเลือกครั้งละ 7 คน ด้วยวิธีการเดินเข้าคูหากากบาทลงบัตรเลือก

เวลา 12.20 น. วุฒิสภาเริ่มกระบวนการลงมติคะแนนสรรหาผู้ที่เหมาะสมเป็น 11 กสทช. ระหว่างการลงคะแนนมีส.ว. หลายคนตั้งคำถามเกี่ยวกับการลงคะแนนว่าให้ถือโพยเข้าคูหาได้หรือไม่ โดยนายนิคมแนะให้ส.ว.ผู้มีสิทธิ์ลงเลือก อย่านำเอกสารออกจากซองทั้งหมด 8 ซอง เพราะอาจเกิดความยุ่งยากต่อการเก็บบัตร ซึ่งจะกระทบต่อขั้นตอนการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งได้ ทั้งนี้ สามารถนำเอกสารอื่นๆ เข้าไปในคูหาได้ เพราะแต่ละคนย่อมมีโพยที่จะเลือกใครอยู่แล้วเป็นเรื่องธรรมดา จากนั้นประธานที่ประชุมให้นับองค์ประชุม พบว่า มีสมาชิกแสดงตน 136 คน จากทั้งหมด 149 คน

ต่อมาเวลา 15.35 น. ผู้สื่อข่าวรายงานผลการลงคะแนนเลือกกรรมการกสทช. ทั้ง 8 ด้าน รวมทั้งสิ้น 11 คน ประกอบด้วย 1.ด้านกิจการกระจายเสียง พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการบริหาร สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม ได้ 73 คะแนน

2.ด้านกิจการโทรทัศน์ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กระทรวงกลาโหม ได้ 62 คะแนน

3.ด้านกิจการโทรคมนาคม พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่กรรมการกสทช. ได้ 112 คะแนน และ พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ นายทหารฝ่ายกิจการโทรคมนาคม สำนักงานกสทช. ได้ 118 คะแนน

4.ด้าน กฎหมาย นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ 109 คะแนน และนายทวี เส้งแก้ว ทนายความสำนักงานกฎหมายนิติธาดา ได้ 67 คะแนน

5.ด้านเศรษฐศาสตร์ นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า และอดีตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เศรษฐศาสตร์ ประจำคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้ 110 คะแนน และนายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ ผอ.ศูนย์คอมพิวเตอร์ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย ได้ 58 คะแนน

6.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคกำกับ ดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ นักกิจกรรมทางสังคมด้านการปฏิรูปสื่อ องค์กรพัฒนาเอกชน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ได้ 95 คะแนน

7.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม คือ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผอ.สถาบันคุ้มครองผู้บริโภค ในกิจการโทรคมนาคม สำนักงานกสทช. ได้ 78 คะแนน

8.ด้านการศึกษา วัฒนธรรม หรือการพัฒนาสังคม พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ที่ปรึกษาพิเศษ กองบัญชาการกองทัพไทย ได้ 72 คะแนน

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า ขั้นตอนการนับคะแนนดังกล่าวเสร็จสิ้นเวลา 17.15 น. ใช้เวลารวม 1 ชั่วโมง 15 นาที ขณะที่รวมเวลาประชุมเริ่มตั้งแต่เวลา 10.45-17.15 น. รวมกว่า 6 ชั่วโมง 30 นาที โดยหลังจากนี้พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา จะนำรายชื่อทั้ง 11 คน ไปแจ้งต่อบุคคลผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นกสทช. ได้รับทราบ และจะส่งไปยังสำนักงาน กสทช. เพื่อเลือกประธาน 1 คน รองประธาน 2 คน ก่อนส่งเรื่องต่อนายกฯ เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งตามลำดับต่อไป

รายงาน ข่าวแจ้งว่า จากการลงมติเลือก 11 กสทช. ของส.ว.ในครั้งนี้ ผู้ได้รับเลือกเกือบจะทั้งหมดเป็นไปตามโพยรายชื่อบล็อกโหวตที่คาดการณ์กัน ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นโค้งสุดท้ายในการวิ่งหาคะแนน ปรากฏว่ามีการแลกเปลี่ยนโพยชื่อระหว่างส.ว.กลุ่มต่างๆ ที่ผลักดันคนที่ตัวเองสนับสนุน และถือว่าแต่ละกลุ่มทำยอดตามเป้าหมายกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่ากสทช.ชุดนี้เกินครึ่งเป็นเครือข่ายคนในกองทัพ และบางส่วนเป็นเครือข่ายจากบริษัทบันเทิง รวมถึงบริษัทผู้ผลิตรายการโทรทัศน์รายใหญ่ ทั้งนี้ กสทช.มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี หรือผู้มีอายุครบ 70 ปี ต้องพ้นวาระ มีหน้าที่สำคัญด้านกำกับดูแล จัดสรรคลื่นความถี่ และออกใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งในช่วง 3 ปีแรกคาดว่าเฉพาะธุรกิจสื่อกลุ่มวิทยุ-โทรทัศน์จะมีเงินหมุนเวียนนับแสนล้าน บาท

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน