เตือนโรมมิ่งรับสายเสียเงิน

ผู้บริโภคร้อง โรมมิ่ง “รับสาย” ก็เสียตังค์ หลังพบอีกส่งลูกเรียนเมืองนอกพร้อมพกมือถือเบอร์เดิม เจอถูกเรียกเก็บค่ารับสายเฉียดสองแสนบาท ผอ.สบท.แนะบริษัททำซิมพรีเพด โรมมิ่ง แก้ปัญหาบิลล์ช็อค

 

นายประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา  ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยว่า   เมื่อเร็วๆนี้ได้มีการประชุมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายสำหรับการกำกับดูแลการใช้งานข้ามเครือข่ายโทรคมนาคมระหว่างประเทศด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งจัดโดยสำนักงาน กสทช.  ทั้งนี้จากการรับเรื่องร้องเรียนทำให้พบว่าปัญหาสำคัญที่เกิดจากการใช้บริการข้ามแดนอัตโนมัติหรือโรมมิ่งคือ การเกิดสถานการณ์บิลช็อค หรือการถูกคิดค่าบริการที่สูงมาก เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่สามารถประเมินค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้บริการได้โดยเฉพาะการใช้บริการดาต้าโรมมิ่ง เพราะเป็นการคิดค่าบริการตามปริมาณข้อมูล หรือตามจำนวนเมกกะไบต์ที่ใช้ ไม่ได้คิดเป็นจำนวนเวลา ทำให้ผู้บริโภคประเมินไม่ถูก นอกจากนี้ การแจ้งเตือนปริมาณการใช้งานเช่น การส่งเอสเอ็มเอสแจ้งเตือนจากบริษัทยังไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมทุกประเทศ ขณะที่ระบบป้องกันค่าใช้จ่ายที่เกิน หรือเครดิตลิมิตก็พบว่ามีปัญหาเนื่องจากระบบมีความล่าช้า

 

“โรมมิ่ง เป็นเทคโนโลยีแบบเก่าและประโยชน์ที่ได้มีเพียงเรื่องเดียวคือ การได้ใช้เลขหมายเดิมเพื่อสะดวกในการติดต่อ เพราะยังมีระบบอื่นเข้ามาแทนที่ได้ เช่น การซื้อซิมในประเทศนั้น การใช้ระบบวีโอไอพีหรือโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะมีราคาถูกกว่า  สำหรับแนวทางในการป้องกันปัญหาบริษัทควรแยกสัญญาการสมัครระหว่างบริการโรมมิ่งเสียง และดาต้า  รวมถึงเพื่อแก้ปัญหาบิลช็อคและเครดิตลิมิตที่ล่าช้า บริษัทอาจทำ “ซิมการ์ดโรมมิ่ง” เป็นระบบเติมเงิน ที่เป็นบริการเหมาจ่าย เช่น เหมาจ่าย 15 วัน 5,000 บาท  โดยเชื่อมสัญญาณจากเบอร์เดิมมายังซิมโรมมิ่ง และถูกตัดอัตโนมัติหากใช้เกินราคาเหมาจ่าย ก็จะแก้ปัญหาได้ อีกแนวทางคือการให้ข้อมูลกับผู้บริโภค ซึ่งแต่ละบริษัทควรกำหนด Check list หรือบัญชีรายการข้อมูลที่ต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการทุกรายรับทราบก่อนใช้บริการ เช่น บริษัทคิดเงินกับค่าอะไรบ้าง เพราะปัจจุบันแต่ละบริษัทคิดไม่เหมือนกัน ” นายประวิทย์กล่าว

 

ผอ.สบท.กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคนั้น ล่าสุดมีกรณีที่เป็นเรื่องร้องเรียนที่มารดาส่งบุตรไปเรียนอินเดียและเปิดใช้บริการโรมมิ่ง เมื่อเปิดใช้บริการได้เพียง 3 วัน ถูกคิดค่าบริการไปนับแสนบาท บริษัทจึงระงับการใช้บริการเนื่องจากใช้เกินการจำกัดวงเงินสูงสุด แต่บริษัทยังเปิดให้สามารถรับสายเรียกเข้าได้ ซึ่งแม้ใช้เพื่อรับสายอย่างเดียวภายใน 5 วัน ก็ถูกคิดค่าบริการไปเกือบสองแสนบาท  เนื่องจากผู้ใช้บริการไม่ทราบว่า รับสายก็เสียค่าบริการ

 

“สำหรับกรณีนี้มีสองประเด็นคือ ผู้ร้องไม่ทราบข้อมูลตั้งแต่แรกใช้บริการ และอีกประเด็นคือ เมื่อมีการระงับบริการแล้ว แต่บริษัทยังคงไม่ระงับบริการรับสายเรียกเข้า โดยอ้างว่าเป็นมาตรฐานเดียวกับบริการในประเทศ นั่นคือ หากผู้ใช้บริการใช้บริการเกินกว่าวงเงินที่กำหนด บริษัทมีสิทธิระงับบริการได้ โดยผู้ใช้ยังสามารถรับสายเรียกเข้าได้ตามปกติ แต่การอ้างนี้ไม่ถูกเพราะการรับสายเรียกเข้าในประเทศไทย ผู้ใช้บริการไม่ต้องชำระค่าบริการ แต่ในต่างประเทศคิดค่าบริการ โดยที่ประเทศอินเดียที่ถูกเรียกเก็บอัตรานาทีละ 80-86 บาท “ นายประวิทย์กล่าว

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน