ยัดข้อหา'ธุรกิจต่างด้าว' สะเทือนฮัลโหล3 จี

กลายเป็นศึกสายเลือดไปซะแล้วเมื่อค่ายมือถือเบอร์สาม ทรูมูฟ หรือ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด เปิดเกมเกทับค่ายมือถือเบอร์สอง ดีแทค หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ด้วยการให้ตัวแทนบุกกองปราบปรามเมื่อวันที่  14 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเข้าแจ้งความต่อตำรวจกองปราบปรามให้ดำเนินคดีกับ ดีแทค และ กลุ่มบุคคลและกลุ่มบริษัทที่มีพฤติกรรมสนับสนุนคนต่างด้าว คือ ดีแทค ที่เป็นนิติบุคคลให้สามารถดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมที่เป็นธุรกิจต้องห้ามของคน ต่างด้าว โดยหลีกเลี่ยงพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 4
มูลเหตุหลัก ๆ ที่ ทรูมูฟ ต้องบุกกองปราบเพราะแค้นฝังหุ่นกรณีที่ ดีแทค ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางกรณีที่ บริษัท กสทโทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท อนุมัติให้บริษัทในเครือทรูมูฟ ได้พัฒนาโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี ด้วยเทคโนโลยีเอชเอสพีเอ

***ย้อนปมร้อน
เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดีแทค ได้ยื่นคำร้อง บมจ.กสท โทรคมนาคม และ คณะกรรมการ (บอร์ด) กสท ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้พิจารณาถึงความถูกต้องตามกฎหมายของสัญญาระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม กับกลุ่ม บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ในการร่วมลงทุนเพื่อให้บริการมือถือระบบซีดีเอ็มเอและเอชเอสพีเอ ที่ได้เซ็นสัญญาไปเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2554 และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินด้วย


เหตุผลข้อเรียกร้องของ ดีแทค ให้คุ้มครองฉุกเฉินและมีมาตรการบรรเทาทุกข์นั้น ดีแทคได้เสนอข้อเรียกร้อง 3 ประเด็น คือ ประเด็นแรก ขอให้ศาลมีคำสั่งให้บอร์ด กสท ยกเลิกมติที่ประชุม ที่อนุมัติให้ฝ่ายบริหารของ กสท ไปดำเนินการเซ็นสัญญาให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3 จี เอชเอสพีเอร่วมกับกลุ่มทรู  และ ขอให้ กสท ยกเลิกธุรกรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับการสัญญาฉบับดังกล่าว และ ประเด็นสุดท้ายให้ กสท ระงับการดำเนินงานทุกอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้มีการพิจารณาถึงความถูกต้องตามกฎหมายของสัญญาระหว่าง กสท และกลุ่มทรู จนกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งหมดจะได้ตรวจสอบและรับรองการดำเนินการทางธุรกิจดังกล่าวว่าถูกต้องตาม กฎหมาย


แต่ทว่าในวันไต่สวนคดีของศาลปกครองกลางระหว่าง กสท และ ดีแทค ปรากฏว่ากลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นมีผู้บริหารของ ทรูมูฟ เข้ามานั่งรับทราบไต่สวนและหนึ่งในนั้นมีนายอธึก อัศวานันท์ รองประธานกรรมการ และ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกฎหมาย ของกลุ่มทรู ร่วมรับฟังการไต่สวนในครั้งนั้นด้วย

เพราะใคร ๆ ก็รู้ดีว่า อธึก อัศวานันท์ เป็นผู้ที่มีความรอบรู้ทางด้านกฎหมายตัวยงและมีสายสัมพันธ์เป็นเลิศในกลุ่ม ตุลาการ เพราะถ้าใครค้าความกับกลุ่มทรูแล้วส่วนใหญ่จะแพ้คดี เพราะแม้กรณีที่ ออเร้นจ์ เอสเอ เข้ามาถือหุ้นในบริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นทรูมูฟ) ต้องบอกว่า อธึก เป็นหนึ่งในผู้ที่ต่อรองราคาให้กลุ่มทรู ซื้อกิจการต่อจากออเร้นจ์ ในราคาเพียงบาทเดียวเท่านั้น!!!


***หยิบเรื่องต่างด้าวเกทับ
หลังศาล สุดศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมยกคำร้อง ขอคุ้มครองชั่วคราวของ ดีแทค ฟ้อง กสท  แต่รับฟ้องข้อหามติของคณะกรรมการ บมจ.กสท ไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้พิจารณาเท่านั้น

ปฏิบัติการการเกทับและเอาคืนจึงได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ทรูมูฟ ได้บุกกองปราบปรามให้ดำเนินคดีกับ ดีแทค และกลุ่มบุคคลและกลุ่มบริษัทที่มีพฤติกรรมสนับสนุนคนต่างด้าว คือ ดีแทค ที่เป็นนิติบุคคลให้สามารถดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมที่เป็นธุรกิจต้องห้ามของคน ต่างด้าว ซึ่งการฟ้องครั้งนั้นในรายงานดังกล่าวระบุว่า ดีแทค ซึ่งมีเทเลนอร์ที่เป็นรัฐวิสาหกิจต่างประเทศเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เข้ามาประกอบธุรกิจหรือครอบงำกิจการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เนื่องจาก คลื่นความถี่หรือ Air Wave ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติที่มีค่า และมีใช้อยู่อย่างจำกัดแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลแก่ประเทศไทยอีกด้วย

โดยดีแทค แจ้งสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวกับกระทรวงพาณิชย์ไว้เพียงร้อยละ 49 แต่ปรากฏว่า บริษัท เทเลนอร์ฯ ได้แจ้งข้อมูลการถือหุ้นต่อตลาดหลักทรัพย์ฯที่ประเทศนอร์เวย์และประเทศ สิงคโปร์ว่า บริษัท เทเลนอร์ฯ ซึ่งรัฐวิสาหกิจต่างประเทศ ถือหุ้นในดีแทคเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 66.50 ซึ่งเป็นการกระทำผิด ฝ่าฝืนกฎหมายไทยอย่างชัดแจ้ง  

ไม่เพียงแต่แจ้งกองปราบปรามเท่านั้น แต่ทว่า ทรูมูฟ ยังไปบุกถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ยื่นหนังสือต่อ นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อให้ตรวจสอบว่า ดีแทค เป็นบริษัทต่างด้าว ที่มีผู้ถือหุ้นต่างด้าวถือหุ้นกว่า 71.35 % เพราะทาง ทรู อ้างว่าได้ตรวจสอบเรื่องนี้มานานกว่า 3 ปี

อีกทั้ง พระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่ใช้มานานกว่า 10 ปี จึงมีการใช้ประโยชน์จาก ช่องว่างทางกฎหมายซึ่งพฤติกรรมของ ดีแทค ไม่ได้มีเฉพาะการให้ต่างด้าวเข้าถือหุ้นในบริษัทเท่านั้น แต่มีการถือหุ้นถึง 5 ลำดับที่มีคณะกรรมการ แหล่งเงินทุน และความเกี่ยวข้องเดียวกัน มีการออกหุ้นบุริมสิทธิให้กับผู้ถือหุ้นต่างด้าว โดยได้รับเงินปันผลจำนวนหลายพันล้านบาท ขณะที่ผู้ถือหุ้นคนไทยได้รับเงินปันผลเพียง 50 สตางค์ต่อหุ้นเท่านั้น

ขณะที่ นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า  จะตรวจสอบข้อมูลอย่างเปิดเผยและจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายรวมทั้งจะให้ ความร่วมมือกับกองปราบปราม หากมีการร้องขอมา

ส่วนทางด้านนายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ ดีแทค ก็มั่นใจว่าการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นนั้นดำเนินการถูกต้อง และ โปร่งใส เป็นไปตามกฎหมายของไทย

ถัดจากนี้ต้องจับตาดูว่าแผนเกทับของ "ทรูมูฟ" ที่หยิบประเด็นเรื่องการถือหุ้นต่างด้าวมาเป็นประเด็นค้าความกับ "ดีแทค" จะสรุปลงเอยอย่างไรเพราะกรณีเรื่องถือครองหุ้นต่างด้าวนั้นกลุ่มชินคอร์ปอ ยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบกรณีของ กุหลาบแก้ว ที่เข้ามาถือหุ้นแต่ตอนนี้ยังไม่มีบทสรุปแต่ประการใด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,646 23-25  มิถุนายน พ.ศ. 2554

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน