กทช.ขยับไลเซนส์3จีเป็น1.28หมื่นล. เบอร์เดียวทุกระบบ"ก.ย.นี้"จ่ายค่าธรรมเนียม99บาท

บอร์ด "กทช." มีมติให้คิดค่าธรรมเนียมคงสิทธิเลขหมายครั้งละ 99 บาท-ย้ายค่ายได้ใน 3 วัน สั่งเร่งทดสอบระบบ หวั่นโอนย้ายช่วงแรกมีปัญหา คาดอาจต้องขยับเวลาเปิดไปเดือน ก.ย. พร้อมเดินหน้าจัดเตรียมดันแผนยุทธศาสตร์บริการทั่วถึงใหม่ ขณะที่เงื่อนไขประมูลใบอนุญาต 3G เสร็จแล้ว ขยับราคาเริ่มต้นประมูลเป็น 1.28 หมื่นล้าน ยึดเกณฑ์ N-1



นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กทช. (30 มิ.ย.2553) มีมติให้คิดค่าธรรมเนียมการคงสิทธิเลขหมาย (นัมเบอร์พอร์ตทาบิลิตี้) บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ 99 บาท พร้อมกำหนดให้บริษัทเคลียริ่งเฮาส์ดำเนินการย้ายให้เสร็จภายใน 3 วัน โดยขณะนี้ได้เร่งให้ทุกบริษัททดสอบระบบทั้งหมดให้เสร็จทันเปิดให้บริการภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้ แม้ ผู้แทนจากเคลียริ่งเฮาส์จะไม่มั่นใจว่าจะทันตามกำหนดเวลาที่วางไว้หรือไม่

"เราได้กำชับไปแล้วว่า ต้องทำให้ระบบเสถียรที่สุด เพราะช่วงแรกที่เปิดให้มีการโอนย้ายระบบได้อาจมีลูกค้าจำนวนมากประสงค์จะใช้บริการนี้ โดยขณะนี้ กทช.ยังยืนยันว่า ต้องเปิดให้ได้ภาย 31 ส.ค.นี้ ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมที่เครือข่ายผู้บริโภคมองว่าอาจแพงเกินไป ตนคิดว่าเมื่อถึงเวลา จริง ๆ ประชาชนจะไม่ต้องจ่ายเอง บรรดาโอเปอเรเตอร์จะรับภาระแทน ซึ่งเป็น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยในต่างประเทศ"

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจาก กทช. กล่าวว่า แม้ กทช.จะยังไม่เลื่อนเวลาเปิดให้บริการออกไปแต่มีแนวโน้มว่าจะเปิดไม่ทันใน 31 ส.ค. ด้วยเหตุผลทางเทคนิคของเคลียริ่งเฮาส์ที่พบปัญหามาก แต่คาดว่าอย่างช้าที่สุดไม่เกินสิ้นเดือน ก.ย.

ขณะที่ความคืบหน้าของร่างหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตให้บริการ 3G นั้น นายสุรนันท์เปิดเผยว่า บอร์ดได้รับทราบความเห็นที่ได้เปิดรับฟังจากประชาชนแล้ว แต่ต้องขอเวลาพิจารณาก่อน โดยในวันเสาร์ที่ 3 ก.ค.นี้บอร์ด กทช. จะประชุมเรื่องนี้กันอีกครั้ง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องราคาตั้งต้นในการประมูล

"ราคาเริ่มต้นจะกำหนดกันกี่บาทก็ได้ แต่ต้องอธิบายได้ว่า ทำไมใช้ราคานี้ ตอนนี้มูลค่า 1 หมื่นล้าน เป็นตัวเลขที่เหมาะสม มีเหตุผลอธิบายได้ หากจะมีการเปลี่ยนราคาต้องมีเหตุผล และมีข้อมูลประกอบการพิจารณาด้วย"

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า คณะทำงาน 3G ของ กทช.ได้มีการปรับราคาเริ่มต้นประมูลจาก 1 หมื่นล้านบาท เป็น 1.28 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นราคาเต็มจำนวนที่คาดว่าจะได้ ทั้งยังคงเงื่อนไข N-1 ที่สงวนสิทธิการลดจำนวนใบอนุญาตลงน้อยกว่าจำนวนผู้เข้าประมูลไว้ตามเดิม แต่ราคาประมูลของ ใบอนุญาตที่เหลือจะยึดราคาใบอนุญาตที่ 2 เป็นเกณฑ์

นายสุรนันท์กล่าวถึงกรณีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะ กรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ทำหนังสือถึงเลขาธิการ กทช.ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับอำนาจในการให้ใบอนุญาต 3G ของ กทช. และเสนอว่า ควรหาข้อยุติ ในประเด็นนี้ก่อน เพื่อไม่ให้มีการฟ้องร้องภายหลัง และหากจะประมูลควรกำหนดราคาและอัตราค่าตอบแทนแต่ละปีไม่ให้ ต่ำกว่าส่วนแบ่งรายได้สัมปทานที่ได้รับจากเอกชนที่ได้รับสัมปทาน 2G ในปัจจุบัน ทั้งนี้ กทช.ได้ทำหนังสือสอบถามกลับไปที่กระทรวงการคลังแล้วว่า หนังสือดังกล่าวเป็นนโยบายของกระทรวงการคลัง หรือเป็นความเห็นของเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ กทช.ยังมีนโยบายที่จะแก้ไขเค้าโครงของการให้บริการโทรคมนาคม พื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งแต่เดิมการใช้เงินกองทุน USO พูดถึงแต่การประชาสงเคราะห์ให้ผู้ด้อยโอกาส ไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจนว่าประชาชนแต่ละกลุ่มต้องได้รับโครงสร้างพื้นฐานอย่างไรบ้าง ไทยจะอยู่ตรงไหนในอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้งบริการบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ตชุมชน แต่ต่อไปจะยึดคนเป็น ที่ตั้ง ว่าเขาต้องได้บริการที่ทั่วถึงอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใด กลุ่มอาชีพใด ไม่ใช่แค่คนด้อยโอกาส

เมื่อมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนจะทำให้รู้ว่าประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านไอทีอยู่ตรงไหน ซึ่งถือเป็นภารกิจที่ต้องร่วมกันหลายฝ่าย โดย กทช.จะเป็นผู้กำหนดกรอบให้สอดคล้อง แม้ปัจจุบันไทยจะมีแผนไอซีทีแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว แต่ยังไม่ได้กำหนดตัวชี้วัดเป็นรูปธรรม ขณะที่นโยบายของ กทช.จะเอาไปดูแลในส่วนของการให้บริการที่ทั่วถึง

ต่อไปการลงทุนของกองทุน USO จะได้ชัดเจน โดยแผนนี้จะเป็นยุทธศาสตร์ของการบริการทั่วถึง ซึ่งดูความเหมาะสมใน 4 มิติ คือ พื้นที่ คุณภาพ สปีดความเร็วที่กำหนดชัดเจนเป็น Mbps ราคาที่ประชาชนจะต้องจ่ายสำหรับระดับควาามเร็วต่าง ๆ โดย กทช.จะใช้อำนาจในส่วนของกลไกให้ใบอนุญาต และการประสานความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ คาดว่าปลายเดือนนี้จะเริ่มนำร่างแผนยุทธศาสตร์มารับฟังความเห็นได้

วันที่ 05 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4224  ประชาชาติธุรกิจ

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน