กทช.เร่งออกไลเซนส์ไวแม็กซ์ก.ย.นี้พร้อม3จี

" กทช." ฟิตจัดเตรียมคลอดไลเซนส์ "ไวแม็กซ์" พร้อมใบอนุญาตมือถือ 3G เดินหน้าจัดประชาพิจารณ์ร่างหลักเกณฑ์การ ออกไลเซนส์ Wi-Max ต้นเดือน ก.ค. กำหนดกรอบเบื้องต้นให้บริการเชิงพาณิชย์ใช้ความถี่ 2.3 GHz กัน 2.5 GHz สำหรับบริการสาธารณะ จำกัดแบนด์วิดท์เจ้าละ ไม่เกิน 30 MHz เปิดทาง "ทีโอที" โอนความถี่ส่วนเกินให้รายอื่นใช้ได้



พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยความคืบหน้าการออกใบอนุญาตอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง Wi-Max ว่า กทช.กำหนดนโยบายในการให้ใบอนุญาต Wi-Max บนความถี่ 2.3 GHz และ 2.5 GHz โดยความถี่ย่าน 2.3 GHz จะเป็นการออกใบอนุญาตเพื่อให้บริการในเชิงพาณิชย์ ส่วนความถี่ย่าน 2.5 GHz จะใช้สำหรับให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง (USO) และกำหนดให้ผู้ถือครองความถี่ 2.3 GHz ปัจจุบันยื่นความจำนงขอให้บริการ Wi-Max ได้ แต่จำกัดแบนด์วิดท์ในการให้บริการไว้รายละไม่เกิน 30 MHz ซึ่งผู้ถือครองความถี่ย่านนี้เกินกว่า 30 MHz ต้องดำเนินการตามประกาศ กทช.ว่าด้วยการโอนคลื่น เพื่อให้ผู้อื่นใช้ความถี่ส่วนเกินได้

ส่วน ผู้ที่ถือครองความถี่ย่านดังกล่าว แต่ไม่ประสงค์ให้บริการ Wi-Max ต้องเข้าสู่กระบวนการเจรจาเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการและมาตรการเยียวยา เพื่อลดผลกระทบ โดยในปัจจุบันมีบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพียงรายเดียวเท่านั้นที่มีความถี่เกินกว่า 30 MHz เพราะถือครองความถี่อยู่ 64 MHz ดังนั้นในขั้นแรก ทีโอทีต้องแจ้งแก่ กทช.ก่อนว่าประสงค์จะให้บริการ Wi-Max หรือไม่ ภายใน 30 วันหลังจากประกาศ กทช.มีผลบังคับใช้ หากต้องการให้บริการก็จะให้บริการได้ 30 MHz ความถี่ที่เหลือทำได้ 2 วิธี คือ 1.คืนความถี่แก่ กทช. เพื่อให้ กทช.นำไปจัดสรรแก่ผู้ให้บริการรายใหม่ หรือ 2.ดำเนินการโอนคลื่นความถี่เพื่อให้ ผู้ให้บริการรายอื่นนำไปให้บริการได้

พ. อ.นทีกล่าวต่อว่า กระบวนการจัดการความถี่ส่วนเกินเป็นหน้าที่ของทีโอทีที่ต้องตัดสินใจว่าจะ โอนคลื่นแก่ใครและวิธีไหน ทั้งนี้ กทช.เปิดกว้างแก่ผู้ประกอบการว่าจะเลือกให้บริการทั่วประเทศหรือให้บริการ เฉพาะจังหวัดก็ได้ แต่ใบอนุญาตจะเป็นใบอนุญาตแบบที่ 3 มีระยะเวลาอนุญาต 10 ปี

สำหรับผู้ที่ถือครองความถี่อยู่เดิม แต่มีแบนด์วิดท์ไม่ถึง 30 MHz สามารถแสดงความจำนงขอให้บริการได้เลย แต่ด้วยแบนด์วิดท์น้อยอาจมีข้อจำกัดในการให้บริการ จึงเหมาะที่จะให้บริการได้ในระดับจังหวัดเท่านั้น ส่วนความถี่ในย่าน 2.5 GHz เป็นย่านที่มีการใช้งานร่วมกับกิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และมีความถี่เหลือสำหรับจัดสรรเพียง 40 MHz เท่านั้น

ดังนั้น กทช.จะใช้ความถี่ย่านนี้เพื่อให้บริการ USO เน้นให้บริการในจังหวัดที่มีรายได้ต่อประชากรน้อยประมาณ 15-20 จังหวัด และ กทช.จะกำหนดอัตราค่าบริการในราคาที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยจะควบคุมราคาค่าบริการไว้ที่ 5 ปี และจะประกาศรับสมัครผู้ดำเนินโครงการในพื้นที่เหล่านี้ และดำเนินการคัดเลือกด้วยวิธีประมูลแบบ reverse auction กล่าวคือเลือกผู้ที่ของบฯอุดหนุนจาก กทช.น้อยที่สุด

ทั้งนี้ กทช.กำหนดรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม ในวันที่ 11 มิ.ย. 2553 นี้ และจัดรับฟังความเห็นสาธารณะเกี่ยวกับร่างประกาศ กทช. เรื่องการให้บริการ Wi-Max ในต้นเดือน ก.ค. จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการปฏิบัติและน่าจะเริ่มออกใบอนุญาตได้ในเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับกำหนดการออกใบอนุญาตโทรศัพท์มือถือ 3G

พ. อ.นทีกล่าวว่า การกำหนดให้ผู้ให้บริการใช้แบนด์วิดท์ได้รายละไม่เกิน 30 MHz เนื่องจากต้องการจำกัดการถือครองความถี่ของผู้ให้บริการไม่ให้มีรายใดราย หนึ่งถือครองคลื่นไว้เยอะเกินไป หรือถือครองไว้เฉย ๆ โดยไม่นำมาทำประโยชน์ หากมีเอกชนรายใดรับใบอนุญาต 3G ไปแล้ว และต้องการขอรับความถี่ Wi-Max ด้วย จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าทำได้เพราะขัดกับหลักการของ กทช.

 

วันที่  14 มิถุนายน 2553 นสพ.ประชาชาติธุรกิจ

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน