ประชาชน 1,500 ชื่อมอบอำนาจฟ้องคดีทวงคืนท่อก๊าซจาก ปตท.

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสว.รสนา อดีตผู้ฟ้องคดีเพิกถอนการแปรรูป ปตท. นำรายชื่อประชาชนกว่า 1,500 คน เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้มีคำสั่งให้รัฐบาลติดตามทวงคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งบนและในทะเลจาก บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)กลับมาเป็นของรัฐ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ก๊าซธรรมชาติในราคาที่เป็นธรรม และไม่ถูกเอาเปรียบ

 

 

วันนี้(15 ต.ค.2555) เวลา 11.00 น. นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางสาวรสนา  โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ซึ่งทั้งสามเคยเป็นผู้ฟ้องคดีให้เพิกถอนการแปรรูป ปตท. พร้อมด้วยประชาชนจำนวนกว่า 50 คนได้เดินทางมาที่ศาลปกครองพร้อมกับใบมอบอำนาจจากประชาชนจำนวน 1,500 ชุด เพื่อเป็นการฟ้องร่วม เพื่อยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี กระทรวงพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน และกระทรวงการคลัง ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมด ร่วมกันติดตามทวงคืนที่ดินและระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากบริษัท ปตท จำกัด(มหาชน)

นางสาวรสนา ได้กล่าวถึงสาเหตุในการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางครั้งนี้ว่า เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีที่ขอให้เพิกถอนการแปรรูป ปตท. แม้ศาลจะไม่เพิกถอนการแปรรูป ปตท. แต่ศาลได้มีคำสั่งให้คณะรัฐมนตรี  นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  รวมถึง บมจ.ปตท. ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทรัพย์ที่ได้มาจากสิทธิการใช้ที่ดินเพื่อเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4  ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550  โดยศาลพิจารณาเห็นว่า การที่ปตท.ได้แปรรูปไปเป็นบริษัทเอกชนแล้ว จึงมิได้เป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป จึงไม่สามารถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนที่เป็นของรัฐได้จะต้องโอนคืนให้กับรัฐ ต่อมาได้มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 มอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง รับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามคำพิพากษาของศาล โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาล ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติ

“ปรากฏว่าบริษัท ปตท ทำการโอนมอบทรัพย์สินให้กระทรวงการคลัง เฉพาะที่ดินที่การปิโตรเลียมฯ ได้มาโดยการใช้อำนาจเวนคืนและได้โอนให้กับ บมจ. ปตท. จำนวน 32 ไร่ มูลค่า 7 ล้านบาท, สิทธิเหนือที่ดินเอกชนมูลค่า 1,124 ล้านบาทและทรัพย์สินที่เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ส่วนที่เป็นท่อก๊าซเส้นที่ 1 และ 2 เฉพาะส่วนที่อยู่บนบก มูลค่า 14,008 ล้านบาท ทั้งหมดรวมมูลค่าประมาณ 15,139 ล้านบาท ส่วนท่อเส้น 1 และ 2 ที่อยู่ใต้น้ำ (บริเวณอ่าวไทย) และท่อเส้นที่ 3 ทั้งบนบกและในน้ำไม่ยอมโอนคืนให้ โดยที่ สตง. ได้มีหนังสือทักท้วงไปถึงกระทรวงการคลังว่ายังมีการโอนคืนทรัพย์สินไม่ครบเนื่อง และทรัพย์สินที่ สตง.ตรวจสอบและแจ้งว่า ปตท.จะต้องคืนนั้นมีมูลค่าประมาณ 47,664 ล้านบาท ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้มีหนังสือขอให้กระทรวงการคลังดำเนินการติดตามทวงคืนทรัพย์สินจาก ปตท. แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใด ๆ ตนในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ได้รับความเสียหายจากการเพิกเฉยของกระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงานจึงต้องมาฟ้องต่อศาลปกครองในครั้งนี้”

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้มีคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อแจ้งว่า ยังมีการคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน แต่ศาลพิจารณาเห็นว่าเราไม่ใช่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายคือกระทรวงการคลัง เราจึงได้มีหนังสือถึงกระทรวงการคลังเพื่อให้ดำเนินการติดตามทวงคืนทรัพย์สินจาก ปตท. แต่ปรากฏว่า เมื่อ ปตท. ได้ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลได้ลงบันทึกในคำร้องของ ปตท.ว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รัฐบาล จึงใช้บันทึกข้อความของศาลมาเป็นข้ออ้างในการยุติการติดตามทวงคืนทรัพย์สินจาก ปตท. การฟ้องคดีนี้ จึงเป็นการฟ้องเพื่อให้ศาลมีคำวินิจฉัยและมีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการติดตามทวงคืนท่อก๊าซที่ สตง.รายงานว่ายังคืนทรัพย์สินไม่ครบ

“แม้การฟ้องต่อศาลปกครอง มูลนิธิฯ เพียงรายเดียวก็สามารถฟ้องแทนผู้บริโภคได้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสุดที่เคยมีมา แต่เราเห็นว่าปัญหาการผูกขาดในกิจการพลังงานมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง เราจึงเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมเข้าชื่อมอบอำนาจในการเข้าร่วมฟ้องคดีนี้ โดยดำเนินการในสองอาทิตย์ที่ผ่านมา มีผู้มอบอำนาจฟ้องคดีทั้งสิ้นประมาณ 1,500 ราย แสดงให้เห็นชัดเจนว่าประชาชนต่างได้รับความเดือดร้อนจากการที่บริษัทเอกชนได้สิทธิผูกขาดในกิจการท่อก๊าซกันอย่างถ้วนหน้าและต้องการให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว”

นอกจากนี้นางสาวรสนา โตสิตระกูล ยังระบุอีกว่า หากไม่ติดตามทวงคืนทรัพย์สินจาก ปตท. รัฐจะขาดรายได้ จากค่าผ่านท่อก๊าซที่บริษัท ปตท. ได้รับประมาณปีละ 23,000 ล้านบาท แต่รัฐได้ค่าเช่าเท่าส่วนที่ บริษัท ปตท. คืนเพียง 180-550 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น และบริษัท ปตท.สามารถผูกขาดราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะไม่เป็นไปตามกลไกตลาดและคนไทยจะใช้ก๊าซในราคาที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งยังเสนอให้ภาครัฐจัดลำดับความสำคัญ ในการใช้ก๊าซแอลพีจี ที่ได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติในไทยให้ภาคประชาชนก่อน หากไม่เพียงพอสำหรับภาคปิโตรเคมี ก็ให้บริษัท ปตท. รับภาระ นำเข้าก๊าซแอลพีจีเอง

 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน