บริการสุขภาพ

สธ.สรุปแก้ไข 12 ประเด็นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ

กรุงเทพฯ 15 ต.ค.-ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สรุปแก้ไข 12 ประเด็น ในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข อาทิ แก้ชื่อร่างเป็นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายและผู้รับบริการที่ได้รับผลกระทบจากระบบบริการ สาธารณสุข แก้ไขนิยาม สัดส่วนกรรมการ และการจ่ายเงินชดเชย รวมทั้งให้ยุติฟ้องร้องอาญา หากทำสัญญาประนีประนอมและได้เงินชดเชยแล้ว ข้อสรุปนี้จะเสนอ รมว.สาธารณสุข  ในวันจันทร์นี้

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณ สุข เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข โดยมีตัวแทนจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ศิริราชพยาบาล วชิรพยาบาล โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป สภาวิชาชีพต่าง ๆ อาทิ สภาเภสัชกรรม เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด และสภาการพยาบาล ตัวแทนของภาคประชาชน และเอ็นจีโอ กระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุม โดยใช้เวลาหารือนาน 7 ชั่วโมง ซึ่งจะมีการรวบรวมข้อมูลผลการประชุมที่ได้ในวันนี้ (15 ต.ค.) เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม 2553 โดยจะเสนอในรูปแบบของการหารือร่วม 3 ฝ่าย 1.กลุ่มแพทย์ที่คัดค้าน ขอให้ชะลอร่าง พ.ร.บ.ฯ  2.ข้อเสนอของภาคประชาชน และ 3. ข้อเสนอของกลุ่มแพทย์และภาคประชาชน

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันระหว่างกลุ่มแพทย์และภาคประชาชนได้ข้อสรุปร่วมกัน มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวทั้งสิ้น 12 ประเด็น ได้แก่ 1.ชื่อของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากระบบบริการสาธารณสุข ให้เปลี่ยนเป็นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายและผู้รับบริการที่ได้รับผลกระทบจากระบบบริการ สาธารณสุข ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลง 2.หลักการของกฎหมาย คือ การคุ้มครองผู้เสียหายและผู้รับบริการที่ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณ สุข 3.การเปลี่ยนแปลงคำนิยามที่มุ่งเน้นให้ครอบคลุมการช่วยเหลือทั้งผู้เสียหาย และผู้ให้บริการที่ได้รับผลกระทบ 4.การปรับแก้ไขมาตรา 6 ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวใหม่ เรื่องเกี่ยวกับพิสูจน์ถูกผิด ตามหลักมาตรฐานวิชาชีพ โดยให้ตัดคำว่ามาตรฐานวิชาชีพออกไป เพราะในแต่ละพื้นที่อาจมีความสะดวกหรือมาตรฐานที่แตกต่างกัน เช่น โรงพยาบาลในเมืองกับโรงพยาบาลในถิ่นทุรกันดาร

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า 5.คณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบฯ ให้เพิ่มผู้แทนของปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะเป็นตัวแทนของโรงเรียนแพทย์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่จะเป็นตัวแทนของโรงพยาบาลในสังกัดเหล่าทัพ และให้เพิ่มสัดส่วนของกรรมการในส่วนของกลุ่มแพทย์ เป็นตัวแทน 6 ตำแหน่ง แบ่งเป็นสภาวิชาชีพ 4 ตำแหน่ง ตัวแทนสถานพยาบาล 2 ตำแหน่ง และตัวแทนภาคประชาชน 6 ตำแหน่ง และในสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิให้มีตัวแทนจากด้านสาธารณสุขและภาคสังคมอย่าง ละ 3 ตำแหน่ง

6.ให้สำนักงานเลขานุการกองทุนในร่าง พ.ร.บ.นี้อยู่ในสังกัดกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข  7.การเก็บสมทบเพื่อมาจ่ายเป็นเงินชดเชยให้ผู้เสียหายจะมีความเท่าเทียมกัน โดยในส่วนของโรงพยาบาลรัฐจะหักจากเงินในมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็จะมีการเก็บเงินสมทบเท่าเทียมตามอัตรา 

นพ.ไพจิตร์ ยังกล่าวว่า 8.การพิจารณาการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น จะมีคณะอนุกรรมการพิจารณาที่มีสัดส่วนเท่ากันทั้งตัวแทนของวิชาชีพและภาค ประชาชน และมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ดูแล โดยให้อิงตามแนวทางของมาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  9.เห็นชอบให้มีการยุติการฟ้องร้องทางอาญา หลังจากทำสัญญาประนีประนอมในกรณีรับเงินชดเชยช่วยเหลือแล้ว 10.ในบทเฉพาะกาล ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุน ในช่วงแรกให้มีคณะกรรมการโดยตำแหน่งเท่านั้น 11.เมื่อมีมาตรการการจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีระบบการไกล่เกลี่ยเสริมสร้างความสมานฉันท์ และ 12.การพัฒนาความปลอดภัยป้องกันความเสียหายในระบบบริการนั้น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดทำแผนรายงานเพื่อป้องกันอยู่เสมอ.

สำนักข่าวไทย วันที่ 15 /10/53

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน