บริการสุขภาพ

“ประสาร” หนุน พ.ร.บ.คุ้มครองฯ สุดตัว ชี้ให้ดูเจตนารมณ์

“ส.ว.ประสาร” หนุน พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข อัดคนออกมาคัดค้านควรดูเจตนารมณ์ พ.ร.บ.ให้ถ่องแท้ นักกฎหมาย ย้ำ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ได้ประโยชน์ทั้งแพทย์ ประชาชน แจงยิบมาตรการที่ขัดแย้ง ชี้ กฎหมายต้องประกอบกันหลายฉบับอย่าอ่านฉบับเดียวแล้วมีอคติ ชมรมเภสัชกรชนบท หนุนอีกแรง เร่งทำความเข้าใจ เห็นข้อดีทั้งหมอ-ประชาชน

นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ที่คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ว่า เป็นมายาคติ ที่เริ่มต้นจากผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าจะมองถึงองค์รวมของประชาชนและ บุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้น การคัดค้านจะคว่ำร่างทั้งฉบับ เท่ากับล้มกระดานทั้งหมด แทนที่จะรับร่าง และหาทางปรับปรุงแก้ไขให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์ ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เขียนไว้ดีแล้วโดยพื้นฐาน

“ข้ออ้างที่คัดค้านร่างด้วยเหตุผลว่า จะทำให้แพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขถูกฟ้องร้องมากขึ้นนั้น เป็นเรื่องโกหก เจตนารมณ์ของร่างฉบับของรัฐบาล ระบุชัดเจนว่า ให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาโดยรวดเร็วและเป็นธรรม โดยให้มีกองทุนชดเชยความเสียหาย ส่งเสริมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้กับผู้รับ ทั้งให้ศาลอาจใช้ดุลพินิจในการลดโทษและไม่ลงโทษผู้ให้บริการสาธารณสุขในกรณี ที่ถูกฟ้องคดีอาญาข้อหากระทำการโดยประมาทด้วย” นายประสาร กล่าว

นายประสาร กล่าวอีกว่า หลักสำคัญของกฎหมายนี้ นอกจากขยายการบริการครอบคลุมประชากรถึง 100% แล้ว ยังยึดหลักมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือช่วยเหลือและชดเชยโดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด ตามหลักสากล คือ ‘No fault compensation’ เพราะการรอพิสูจน์จะเสียเวลามาก และทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานทั้งสองฝ่ายในระหว่างการรอคอย จะเห็นจากตัวอย่างว่า เมื่อ 6 ปีมานี้ นับแต่ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีผลบังคับใช้ มีการจ่ายเงินชดเชยไปเพียง 2,600 กว่าราย จ่ายเงินไปไม่ถึงร้อยละ 0.05 ของเงินกองทุนจากที่ตั้งงบไว้ร้อยละ 1.0 คดีฟ้องร้องที่กลัวกันล่วงหน้าว่าจะเพิ่มมากขึ้น ก็กลับลดลง และมีไม่กี่รายที่ได้รับเงินชดเชยแล้วไปฟ้องร้องต่อ ตรงกันข้าม กฎหมายมาตรานี้กลับสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหมอกับคนไข้ด้วย ดังกรณีคนไข้ผ่าตัดตาที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ที่ได้รับความเสียหายถึงขั้นตาบอดไป 10 ราย ก็ได้รับการเยียวยาอย่างดีและรวดเร็วทันใจ จนคนไข้ประทับใจหมออย่างมาก นี่เป็นสิ่งที่ตรวจสอบได้

นายประสาร กล่าวอีกว่า คนที่ออกมาคัดค้านครั้งนี้ ควรศึกษารายละเอียดและเจตนารมณ์ของร่างให้ถ่องแท้ จะพบว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เอื้ออำนวยให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ โรงพยาบาลไม่ต้องจ่ายเงินค่าเสียหาย เพราะกองทุนมาทำหน้าที่แทน ญาติและคนไข้ก็ได้รับการเยียวยาอย่างทันกาล เป็นความสุขของทุกฝ่าย จึงควรที่จะร่วมกันผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ให้เกิดผลโดยเร็ว

ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส อาจารย์ ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ ของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... หากพิจารณาจะพบว่า เจตนารมณ์ของกฎหมาย ทำเพื่อผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์อย่างชัดเจน เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อเยียวยาความเสียหาย โดยไม่ต้องฟ้องร้องในชั้นศาล หากอ่านร่าง พ.ร.บ.ให้ละเอียดโดยไม่มีอคติ จะเห็นว่า มีการเขียนอย่างละเอียดรอบคอบ เช่น มาตรา 5 ที่แม้จะระบุว่าไม่ต้องมีการพิสูจน์ถูกผิด และเมื่ออ่านในมาตรา 6 ก็มีการเขียน ว่า เหตุการณ์แบบใดบ้างที่จะร้องขอการเยียวยาไม่ได้ โดยระบุว่า 1.เกิดความเสียหายจากความปกติธรรมดาของโรค 2.แพทย์ทำตามมาตรฐานวิชาชีพแล้ว

ศ.แสวง กล่าวว่า สำหรับประเด็นสัดส่วนคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนวิชาชีพ ที่ถูกคัดค้าน เมื่อพิจารณา ก็พบว่า มีทั้งปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ตัวแทนจากสถานพยาบาล รวมแล้วมีแพทย์ประมาณ 5 ท่าน ทั้งนี้ การมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ในคณะกรรมการ ก็ไม่มีความจำเป็น เพราะร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด แต่หากจะมีการเพิ่มเติมตัวแทนจากสภาวิชาชีพในสาขาอื่นๆ หรือมีตัวแทนจากราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นรายละเอียดที่สามารถจะตกลงกันได้ในภายหลัง

ศ.แสวง กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่เป็นปัญหาเรื่องการฟ้องร้องต่อศาลภายหลังจากมีการจ่ายค่าชด เชยช่วยเหลือแล้ว ตาม พ.ร.บ.ระบุว่า หากมีการรับเงินช่วยเหลือแล้ว และมีการพิพากษาให้มีการจ่ายเงินอีก ก็ให้หักเงินที่มีการช่วยเหลือไปแล้วก่อนหน้านั้นออกไป สำหรับการฟ้องคดีอาญาซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไป ในมาตรา 45 ได้ระบุว่า ถ้าผู้เสียหายทำสัญญาประณีประนอมแล้ว แพทย์สามารถนำสัญญาดังกล่าว ยื่นต่อศาลเพื่อให้ศาลลดหย่อนโทษได้ ซึ่งหมายถึงศาลจะสั่งลงโทษน้อยกว่า หรือไม่ลงโทษก็ได้ ซึ่งไม่มีกฎหมายวิชาชีพฉบับใดบัญญัติเป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพเท่ากฎหมายฉบับ นี้ เพราะไม่ต้องมีการรับผิดแต่อย่างใด

ศ.แสวง กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลมีความกังวลในเรื่องกรณีตกลงกันไม่ได้ ผู้เสียหายจะฟ้องร้องต่อศาล ซึ่งจะพิจารณากฎหมายฉบับอื่นประกอบ คือ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ตามมาตรา 5 ระบุชัดเจนว่า กรณีเกิดความเสียหายให้ฟ้องหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งหมายถึงกระทรวงสาธารณสุข แต่จะฟ้องแพทย์ หรือโรงพยาบาลไม่ได้

“กฎหมายโดยทั่วไปจะมีการใช้ร่วมกันหลายฉบับ ไม่สามารถอ่านแค่กฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งแล้วตีความ เพราะเวลาใช้จริงจะมีการดูกฎหมายหลายฉบับประกอบกัน ซึ่งเมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุขแล้ว เห็นได้ว่า กฎหมายมีประโยชน์อย่างยิ่งเพราะคุ้มครองประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งไม่อยากให้ใช้อคติหรือเบี่ยงเบนประเด็นทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเสีย ประโยชน์ต่อทุกฝ่าย” ศ.แสวง กล่าว

ภญ. ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ ที่ปรึกษาชมรมเภสัชกรชนบท กล่าวว่า กลุ่มเภสัชชนบท จะร่วมมือกับแพทย์ชนบท เพื่อทำความเข้าใจไปยังวิชาชีพอื่นๆ และชี้แจงต่อเพื่อนสมาชิกทั่วประเทศ เพราะเห็นว่าข้อมูลที่เกิดขึ้น มีความผิดพลาดเข้าใจผิด ซึ่งอยากให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ เพราะร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวถือว่ามีประโยชน์ ทั้งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนประเด็นที่ยังมีความสงสัยและถกเถียง เชื่อว่าจะสามารถคุยกันได้ ในขั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร ไม่น่าต้องเป็นกังวล เพราะประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ประชาชนจะได้รับการคุ้มครอง บุคลากรทางการแพทย์ก็ได้รับการคุ้มครองด้วย

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน