บริการสุขภาพ

เสนอ “หมอสุพรรณ” นั่ง ปธ.คกก.สมานฉันท์บริการสาธารณสุข

สธ.เผยส่งชื่อ “หมอสุพรรณ” เป็นประธานคณะกรรมการเสริมสร้างสมานฉันท์ในระบบ บริการสาธารณสุข เตรียมเดินหน้า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ด้านเครือข่ายภาคประชาชน ได้รายชื่อครบแล้ว ชี้ พร้อมเดินหน้าทำหน้าที่อย่างดี ส่วน สมาพันธ์แพทย์ยันยังไม่พร้อมจะเสนอชื่อ ขณะนักกฎหมายแจง พ.ร.บ.นี้ดีชัวร์

วันที่ 3 ส.ค. หลังจากที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดประชุมเพื่อหาข้อยุติในข้อขัดแย้งจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ...ระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็๋นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบบับดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 ส.ค.โดยให้แต่ละฝ่าย คือ เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายผู้ให้บริการ และภาครัฐ เสนอชื่อตัวแทนที่จะเป็นกรรมการเพื่อพิจารณารายละเอียดของ พ.ร.บ.โดยต่อไปนี้จะเรียกว่า “คณะกรรมการเสริมสรางสมานฉันท์ในระบบ บริการสาธารณสุข” ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ทางตัวแทนในเครือข่ายภาครัฐนั้นได้เสนอชื่อ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 12 เข้าเป็นประธานคณะกรรมการเสริมสรางสมานฉันท์ฯ

โดย นพ.สุพรรณ กล่าวว่า ตนพร้อมที่จะเรียกประชุมคณะกรรมการฯทั้งหมดโดยเร็วที่สุด และอาจจะต้องมีการหารือร่วมกันบ่อยมาก เนื่องจากมีประเด็นของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นปัญหาเห็นไม่ตรงกันมาก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า จะได้ข้อสรุปเบื้องต้นภายใน 2 สัปดาห์ตามที่มีการกำหนดร่วมกัน

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้ อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยว่า ได้เสนอชื่อในส่วนของเครือข่ายภาคประชาชนแก่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แล้ว โดยมีคณะทำงานทั้งหมด 8 คน คือ 1.น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 2.นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ 3.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข ตัวแทนเครือข่ายเกษตรทางเลือก 4.น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก 5.นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ 6. น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ 7.น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 8.นายสมหมาย พูนศรีโรจน์ กรรมการเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ซึ่งหลังจากนี้ตัวแทนจากภาคประชาชนจะเป็นผู้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณา รายละเอียดของ พ.ร.บ.ในขั้นต่อไป

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวว่า ในส่วนตัวแทนจากเครือข่ายแพทย์ผู้ให้บริการสาธารณสุขนั้น ยังไม่มีการเสนอชื่อเข้า สบส.เนื่องจากในการใช้เวลาประชุมร่วมกับ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.เมื่อวาน (2 ส.ค.) นั้น ตนยังคลางแคลงใจว่า ส่วนใหญ่ยังมีคนบางกลุ่มที่เข้าร่วมไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนส่วนมากของประเทศ แต่เป็นประชาชนกลุ่มเอ็นจีโอ อย่างไรก็ตาม วันนี้ สมาพันธ์แพทย์ฯได้เดินทางไปยังพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพื่อยื่นหนังสือให้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับประเด็นการตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย แต่จะต้องรอให้คณะกรรมการชุดนี้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นก่อนที่สภาจะเริ่ม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ ไม่ใช่นำข้อสรุปไปใช้ประกอบในขั้นกรรมาธิการการสาธารณสุข(กมธ.สธ.) สภาผู้แทนราษฎร

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันทั้ง 3 ฝ่ายเป็นเรื่องที่ดีนับว่ามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือประชาชน ดังนั้น การเกิดขึ้นของคณะกรรมการชุดนี้ จะต้องช่วยให้แพทย์ก็น่าจะแก้ปัญหาความไม่เข้าใจกันได้ สำหรับข้อเสนอแนะอื่นๆ นั้น มองว่า คณะทำงานควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มในส่วนของคณะกรรมการตรวจสอบกองทุนด้วย เพื่อที่การใช้เงินในส่วนของกองทุนจะได้เป็นไปอย่างโปร่งใส

ขณะที่ ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส อาจารย์ ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับบประเด็นสัดส่วนคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนวิชาชีพ ที่ถูกคัดค้าน เมื่อพิจารณาก็พบว่า มีทั้งปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ตัวแทนจากสถานพยาบาล รวมแล้วมีแพทย์ประมาณ 5 ท่าน ทั้งนี้ การมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ในคณะกรรมการ ก็ไม่มีความจำเป็นเพราะร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด แต่หากจะมีการเพิ่มเติมตัวแทนจากสภาวิชาชีพในสาขาอื่นๆ หรือมีตัวแทนจากราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นรายละเอียดที่สามารถจะตกลงกันได้ในภายหลัง

ศ.แสวง กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวเห็นว่าวัตถุประสงค์ของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ มีเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทำเพื่อผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์อย่างชัดเจน เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อเยียวยาความเสียหาย โดยไม่ต้องฟ้องร้องในชั้นศาล หากอ่านร่าง พ.ร.บ.ให้ ละเอียดโดยไม่มีอคติ จะเห็นว่า มีการเขียนอย่างละเอียดรอบคอบ เช่น มาตรา 5 ที่แม้จะระบุว่า ไม่ต้องมีการพิสูจน์ถูกผิด และเมื่ออ่านในมาตรา 6 ก็มีการเขียน ว่า เหตุการณ์แบบใดบ้างที่จะร้องขอการเยียวยาไม่ได้ โดยระบุว่า 1.เกิดความเสียหายจากความปกติธรรมดาของโรค 2.แพทย์ทำตามมาตรฐานวิชาชีพแล้ว

“ส่วนประเด็นที่เป็นปัญหาเรื่องการฟ้องร้องต่อศาลภายหลังจากมีการ จ่ายค่าชดเชย ช่วยเหลือแล้ว ตาม พ.ร.บ.ระบุว่า หากมีการรับเงินช่วยเหลือแล้ว และมีการพิพากษาให้มีการจ่ายเงินอีก ก็ให้หักเงินที่มีการช่วยเหลือไปแล้วก่อนหน้านั้นออกไป สำหรับการฟ้องคดีอาญาซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไป ในมาตรา 45 ได้ระบุว่า ถ้าผู้เสียหายทำสัญญาประณีประนอมแล้ว แพทย์สามารถนำสัญญาดังกล่าว ยื่น ต่อศาลเพื่อให้ศาลลดหย่อนโทษได้ ซึ่งหมายถึงศาลจะสั่งลงโทษน้อยกว่า หรือไม่ลงโทษก็ได้ ซึ่งไม่มีกฎหมายวิชาชีพฉบับใดบัญญัติเป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพเท่ากฎหมายฉบับ นี้ เพราะไม่ต้องมีการรับผิดแต่อย่างใด” ศ.แสวง กล่าว

ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ ที่ปรึกษาชมรมเภสัชกรชนบท กล่าวว่า กลุ่มเภสัชชนบท จะร่วมมือกับแพทย์ชนบท เพื่อทำความเข้าใจไปยังวิชาชีพอื่นๆ และชี้แจงต่อเพื่อนสมาชิกทั่วประเทศ เพราะเห็นว่าข้อมูลที่เกิดขึ้น มีความผิดพลาดเข้าใจผิด ซึ่งอยากให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ เพราะร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวถือว่ามีประโยชน์ ทั้งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนประเด็นที่ยังมีความสงสัยและถกเถียง เชื่อว่าจะสามารถคุยกันได้ ในขั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร ไม่น่าต้องเป็นกังวล เพราะประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ประชาชนจะได้รับการคุ้มครอง บุคลากรทางการแพทย์ก็ได้รับการคุ้มครองด้วย

ด้าน นายจุรินทร์ ลักกษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสร้างเสริมสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข ที่เป็นคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย ระหว่างกลุ่มเครือข่ายผู้ป่วย และกลุ่มแพทย์ผู้ให้บริการ และกระทรวงสาธารณสุข ได้ มอบให้ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน คณะกรรมการ และมีคณะกรรมการร่วมเป็น นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ นพ.วิสิทธิ์ ตั้งนภากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำหรับรายชื่อของคณะกรรมการเบื้องต้นคณะกรรมการแพทย์ผู้ให้บริการ 8 คน พญ.พจนา กองเงิน นพ.โชติศักดิ์ เจนพาณิชย์ นพ.ประเสริฐ สันยวิวัฒน์ นพ.ฐานปวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ นพ.วิสุทธิ รัฐเสวี นพ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ

และ ฝ่ายกลุ่มเครือข่ายผู้ป่วย 8 คน ประกอบด้วย นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา นายสัมภาษณ์ กูลศรีโรจน์ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง นายนิมิตร์ เทียนอุดม น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ดร.ยุพดี ศิริสินสุข นางสาวสุภัทรา นาคะผิว นางสาวบุญยืน ศิริธรรม

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 3 สิงหาคม 2553

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน