บริการสุขภาพ

สมาคมแพทย์ขอพบ “มาร์ค” ขอทวน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย ชี้หมดหวังกับ “จุรินทร์”

สมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพ คอตก หลังนายกฯปฏิเสธการขอเข้าพบ กรณีการเสนอให้ทบทวน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ เผย ผิดหวังจาก “จุรินทร์” ที่แก้ปัญหาไม่ได้ เล็งประสาน นพ.อรรถสิทธิ์ คุยกับนายกฯ ขณะที่ "หมอสัมพันธ์ "ยัน ยังคงเห็นด้วยกับการถอนร่าง พ.ร.บคุ้มครองผู้เสียหายฯ ฝากบอกสภาฯ หากกฏหมายถูกประกาศใช้ โปรดรับผิดชอบในการตัดสินใจด้วย

วันนี้ (13 ก.ค. ) พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธาน สมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแห่งประเทศไทย นำตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ประกอบด้วย แพทย์ เภสัชกร และ นักเทคนิคการแพทย์ จำนวน 6 คน แต่งชุดดำเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกของให้ รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ….ออกจากการพิจารณาของสภาก่อน เพื่อนำมาทำประชาพิจารณ์ถึงผลดี ผลเสียของ พ.ร.บ.นี้ แต่ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าพบ โดยมอบหมายให้ตัวแทนของ นางอัญชลี วานิชเทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มารับจดหมายแทน

พญ.เชิดชู กล่าวว่า ทราบว่า นายกรัฐมนตรีจะเข้าทำเนียบฯเพื่อประชุม ครม.จึงมาขอพบ เพื่อยื่นจดหมายซึ่งใช้เวลาเพียง 1-2 นาที หลังจากที่เครือข่ายตัวแทนสภาวิชาชีพฯ รู้สึกหมดหวังกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ที่บอกว่า จะยอมถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จากสภา จึงจำเป็นต้องมาพบนายกรัฐมนตรี ขณะที่รู้สึกผิดหวังที่นายกฯไม่ยอมพบ

ด้านนพ.ศิริชัย ศิลปอาชา ที่ปรึกษาสมาพันธ์สมาคมแพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป กล่าวว่า แพทย์และเครือข่ายสภาวิชาชีพ ไม่ได้คัดค้านการมีกฎหมายฉบับนี้ แต่ต้องการให้รัฐบาล นำ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปแก้ไขใหม่ให้ถูกต้อง ก่อนที่จะเสนอเข้ามาใหม่ เพราะผลกระทบที่ตามมามีผลต่อประชาชนโดยตรง เช่น ในอนาคตแพทย์อาจจะไม่รับคนไข้หนัก โดยเฉพาะคนไข้ที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง เพราะเสี่ยงถูกฟ้อง วิธีที่ทำได้ ก็คือ ส่งต่อคนไข้ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการเสียชีวิตของคนไข้บนรถพยาบาลมากขึ้น คนที่ไม่สมควรตาย อาจจะต้องตาย เพราะแพทย์ไม่กล้าเสี่ยงที่จะรักษา แม้แต่ทำคลอด ถ้าต้องเสี่ยงมากๆ แพทย์ก็คงจะไม่กล้าทำเช่นเดียวกัน

“โดย หลักการแล้ว อยากให้รัฐบาลพิจารณากฎหมายฉบับนี้ให้รอบคอบ โดยเน้นที่ประเด็นสำคัญๆ เช่น การกำหนดเพดานของการจ่ายเงินชดเชยความเสียหาย สำหรับการตั้งคณะอนุกรรมการบริหารกองทุน ควรจะให้ครอบคลุมจากทุกฝ่ายทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ได้รับความเสียหาย ผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่เช่นนั้น อนุกรรมการที่พิจารณาจะกลายเป็นศาลแพ่ง อยู่เหนือกฎหมาย” นพ.ศิริชัย กล่าว

ด้านพญ.พจนา กองเงิน ประธานสมาพันธ์สมาคมแพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป กล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรีไม่ให้เข้าพบ ก็อาจเป็นไปได้ว่า อาจจะติดภารกิจ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสภาวิชาชีพต่างๆ จะเดินหน้าต่อสู้เรื่องนี้ต่อไป โดยล่าสุด ได้พยายามประสานงานผ่านทาง ศ.นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ บิดาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็เป็นแพทย์ และเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ที่มีความเมตตา น่าจะได้รับความเข้าใจมากขึ้น ส่วนการเคลื่อนไหวอื่นๆ นั้น ต้องหารือกันในกลุ่มแพทย์ของสมาพันธ์อีกครั้ง

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการ แพทยสภา กล่าวว่า ตนทราบเรื่องที่สมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแห่งประเทศไทย นำตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม อันประกอบด้วย แพทย์ เภสัชกร และ นักเทคนิคการแพทย์ เข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกของให้รัฐบาลถอน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ….ออกจากการพิจารณาของสภาฯแล้ว แต่ไม่ขอแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่นายกรัฐมนตรีปฏิเสธการขอพบของสมาพันธ์ ฯ เนื่องจากการดำเนินการ ของกลุ่มดังกล่าวเป็นคนละส่วนกับการดำเนินการของแพทย์สภา ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเคลื่อนไหวอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการจัดการของสมาพันธ์ฯ สำหรับแพทยสภาเองขณะนี้ยังไม่ความเคลื่อนไหวใดเพิ่มเติม แต่โดยเจตนารมณ์แล้วยัง ยืนยังเหมือนเดิมทุกประการ ว่า แพทยสภาเห็นด้วยกับการถอนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย ฯ ออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความยุติธรรมกับทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และบุคลากรที่ให้บริการด้านสาธารณสุขทุกฝ่าย แต่ก็คงจะทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะถึงอย่างไรอำนาจการตัดสินใจก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาฯ

" ตอนนี้ในส่วนของแพทยสภาเองยังสามารถทำได้แค่ทักท้วง ให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ที่มีเท่านั้น ส่วนสภาฯจะเห็นควรอย่างไรก็แล้วแต่จะพิจารณา เนื่องจากอำนาจขึ้นอยู่กับสภาฯโดยตรงอยู่แล้ว แต่อยากฝากไว้ว่าหาก พ.ร.บ.ได้รับการประกาศใช้จริงๆ ก็ขอให้รับผิดชอบในสิ่งที่ได้ตัดสินใจลงไปด้วย " นพ.สัมพันธ์ กล่าว

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 13 กรกฎาคม 2553 14:11 น.

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน