บริการสุขภาพ

ถึงเวลาปฏิรูป"ประกันสังคม" พ้น"ข้าราชการ-นักการเมือง"

20 ปี ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กับภารกิจที่มักถูกตั้งคำถามจากประชาชนที่เป็นผู้ประกันตนกว่า 9 ล้านคน ถึงความไม่โปร่งใส ในการบริหารจัดการเงินกองทุน ที่มาจากเงินสมทบของผู้ประกันตนกว่า 7 แสนล้านบาท

เสียงเรียกร้อง จากภาคแรงงานเริ่มดังชัดมากขึ้น เพราะต้องให้มีการปฏิรูประบบประกันสังคมให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ ประกันตนมากที่สุด โดยเฉพาะความพยายามที่จะปรับโครงสร้างในการบริหารจัดการกองทุน สปส.และที่มาของคณะกรรมการบอร์ด สปส.ให้เป็นรูปแบบองค์กรอิสระที่มีความคล่องตัว ตลอดจนกระบวนการตรวจสอบการใช้เงินกองทุน โดยหลุดกรอบคิดภายใต้การบริหารของระบบราชการ และนักการเมือง

วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) บอกว่า ขณะนี้ แรงงานทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ นอกระบบ แรงงานต่างด้าว รวมไปถึงกลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานธนาคาร กำลังระดมพลเพื่อล่ารายชื่อให้ได้ครบ 20,000 ชื่อ ภายใน 15 วัน เพื่อเสนอกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับบูรณาการ

"พวกเราต้องรวบรวมรายชื่อให้ครบ 2 หมื่นชื่อ ภายใน 15 วัน คาดว่าจะทำได้ครบก่อนวันที่ 15 พ.ย.นี้ จากนั้นหลังวันที่ 20 พ.ย.ก็จะนำไปยื่นให้ทางนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับยื่นให้ทาง กมธ.แรงงาน ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลด้วย"

วิไลวรรณ บอกว่า การยกร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับบูรณาการ ได้มีการปรึกษากันมาเกือบ 1 ปี และเห็นว่าควรปรับปรุงเพื่อสร้างหลักประกันให้ผู้ใช้แรงงาน โดยกำหนดให้ลูกจ้างของภาคราชการที่ยังไม่มีสวัสดิการ และผู้ใช้แรงงานนอกระบบที่ยังได้รับค่าจ้างไม่เป็นธรรม เข้าสู่ระบบสวัสดิการโดยมีภาครัฐร่วมจ่าย

"ประเด็นสำคัญ คือ สปส.ควรเป็นองค์กรอิสระและโครงสร้างคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) ควรมาจากการเลือกตั้ง และประธานบอร์ด ที่ปรึกษา รวมถึงอนุกรรมการชุดต่างๆ ควรมาจากการสรรหา เพื่อสร้างหลักประกันในการดูแลเงิน 7 แสนล้านบาท ที่สำคัญ คือ ควรมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ทั้งกรณีเจ็บป่วย หรือการบริการทางการแพทย์" วิไลวรรณบอก

ขณะที่ ชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ประธานสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกันตนต้องการคำตอบเรื่องความโปร่งใส โดยเฉพาะในการลงทุนนั้น ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ซึ่งจุดเด่นในร่าง พ.ร.บ.ฉบับบูรณาการได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเช่นเดียวกับ กรณีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ในส่วนดังกล่าว ชัยสิทธิ์ กล่าวว่า จะเป็นเครื่องมือช่วยเสริมให้การบริหารกองทุนมีความน่าเชื่อถือ เพราะสามารถสอบทานจากฝ่ายตรวจสอบที่มีอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบเหมือนกับตั้งขึ้นมา เพื่อทำให้ทุกอย่างเกิดความชอบธรรมเท่านั้น รวมทั้งร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ จะขยายสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน เมื่อต้องออกจากงานจะได้เงินชดเชยเป็น 8 เดือนสำหรับคนงานที่ทำงานไม่ถึง 10 ปี ส่วนที่ทำงานเกิน 10 ปี ได้ 12 เดือน จากเดิมที่ได้เงินชดเชยเมื่อออกจากงานแค่ 6 เดือนเท่านั้น

นอกจากนี้ นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะครอบคลุมแรงงานนอกระบบอีกกว่า 20 ล้านคน ถือว่าเป็นกฎหมายที่สำคัญมาก ที่ผ่านมา แม้รัฐจะพยายามปรับปรุงกฎหมายครอบคลุมแรงงานนอกระบบ แต่ไม่มีแรงจูงใจเพียงพอ

ทั้งนี้ ได้เพิ่มแรงจูงใจในมาตรา 40 เพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมา แรงงานนอกระบบทำงานเหมือนกับแรงงานในระบบ แต่กลับไม่ได้รับความคุ้มครอง ส่วนการจ่ายเงินสมทบนั้น ที่ผ่านมา ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 รัฐบาลไม่ได้จ่ายสมทบ แต่ร่างฉบับใหม่ได้แก้ไขให้รัฐบาลจ่ายสมทบได้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง

เสียเรียกร้องที่ดังขึ้นเพื่อให้ สปส.ปรับปรุงองค์กรใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นจากฝ่ายลูกจ้างและผู้ประกันตนเท่านั้น หากยังรวมไปถึงนักวิชาการแรงงาน อย่าง แล ดิลกวิทยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า แม้ สปส.ก่อตั้งมา 20 ปีแล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ได้ให้หลักประกันความคุ้มครองคนในสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งมองว่าขณะนี้เรามีกำลังวัยแรงงานกว่า 38 ล้านคน ทว่ายังมีกลุ่มเด็กและคนชราที่ไม่อยู่ในข่ายการคุ้มครองอีกกว่า 30 ล้านคน และในจำนวนแรงงาน 38 ล้านคน มีคนที่เข้าระบบประกันสังคมเพียง 8-9 ล้านคนเท่านั้น

"เป็นเรื่องน่าตกใจมากที่ยังมีแรงงานนอกระบบที่ ไม่ได้รับการคุ้มครองอีกกว่า 24 ล้านคน ดังนั้น อย่ามาบอกว่าจะเป็นรัฐสวัสดิการหรือจะคุ้มครองคนทั้งสังคม เอาแค่ดึงแรงงานนอกระบบให้เข้ามาอยู่ในประกันสังคมให้ได้ก่อนก็พอ" แลกล่าว

ขณะที่ฝ่ายรับผิดชอบอย่าง เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บอกถึง กรณีข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปโครงสร้างสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้เป็นองค์กรอิสระ ว่า โดยส่วนตัวตนเห็นด้วยและพร้อมที่จะผลักดันให้เป็นองค์กรอิสระ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานการบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง ซึ่งกฎหมายประกันสังคม ระบุว่า หากไม่สามารถบริหารได้ด้วยตนเอง เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องเข้ามาดูแล

อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน 6 ข้อได้แก่ เพิ่มค่าคลอดบุตรจาก 12,000 บาท เป็น 13,000 บาท เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร 350 บาทต่อเดือน เป็น 400 บาท เพิ่มค่าทันตกรรม จาก 250 บาท เป็น 300 บาท และไม่เกิน 600 บาทต่อปี ใส่รากฟันเทียมสำหรับผู้ประกันตนที่ประสบอุบัติเหตุ หรือมีอายุ 53 ปีขึ้นไป รักษาโรคจิตได้ต่อเนื่อง และเพิ่มค่ารักษาผู้ทุพพลภาพจาก 2,000 บาท เป็นเข้าโรงพยาบาลรัฐฟรี เอกชนคนไข้ในจ่าย 4,000 บาท พร้อมย้ำว่า การเพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะประกาศใช้ให้ได้ก่อนปลายปีนี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2554 เป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ประกันตน

"สิ่งที่เป็นปัญหาของกองทุนประกันสังคม คือ การเข้ารักษาพยาบาล โดยเฉพาะกรณีโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็ง ที่ทำให้โรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่อยากรักษา เพราะจะทำให้ขาดทุน ส่งผลกระทบต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย และคุณภาพของยา รวมทั้งการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่น"

ปัญหาดังกล่าว เฉลิมชัย บอกว่า ต่อไปกองทุนประกันสังคมจะเพิ่มสิทธิให้ครอบคลุมการรักษาโรคร้ายแรงที่มีค่า ใช้จ่ายสูง โดยจะแยกออกมาจากค่าเหมาจ่ายรายหัว รวมถึงจะมีการยกเลิกการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้ได้ภายในเดือน เม.ย. 2554

เฉลิมชัย กล่าวด้วยว่า สปส.จะพัฒนาการให้บริการ โดยในระยะสั้นจะจัดเจ้าหน้าที่ประกันสังคมไปตรวจสอบสิทธิ รับคำขอรับสิทธิให้คำปรึกษาด้านต่างๆ ในสถานประกอบการ ส่วนในระยะยาวผู้ประกอบการจะต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาอบรมในการเชื่อมต่อ ข้อมูลระหว่างสถานประกอบการกับ สปส.

นอกจากนี้ ยังต้องมีการปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมที่ใช้อยู่ตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งไม่ได้ตอบสนองความต้องการของผู้ประกันตน รวมทั้งไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติเงินทดแทน พระราชบัญญัติประกันสังคม และพระราชบัญญัติการกลับมาเป็นผู้ประกันตน เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ เช่น กรณีที่ผู้ประกันตน มาตรา 39 ขาดส่งเงินสมทบตามที่กฎหมายกำหนด จะไม่ได้รับการตัดสิทธิ ซึ่งคนกลุ่มนี้จำนวนกว่า 490,000 คน จะได้รับสิทธิคืน การขยายความคุ้มครองไปยังแรงงานนอกระบบ มาตรา 40 กว่า 24 ล้านคน

เขาบอกว่า หากดำเนินการตามนี้ได้สำเร็จ ประกันสังคมจะพลิกโฉมและเป็นองค์กรที่ผู้ใช้แรงงานให้ความไว้วางใจ ตอบสนองให้กับสมาชิกที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งจะส่งผลดีต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม

กระนั้นก็ตามเสียเรียกร้องจากผู้ใช้แรงงานและนักวิชาการเพื่อให้เกิดการปรับองค์กรให้ ประกันสังคมเป็นอิสระ ยังต้องเดินหน้าต่อไป

ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ  08/11/53

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน