ผ่าชีวิต ‘คนเลี้ยงไก่’ในเกษตรพันธะสัญญา แฉเจอขูดทุกเม็ด แทบไม่เหลืออะไร หวังแค่ ‘ขี้ไก่’ เป็นอาหารปลา-แหล่งรายได้ของจริง

เปิดชีวิตคนเลี้ยงไก่ใต้พันธะสัญญาทาส เลี้ยง 4 เดือน 4,500 ตัว หักกลบลบหนี้ค่าอาหาร ค่ายา ค่าลูกพันธุ์ เหลือเงินแค่ 80 บาท ขณะที่ราคาเนื้อไก่ในตลาดกิโลละ 90 บาท แต่ต้องทนเลี้ยงเพราะทำมานาน และสิ่งที่หวังคือ ขี้ไก่ ที่ต้องใช้เป็นอาหารปลาสวาย ซึ่งขายรายได้ดีกว่าเลี้ยงไก่มหาศาล

 

เปิดฟาร์มยุคเลี้ยงไก่เฟื่องฟู

คำสารภาพจากปาก ละออง จันทร์อุไร วัย 48 ปี หนึ่งในเกษตรกร 38 ราย ที่ตกอยู่ภายใต้วังวนของระบบเกษตรพันธะสัญญา (Contract Farming) ที่ชุมชนท้ายตลาด อ.เมือง จ.ลพบุรี   มานานกว่า 10 ปีเต็ม

วันนี้แม้ละอองจะพลิกบทบาทมาเป็นนักวิจัยไทบ้านเกษตรพันธะสัญญา กรณีการเลี้ยงไก่เนื้อใน จ.ลพบุรี ร่วมกับเกษตรกรอีก 10 คน ที่บ้านชุมชนท้ายตลาด  นำโดย ทองเจือ เขียวทอง เพื่อช่วยกันวิเคราะห์ถึงบทเรียนในอดีต และหาหนทางออกเบื้องหน้า สำหรับการปลดแอกความไม่เป็นธรรม ที่พวกเขาส่วนใหญ่จำต้องทนรับสภาพมายาวนาน

80 บาท คือผลตอบแทนหลังหักลบค่าอาหาร ค่าประกันไก่  ละอองเหลือเงิน 80 บาทจากการเลี้ยงไก่เนื้อ  4,500 ตัว บนเนื้อที่ 5 ไร่ ด้วยเงินลงทุนกว่า  6.5 แสนบาทเมื่อหลายเดือนก่อน “ที่เหลือเพียง 80 บาทและแทบขาดทุน ก็ในปีนี้ แต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมาได้กำไร  2-3 หมื่นบาท

ละอองผันตัวเองมาเป็นคนเลี้ยงไก่ หลังจากบวชเรียนมาหลายพรรษา ทั้งที่ไม่น่าจะมาทำตรงนี้ได้  แต่ด้วยพื้นฐานที่มาจากครอบครัวเกษตรกร  มีที่ดินเป็นของตัวเอง แถมยังเป็นช่วงจังหวะที่การเลี้ยงไก่เนื้อแบบระบบบริษัท เริ่มเข้ามานิยมในพื้นที่จ.ลพบุรี

ยุคเกษตรผสมผสานช่วงปี 2536-2546 เป็นจุดเริ่มต้นที่ระบบไก่เนื้อเริ่มเข้ามาในพื้นที่ท้ายตลาด มีหลายบริษัท เช่น วินัยฟาร์ม  ไพโรจน์โพลทรีย์ สหฟาร์ม เข้ามาให้คำแนะนำชาวบ้านที่เคยเลี้ยงไก่ตามใต้ถุนบ้าน ก็เปลี่ยนมาขุดบ่อปลา ทำโรงเรือนเลี้ยงไก่บนบ่อปลา และปลูกพืชผลไม้ริมขอบบ่อ โดยจะใช้สัญญาแบบประกันรายได้  กล่าวคือบริษัทจะคุมปัจจัยการผลิต  บริการต่างๆ ส่วนเกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนจากการเลี้ยงไก่ที่บริษัทรับซื้อผลผลิตคืนกลับไป

แห่เลี้ยงตำบลเดียวนับสิบราย-เจ๊งไม่เป็นท่า

ในช่วงแรก ละอองยอมรับว่าเห็นผลตอบแทนดี  ทำให้ทั้งต.ท้ายตลาด ชาวบ้านเลี้ยงไก่เนื้อมากถึง 60 ราย กระทั่งถึงจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อช่วงปี 2547-2548 เกิดโรคไข้หวัดนกระบาด เกษตรกรต้องเผชิญความเสียหายอย่างหนัก บางรายถึงกับล้มละลาย เลิกเลี้ยงไก่ และกลายเป็นหนี้ตกคนละหลายแสนบาททีเดียว

ก่อนไข้หวัดนกระบาด  การเลี้ยงไก่เนื้อเคยทำกำไรสูงสุดตัวละ 10 บาท แต่พอหลังจากไข้หวัดนก ราคาตกลงเหลือ 2-3 บาท ต่อตัวเท่านั้น  ส่วนปัจจุบันราคาจะอยู่ที่ตัวละ  4-6 บาท

ละอองกล่าวว่า รูปแบบบริษัทที่ทำกันคือ ถ้าจะลงไก่ 4,500 ตัว ก็โทรศัพท์ไปบอกที่บริษัทไพโรจน์โพลทรีย์  เขาก็จะให้ทั้งลูกไก่  มาพร้อมกับยาของไก่ วัคซีน อาหารครบเป็นรุ่นๆ  ซึ่งบริษัทจะเป็นคนกำหนดวัน  เช่น  ถ้าจะทำไก่ย่างต้อง 28-30 วัน  ไก่เล็ก 35-39 วัน แต่ถ้าไก่โตอายุ 40-45 วัน  โดยมีราคารับประกันในปัจจุบันกิโลกรัมละ 33 บาท จากเดิมกิโลกรัมละ 25 บาทเท่านั้น

เลี้ยง 50 วันได้กำไร 2 หมื่นบาท

เมื่อถามว่าแล้วเลี้ยง 1 รุ่น  เคยหวังกำไรหรือไม่ ละอองว่า  ก็หวิดขาดทุน เพราะราคาประกันต่ำ แต่คนไปขายพ่อค้าคนกลางเขาได้กำไร บ้านเราเกษตรกรกำลังจะตาย มันไม่คุ้มเพราะถ้าคิดค่าแรงตัวเราเองก็ไม่ได้  สองค่าไฟฟ้า  เดือนหนึ่งตกอยู่ที่หมื่นบาท เพราะต้องเปิดพัดลม เปิดแอร์ระบบอีแวฟ คือ เป็นเล้าไก่ที่ทันสมัยที่สุด  สรุปว่า ลงไก่รุ่นหนึ่ง 4,500 ตัว ใช้เวลาประมาณ 50 วัน จะเหลือกำไรประมาณ 20,000 บาท แต่มีข้อแม้ว่าไก่จะต้องไม่ตายมาก จึงจะได้กำไรเท่านี้ จากนั้นจะพักเล้า 24 วัน

เมื่อถามว่า รายได้ก็ไม่มากมายแต่ทำไมจึงยังทนเลี้ยง  ละอองบอกทันทีว่า เขาหวังขี้ไก่ เลี้ยงปลาสวายที่อยู่ในบ่อด้านล่าง ซึ่งเขาสั่งลูกปลามาจากนครสวรรค์  ซึ่งไก่ 6 รุ่นถึงจะจับปลาได้ 1 ครั้ง มีรายได้ตกประมาณ 200,000 บาท  ที่อยู่ได้ทุกวันนี้คือรายได้จากปลา

ถ้าไม่มีขี้ไก่ก็เจ๊ง เกษตรกรไม่สามารถจะยืนได้แล้ว เพราะต้องให้กินขี้ไก่เพื่อลดต้นทุน และถ้าเลี้ยงไก่ขาดทุนก็ยังมีรายได้จากปลาทดแทน

ถ้าไม่มีขี้ไก่ ก็ต้องซื้ออาหารให้ปลา มันก็ไม่คุ้มตรงนี้ บริษัทเขาก็บีบมาอีกที เพราะเขารู้ว่าเราจะได้กำไรจากปลาที่เลี้ยงใต้เล้าไก่ เขาก็กดราคา ค่าแรง ค่าอาหาร และอีกสารพัด แต่ถ้าถามว่าหาอาหารอื่นมาแทนขี้ไก่ได้มั้ย เคยลองมาแล้วไม่คุ้ม ปลากินจุ กินทั้งวัน ถ้าจะเลี้ยงแบบนั้นต้องเลี้ยงแบบธรรมชาติ แต่ของเราเลี้ยงต้องการเงิน ไปหมุนเวียน แต่ถ้าเลี้ยงแบบธรรมชาติ 1-2 ปีถึงจะจับปลาได้

ละอองกล่าวต่อว่า เราตัดใจจากไก่ไม่ได้ ต้นทุนเราไปจมกับตรงนี้แล้ว ถ้าสมัยก่อนย้อนหลัง 10 ปีราคาลงทุนครั้งแรก ต้องใช้เงินราว  500,000 - 600,000 บาท แต่ตอนนี้ถ้าเริ่มต้นใหม่ก็พุ่งไปเป็น 1 ล้านบาทแล้ว เพราะทุกอย่างขึ้นราคาหมดแล้ว ส่วนโรงเรือนทุกวันนี้ต้องปรับปรุงทุกรุ่น ถึงไม่มันผุก็ต้องเปลี่ยน  ต้องซ่อมแซม ซึ่งพวกนี้ก็ไม่ได้ถูกคิดเป็นต้นทุนให้เรา รวมถึงค่าแรงที่เราต้องเฝ้าไก่แบบไม่มีวันหยุด

ต้องเลี้ยงทั้งที่รู้ว่าเป็นหนี้


ทองเจือ เขียวทอง เกษตรกรชุมชนท้ายตลาด อ.เมือง จ.ลพบุรี  เป็นอีกคนที่เข้าสู่ระบบเกษตรพันธะสัญญา เช่นเดียวกับละออง กล่าวว่า  ปัจจุบันเฉพาะค่าอาหารต้นทุน แต่ละรุ่นใช้อาหารไม่เท่ากัน ถ้าเขากำหนดว่าจะเป็น ไก่ย่างจะต้องเลี้ยง 33 วันสูงสุดใช้อาหาร 400 กระสอบ กระสอบละ 420 บาท แต่ทั้งหมดเขาเอามาให้ไว้ก่อน มาพร้อมกับตอนส่งลูกเจี๊ยบ ที่เกษตรกรเป็นคนสั่งว่ารุ่นนี้จะเอากี่ตัว

ในวันที่เอาลูกเจี๊ยบมาส่ง ตอนนี้ราคาตัวละ 9 บาท จากเดิม 4 บาท  มาพร้อมกับอาหารล็อตแรก  ยา วัคซีนและวิตามิน  มาเสร็จสรรพ พอเลี้ยงไปสักระยะก็จะลงอาหารรุ่น 2 และ 3 ตามมา ตามระยะเวลา สรุปว่าทั้งหมดจะคิดรวมเป็นต้นทุนปรากฏในบัญชีแสดงค่าใช้จ่าย ที่เราจะได้เห็นวันที่เขามาจับไก่ เพราะมันจะมีรายละเอียดทั้งหมด เช่น ค่าลูกไก่ อาหารระยะแรก  ระยะสอง  ระยะสาม ยา วัคซีน วิตามิน และหักค่าใช้จ่ายไปแล้วจึงจะเป็นกำไร ขาดทุนให้ตอนท้าย

บางทีก็เครียด เพราะเหนื่อยพอเห็นตัวเลขเหลือแค่ 80 บาท แถมยังต้องเป็นหนี้ค่าไฟฟ้าอีกหมื่นบาท  สุดท้ายก็ขอยืมพี่ยืมน้องไปหมุนจ่าย  ทุกรายเป็นแบบนี้ แต่ถ้าเลิกเลี้ยงไก่  ปลาก็ไม่มีอาหารจะกิน

ปลดแอกไม่ได้เพราะคนเลี้ยงไม่เข้มแข็ง

เมื่อถามว่า  รู้หรือไม่ ได้รับความเป็นธรรม  ละอองบอกว่า เกษตรกรรู้ แต่ก็ไม่มีอะไรไปต่อรองพวกบริษัทได้เลย  ที่ผ่านมายอมรับว่าเคยมีความพยามยามในการพูดคุยกับเกษตรกรรายอื่นๆ ว่าจะปลดแอกจากการทำสัญญาเลี้ยงไก่กับบริษัทอยู่เหมือนกัน  แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะกลุ่มไม่เข้มแข็ง  ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ คนเลี้ยงส่วนใหญ่ในพื้นที่ท้ายตลาด ทำสัญญากับบริษัทไพโรจน์โพลทรีย์  ซึ่งเป็นระบบครบวงจร มีทั้งลูกไก่ มีโรงชำแหละ โรงเชือด 2 แห่ง และเนื้อไก่ที่ได้จะใช้จำหน่ายในประเทศ แต่ถ้ามากเกินไปจะส่งให้ บริษัท เบทาโกร จำกัด

ข้อเสนอของละอองในยามนี้ก็คือ อยากให้บริษัทเอาลูกไก่เกรดดีๆมาให้เลี้ยง  อาหารและยาดีๆ และเพิ่มราคาประกันให้กับคนเลี้ยงไก่ แต่ไม่ได้หมายความจะผลักภาระให้ผู้บริโภค บริษัทได้จากเรามากแล้ว  เราขอแค่กิโลกรัมละ 3-4 บาทเท่านั้น

ตอนนี้ไก่กิโลละ 90 บาท แต่ราคาจากเล้าไม่ถึง 40 บาท  เขาได้กำไรเยอะแล้ว  เราขอแค่ 4 บาทเท่านั้น  เพราะปัจจุบันเกษตรกรได้สูงสุดก็แค่ตัวละ  6 บาท ขณะที่ตอนนี้ต้นทุนมันสูง บริษัทน่าจะรับผิดชอบตรงนี้บ้าง

ในระบบการเลี้ยงจริงๆ เพื่อไม่ให้ขาดทุน ในการเลี้ยงแต่ละครั้งต้องมีไก่ตายไม่เกิน 100 ตัว ซึ่งเกษตรกรมองว่า หากได้พันธุ์ลูกไก่ที่ดี แข็งแรง จะทำให้การตายลดลง แต่หากลูกไก่อ่อนแอ การตายก็จะเพิ่มขึ้นเท่ากับหนี้สิน ซึ่งฟาร์มของทองเจือเคยมีไก่ตายมากที่สุดถึง 1,500 ตัว นั่นคือขาดทุน  30,000 บาทในทันที ยังไม่นับหนี้สินที่ตามมาจากค่าแรง ค่าไฟฟ้า ซึ่งตั้งแต่เลี้ยงมา ทองเจือขาดทุนไปแล้ว 3 ครั้ง

 

หมายเหตุ อ่านรายละเอียดเรื่องเกษตรพันธะสัญญาได้จาก “พลิกปูมเกษตรพันธะสัญญาในไทย” ในเว็บไซต์ TCIJ

 

ขอบคุณภาพจาก Google

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน