“ฉลาดซื้อ” พบ ดินประสิว (ไนเตรท/ไนไตรท์) ในไส้กรอก กว่า ๙๐%

เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงข่าวการทดสอบปริมาณสารไนเตรทและไนไตรท์ในไส้กรอก ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

SS5

นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ศูนย์ทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อสุ่มทดสอบปริมาณสารไนเตรทและไนไตรท์จากตัวอย่างไส้กรอกในท้องตลาด ๑๕ ตัวอย่าง โดยมีเพียงยี่ห้อเดียวคือค๊อกเทลซอสเซส ตราไทยซอสเซส ของบริษัทไทย – เยอรมัน มีท โปรดักส์ จำกัด ไม่พบทั้งไนเตรทและไนไตรท์ ขณะที่อีก ๑๔ ยี่ห้อ หรือกว่าร้อยละ ๙๓.๓๓ มีการเจือปนของสารดังกล่าว

นักวิชาการฯ กล่าวต่อไปว่า ไส้กรอกร้อยละ ๗๓.๓๓ หรือจำนวน ๑๑ ยี่ห้อใส่สารไนเตรทและไนไตรท์ไม่เกินมาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด คือ ๑.บีลัคกี้ ๒.มิสเตอร์ ซอสเซส ๓.บุชเชอร์ ๔.JPM ๕.เซเว่น เฟรช ๖.TGM ๗.My Choice ๘.BMP ๙.S&P ๑๐.P.Pork และ ๑๑.เบทาโกร ส่วน ๓ ยี่ห้อ หรือร้อยละ ๒๐ พบปริมาณสารดังกล่าวเกินมาตรฐานคือ ๑.เอโร่ ๒.NP และ ๓.บางกอกแฮม 

“สารไนไตรท์และไนเตรทคือดินประสิว ใช้เพื่อฟอกสีเนื้อสัตว์ให้มีสีสด ถือเป็นการถนอมอาหารแบบหนึ่งโดยใช้วัตถุกันเสีย และยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้อาหารเสียเร็ว ซึ่งยังไม่มีผลแน่นอนว่าจะก่อให้เกิดมะเร็งหรือไม่ แต่หากได้รับปริมาณมากเกินค่ามาตรฐาน สำหรับคนที่แพ้สารดังกล่าวก็จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว เวียนหัว จากการได้รับพิษเฉียบพลัน” นางสาวมลฤดีกล่าวและว่า “ตอนนี้ไส้กรอกกลายเป็นอาหารหลัก เพราะเป็นอาหารสะดวกซื้อ จึงต้องการเตือนให้ผู้บริโภคบริโภคแต่น้อย อย่าบริโภคเป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงการรับสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย”

ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารนิตยสารฯ ให้ความเห็นว่า นิตยสารฉลาดซื้อพยายามทำข้อมูลเพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อของเหล่านี้ โดยความคาดหวังของคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ต้องการเห็นว่ามีพลังผู้บริโภคที่ไปสนับสนุนการซื้อ เช่น ไส้กรอกของบริษัทไทยเยอรมันฯ ที่ไม่มีสารไนเตรทและไนไตรท์ หากผู้บริโภคเลือกซื้อจะเป็นพลังที่บอกว่าพวกเราต้องการไส้กรอกที่ไม่ใช้สารดังกล่าว

“ผู้บริโภคมีข้อจำกัดว่าถ้าอยากกินไส้กรอกที่ไม่มีสารกันบูดจะเลือกยังไง เพราะไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า คนก็อยากกินไส้กรอกที่ไม่มีสารกันบูด นี่จึงเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อของ และพลังของผู้บริโภคจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อคุณซื้อหรือไม่ซื้อสินค้านั้นๆ” นางสาวสารีกล่าว

นางสาวสารี กล่าวต่อไปว่า เขาหวังว่าไส้กรอก ๓ ยี่ห้อที่พบสารไนเตรทและไนไตรท์เกินมาตรฐานโคเด็กซ์ ทาง อย.จะดำเนินการจัดการ เพราะ อย.มีหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานอาหาร ส่วนการแสดงฉลาก มีเพียง ๖ ตัวอย่างที่แสดงข้อมูล แต่เป็นการแสดงข้อมูลโดยใช้รหัส ซึ่งผู้บริโภคเข้าใจได้ยาก ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ฉลากเป็นมิตรกับผู้บริโภคว่าเห็นแล้วรู้ว่ายี่ห้อนี้ใส่สารกันบูดหรือไม่

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๘๑) พ.ศ.๒๕๔๗ เรื่อง วัตถุเจือปนอาหารได้กำหนดให้กำหนดปริมาณการใช้ของวัตถุเจือปนอาหารโดยยึดตามเกณฑ์ของโคเด็กซ์ (Codex General Standard for Food Additives) หรือมาตรฐานอาหารสากลฉบับล่าสุด กำหนดปริมาณของ "ไนไตรท์" ได้ไม่เกิน ๘๐ มิลลิกรัมต่ออาหาร ๑ กิโลกรัม แต่ไม่ได้กำหนดปริมาณของ "ไนเตรท" ที่อนุญาตให้ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเอาไว้ จึงต้องใช้การอ้างอิงมาตรฐานที่ในบ้านเราเคยกำหนดไว้ในท้ายประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง "ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร" ที่อนุญาตให้ใช้ ไนเตรท ในผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มไส้กรอกและแฮม ได้ไม่เกิน ๕๐๐ มิลลิกรัมต่ออาหาร ๑ กิโลกรัม

ทั้งนี้ ในประกาศระบุเพิ่มเติมไว้ว่า "การใช้วัตถุเจือปนอาหารในกลุ่มหน้าที่เดียวกันตั้งแต่ ๒ ชนิดขึ้นไป ต้องมีปริมาณรวมกันแล้วไม่เกินปริมาณของวัตถุเจือปนอาหารชนิดที่กำหนดให้ใช้ได้น้อยที่สุด" หมายความว่า ถ้าผลิตภัณฑ์ไหนเลือกใช้ ไนไตรท์ เพียงอย่างเดียวก็ควรมีได้ไม่เกิน ๘๐ มิลลิกรัมต่ออาหาร ๑ กิโลกรัม หรือถ้าเลือกใช้ ไนเตรทเพียงอย่างเดียว ก็อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน ๕๐๐ มิลลิกรัมต่ออาหาร ๑ กิโลกรัม แต่ถ้าผลิตภัณฑ์ใดมีการใช้ทั้งไนไตรท์และไนเตรท ปริมาณที่ใช้เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน ๘๐ มิลลิกรัมต่ออาหาร ๑ กิโลกรัม โดยยึดตามเกณฑ์ของ "โคเด็กซ์"

อ่านผลทดสอบฉลาดซื้อได้จาก http://tinyurl.com/zw6kv6c หรือสมัครสมาชิกได้ที่ ๐๒ - ๒๔๘ - ๓๗๓๗

พิมพ์ อีเมล