สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคชี้ปรับบริษัทมือ 1 แสนน้อยไป

ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค แถลง กสทช.ปรับบริษัทมือถือวันละ 1 แสนบาทน้อยเกินไป พร้อมฝากคำถามจะปรับถึงเมื่อไร  หากบริษัทไม่ปฏิบัติตาม กม.จะมีมาตรการอย่างไรต่อไป

1 มิ.ย.55 นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์หลังทราบข่าวการแถลงข่าวของ กสทช. กรณีสั่งปรับ 5 บริษัทมือถือ นั่นคือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)  หรือเอไอเอส บริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค  บริษัท ทรูมูฟ จำกัด บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จ่ายค่าปรับวันละ 100,000 บาทโดยเริ่มวันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและประกาศ  กสทช.เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549  ข้อ 11 ระบุว่าการให้บริการโทรคมมนาคมในลักษณะที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่า บริการเป็นการล่วงหน้าจะต้องไม่มีข้อกำหนดอันมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่ผู้ให้บริการจะได้รับความเห็นจากคณะกรรมการเป็นการล่วงหน้า ว่า รู้สึกยินดีที่ กสทช.เริ่มดำเนินการ แต่ควรจะดำเนินการมานานแล้ว

“กฎหมายเรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรคมนาคม มีตั้งแต่ปี พ.ศ.2549  หากมาพิจารณากันจริงๆ ก็จะเห็นว่าบริษัทมือถือมีเงินหมุนเวียนมหาศาล ยกตัวอย่างง่ายๆ ปัจจุบันบ้านเรามีคนใช้โทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินถึง 64 ล้านเลขหมาย  เพียงแค่บริษัทมือถือยึดเลขหมายเพียงเลขหมายละ 1 บาท ก็ได้ถึง 64 ล้านบาท  แต่ถ้า 1 เลขหมายมีเงินค้างอยู่ 20  บาท 50 บาท  200 บาท รวมกันแล้วจะเป็นกี่ล้านบาทต่อวัน จำนวนเงินค่าปรับเพียงแค่ 100,000 บาท ดูยังน้อยเกินไป จึงอยากให้เลขาฯ กสทช. จริงใจกับผู้บริโภคมากกว่านี้ ถึงแม้จะมีการปรับเกิดขึ้นจริงแต่ถ้าผู้บริโภคยังถูดตัด ถูกยึดเงินอย่างนี้ก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างไร”ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกล่าว

พร้อมให้ความเห็นต่อกรณีที่เปิดโอกาสให้ทางค่ายมือถือมีสิทธิ์อุทธรณ์ภายใน 15 วัน หรืออาจร้องฟ้องต่อศาลปกครองก็ได้นั้น  ตนมีความเห็นว่ากฎหมายมีบัญญัติไว้ตั้งแต่ปี 2549 แล้วแต่ไม่บังคับใช้ กม.เพราะให้เหตุผลว่า บริษัทยื่นฟ้อง กสทช. ซึ่งเมื่อยังไม่มีคำพิพากษาออกมา ประกาศก็ยังบังคับใช้ได้เหมือนเดิม แต่กลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมา 7 ปี

“มาครั้งนี้บริษัทมีสิทธิ์ที่จะยื่นอุทรณ์  หรือฟ้องศาลได้ก็จริง แต่ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาออกมา  กสทช.ก็ไม่ควรชะลอการบังคับใช้กฎหมายตามประกาศ” นางสาวบุญยืนกล่าว

นอกจากนี้ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ฝากคำถามต่อการดำเนินการของ กสทช.ว่า กสทช.มีการกำหนดระยะเวลาการปรับบริษัทมือถือหรือไม่  และหากบริษัทมือถือยังคงฝ่าฝืนยังกำหนดระยะเวลาวันหมดอายุต่อไป กสทช.จะมีมาตรการต่อไปอย่างไร

 

 

 

เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและประกาศ    กสทช.เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549

 

พิมพ์ อีเมล