มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร้อง สคบ.เข้มควบคุมธุรกิจจองรถยนต์

ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิผู้บริโภค พาผู้บริโภคแจ้งความเอาผิดเต็นท์รถ หลังใช้กลลวงฉ้อโกงให้ทำวางเงินจองทำสัญญา ด้านเจ้าของเต้นท์รถโล่คืนเงินทันที พร้อมเตือนผู้บริโภคให้จองรถผ่านตัวแทนจำหน่ายโดยตรง วอนสคบ.เข้มควบคุมธุรกิจจองรถยนต์

Consumerthai – 23 มิ.ย.54 ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำผู้เสียหาย เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรบางบัวทอง จ.นนทบุรี หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค 3 ราย ร้องเรียนกรณี   ริบเงินจองรถป้ายแดง

นายพงศ์วรัฐ วิริยะรัตน์ และ นายภูวนาถ พูลลาภ ผู้ร้องว่าได้ติดต่อจองรถ Honda Civic และ Toyota vigo ป้ายแดงกับ บริษัทสปอร์ต คาร์ ตามเบอร์โทรศัพท์ในโบว์ชัวร์ที่ได้รับจากญาติของเพื่อนชื่อนายศิริชัย สิงห์กวาง ซึ่งจองรถ Nissan March ไปก่อนหน้าประมาณเดือนพฤษภาคม  และได้รับเสียหายเช่นกัน

โดยนายพงศ์วรัฐ ได้นัดทำสัญญาจองเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 54 โดยมีข้อตกลงว่าจ่ายเงินดาวน์เพียง 15,000 บาท  สามารถออกรถได้เลย แต่ว่าในวันทำสัญญานั้นต้องวางเงินจอง จำนวน 5,000 บาท  และจะต้องจ่ายส่วนที่เหลืออีกในวันรับรถอีก 10,000 บาท  โดยในสัญญาระบุเป็นใบรับเงินค่าบริการที่มีข้อมูลว่าจะต้องเสียค่าบริการ 3,000 บาท ถ้าสินเชื่อไม่ผ่าน ซึ่งไม่ใช่สัญญาจอง

นายพงศ์วรัฐได้ทักท้วง แต่คุณปอบอกว่าไม่มีปัญหา เพราะถ้าไฟแนนท์ผ่าน เงินที่จ่ายมาก็เป็นค่าดาวน์ที่ต้องนำไปหักอยู่แล้ว  ต่อมาวันที่ 21  มิถุนายน   นายพงศ์วรัฐ  ได้รับโทรศัพท์อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ไฟแนนท์ โทรมาแจ้งว่า ตนเองไม่ผ่านไฟแนนท์  เพราะติด backlist กับบริษัทบัตรเครดิต

เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นทำให้ตนเองรู้สึกผิดปกติ เพราะตนเองไม่เคยทำบัตรเครดิตหรือสินเชื่อใดๆ จะติด backlist ได้อย่างไร จึงได้ปรึกษากับนายภูวนาถ และได้ตรวจสอบไปที่บริษัทไฟแนนท์ตามที่บริษัทฯ อ้างว่าได้ส่งเรื่องไป พบว่าบริษัทดังกล่าวเป็นเพียงเต๊นท์รถ ที่รับไถ่ถอนรถถูกยึด และรับจัดไฟแนนท์เฉพาะรถมือสองเท่านั้น จึงเข้าร้องเรียนต่อ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

หลังจากร้อยเวรได้สอบสวนข้อเท็จจริง แจ้งว่าควรนัดไกล่เกลี่ยก่อน  ร้อยเวรได้ประสานไปที่สายตรวจให้เข้าไปที่บริษัทฯ แจ้งว่ามีผู้เสียหายมาแจ้งความและให้มาที่โรงพัก หลังจากนั้นประมาณ 14.00 น. วันเดียวกัน น.ส.กุสุมา มาลัยทิพย์ ตัวแทนบริษัทสปอร์ต คาร์ ได้เข้ามาที่โรงพักและคืนเงินทั้งหมดแก่ผู้เสียหายทั้ง 3 ราย คนละ 5,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 15,000 บาท ผู้เสียหายได้ลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานต่อไป

นางสาวนฤมล เมฆบริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองนั้นเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาตามประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ปัจจุบันพบว่ามีมิจฉาชีพหัวใส เปิดร้านรับจองรถยนต์ทุกประเภทโดยไม่มีสินค้าเหมือนโชว์รูมรถยนต์ทั่วไป  แต่ใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่อผ่านเว็บไซต์ หนังสือรถยนต์และแจกโบว์ชัวร์ โดยอ้างว่าไม่ต้องดาวน์  ไม่ต้องมีคนค้ำประกันหรือ ติดแบล็กลิส ก็สามารถออกรถป้ายแดงได้ ทำให้ผู้บริโภคหลงกลไปทำสัญญาโดยไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็นสัญญาประเภทใด

ปัจจุบันมิจฉาชีพจะหลอกให้ผู้บริโภคทำสัญญาตัวแทนบริการ   โดยอ้างกับผู้บริโภคว่าเป็นสัญญาจองรถ เงินจองที่ชำระไว้จะนำไปหักออกจากราคารถในวันรับรถ และใช้วิธีกำหนดเงื่อนไขว่าต้องทำสัญญากับไฟแนนท์  3 บริษัท ถ้าไม่ครบบริษัทจะริบเงินจองทั้งหมด หรือหากกู้สินเชื่อไม่ผ่าน บริษัทจะหักค่าดำเนินงานจำนวน 3,000   บาท   หลังจากนั้นบริษัทก็จะใช้เบอร์โทรศัพท์ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้โทรไปหาผู้บริโภคโดยอ้างตัวว่าเป็นบริษัทไฟแนนท์สอบถามข้อมูลผู้บริโภค ซัก 2 ครั้ง และเงียบไป หากผู้บริโภคโทรไปสอบถามกับพนักงานขายของบริษัทก็จะผลัดผ่อนไปเรื่อยๆ  จนผู้บริโภคเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาถูกริบเงินจอง หรืออ้างว่าไม่ผ่านไฟแนนท์ก็จะได้เงินค่าดำเนินงานไป

ซึ่งการกระทำของบริษัทนั้นเข้าข่ายฉ้อโกง จึงขอเรียกร้องให้ สคบ.ในฐานะที่เป็นหน่วยงาน ที่มีอำนาจและหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ติดตามและสอดส่องพฤติการณ์ของบริษัทที่ประกอบธุรกิจการจองรถอย่างเข้มงวด เพราะที่ผ่านมามีช่องโหว่ให้มิจฉาชีพเปิดบริษัทรับจองรถบังหน้า โดยบิดเบือนสัญญาจอง เป็นสัญญาตัวแทน ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อได้ง่าย สคบ.จึงควรเข้ามาดูแลและควบคุมอย่างเข้มงวด  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคอีก” นางสาวนฤมลกล่าว

พร้อมกล่าวเสริมว่าหากผู้บริโภค หากพบปัญหาในลักษณะนี้ ให้รีบแจ้งความดำเนินคดีทางกฎหมายทันที และแนะนำเพิ่มเติมในการจองรถนั้นควรจองกับตัวแทนจำหน่ายโดยตรง และควรตรวจสอบรายละเอียดบริษัทรับจองรถกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่าบริษัทนี้มีตัวตนหรือไม่ ก่อนตัดสินใจวางเงิน

พิมพ์ อีเมล