เกี่ยวกับมูลนิธิฯ

 

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (Foundation for Consumers)

 

       เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนสาธารณประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ทำงานมาอย่างยาวนานและเข้มแข็ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 ในนามคณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน (คปอส.) โดยมุ่งเน้นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพเป็นหลัก ผลงานในอดีตได้แก่ งานรณรงค์เรื่องการใช้ยาที่เหมาะสม การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสูตรยาแก้ปวดลดไข้ จากยาสูตรผสมเป็นยาเดี่ยว การคัดค้านสิทธิบัตรยาและการใช้ชื่อสามัญทางยา การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในยุคแรก ๆ

       จากบทเรียนการทำงานในนาม คปอส. ทำให้เห็นความสำคัญในการผลักดันให้ผู้บริโภคมีบทบาทในการคุ้มครองตนเอง ในยุคบริโภคนิยม จึงได้จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขึ้นในปี พ.ศ. 2539 โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ ส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้บริโภคและองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคต่าง ๆ ได้มีส่วนในการคุ้มครองผู้บริโภค  และยังมีวัตถุประสงค์สำคัญในการส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยตระหนักดีว่า ข้อมูล ความรู้คืออาวุธสำคัญที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องมีเพื่อใช้คุ้มครองตนเองในยุคบริโภคนิยม

 

วิสัยทัศน์

สานพลัง  เท่าทันโลก   บริโภคสร้างสรรค์   มุ่งมั่นพิทักษ์สิทธิ "


ยุทธศาสตร์ที่ ๑ : พัฒนาศักยภาพ และกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ : การสื่อสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่สร้างสรรค์

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ ผลักดันให้เกิดนโยบายและกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพ

 

แนวคิดในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค 

๑. ใช้เงินให้คุ้มค่า (Value for Your Money)

 
     ผู้บริโภคจำนวนมากทั้งในอดีตและปัจจุบัน ยังมีความต้องการใช้เงินของตนเองอย่างคุ้มค่า เพื่อให้ได้สินค้าที่ดี ปลอดภัยราคาไม่แพงมากนัก โดยไม่ได้สนใจมากนักว่าสินค้านั้นจะมาจากกระบวนการผลิตแบบใด ใครเป็นผู้ผลิต มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ทำให้การดำเนินกิจกรรมและวิธีการทำงานในยุคนี้มักให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคุณภาพ ของสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคได้ใช้ไป เช่น การทดสอบเครื่องซักผ้า รถยนต์ หรืออาหารต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อจะบอกและให้ผู้บริโภคเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อ ว่า  สินค้าใดดีกว่าสินค้าใด หรือราคาถูกว่าและมีคุณภาพดีกว่า ดังเช่น วารสารคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศต่าง ๆ เช่น WHICH ของประเทศอังกฤษ CHOICE ของออสเตรเลีย CONSUMER REPORT ของสหรัฐอเมริกา TESTของอินเดีย หรือนิตยสารฉลาดซื้อ ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

๒. ค่าของเงินและค่าของคน (Value for Money and Also Value for People)

     ถือเป็นยุคของการผลักดันให้การบริโภคร่วมกันของผู้บริโภค เป็นตัวกำหนดคุณภาพทางสังคม ซึ่งกลุ่มผู้บริโภค เชื่อว่า พฤติกรรมการซื้อแต่ละครั้ง คือการลงคะแนนให้กับตัวแบบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งแบบแผนการผลิตสินค้าแบบใดแบบหนึ่ง และเป็นกลไกผลักดันที่สำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมให้เอื้อต่อประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ โดยรูปแบบการผลิตและการการบริโภคคำนึงถึงประโยชน์และจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย เช่น

• ไม่ซื้อของเนสเล่ท์เพราะใช้วัตถุดิบที่มาจากจีเอ็มโอหรือการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานของบริษัทนี้ในกรณีไม่ขายผลิตภัณฑ์มีมีจีเอ็มโอในกลุ่มประเทศอียูและสวิสเซอร์แลนด์ แต่ยืนยันจะจำหน่ายในประเทศไทย หรือ

• การไม่ซื้อสินค้าของบริษัท ABBOTT ที่ไร้จริยธรรมในการค้าโดยการถอนการขึ้นทะเบียนยากับ อย. หลังจากประเทศไทยประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (CL)

• การรณรงค์ไม่ซื้อสินค้าของแกรมมี่ จากปรากฎการณ์จอดำ

๓. ลดการบริโภค (Sustainable Consumption & Consumer Life Style)

     การเป็นผู้บริโภคสีเขียว(Green Consumers) มิใช่เป็นเพียงหาของสีเขียวไว้ใช้สอยแต่ต้องประมาณการบริโภคและทราบว่า การบริโภคทุกอย่างส่งผลกระทบต่อทั้งตนเองและสังคม  ทำให้กิจกรรมที่ดำเนินการมุ่งไปสู่เป้าหมายการบริโภคแต่พอเพียง การลดการบริโภค เช่น มีกลุ่มรณรงค์ให้มีวันหยุดซื้อของ(Day Buy Nothing Day) การรณรงค์สัปดาห์หยุดดูโทรทัศน์เพราะเชื่อว่าโทรทัศน์เป็นเครื่องมือของบริโภคนิยมที่ส่งเสริมให้เกิดการบริโภคแบบไร้ขีดจำกัด

 

งานสำคัญของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

     • นิตยสารฉลาดซื้อ รายเดือน ตีพิมพ์มาแล้ว 19 ปี เพื่อให้ข้อมูลผู้บริโภค ในการเลือกซื้อสินค้า เพราะเชื่อว่า พฤติกรรมการซื้อแต่ละครั้ง คือการลงคะแนนให้กับตัวแบบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งแบบแผนการผลิตสินค้าแบบใดแบบหนึ่ง และเป็นกลไกผลักดันที่สำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมให้เอื้อต่อประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ โดยรูปแบบการผลิตและการการบริโภคคำนึงถึงประโยชน์และจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย

     • ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค รับเรื่องราวร้องทุกข์และแก้ไขปัญหา การจัดเวทีสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ให้แก่ผู้บริโภคในวงกว้าง พัฒนาการรวมกลุ่มของผู้บริโภคเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค

     • พัฒนานโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค: อาทิ เรื่องหลักประกันสุขภาพ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (มาตรา 61  ตามรัฐธรรมนูญ) นโยบายด้านพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นธรรม เรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหาร และเขตการค้าเสรี

     • สนับสนุนและพัฒนาศักยภาพ องค์กรผู้บริโภค : ให้มีการทำแผนคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัด และจัดตั้งศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภครณรงค์ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ

 

กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

๑) รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์    ประธานมูลนิธิฯ

๒) นางสาวสารี   อ๋องสมหวัง       เลขาธิการมูลนิธิฯ

๓) นายวีรพงษ์   เกรียงสินยศ      เหรัญญิก

๔) นพ.ประพจน์ เภตรากาศ        กรรมการ

๕) รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์        กรรมการ

๖) ผศ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข           กรรมการ

๗) นายชัยรัตน์ แสงอรุณ          กรรมการ

๘) นพ.ประสิทธิชัย มั่งจิตร        กรรมการ

๙) นายภัทระ คำพิทักษ์            กรรมการ

๑๐) นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล  กรรมการ

๑๑) นางสาวปนัดดา เลิศล้ำอำไพ   กรรมการ

๑๒) นางนงนาถ ห่านวิไล               กรรมการ

 

กิจกรรมรณรงค์ด้านนโยบายที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค
- หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
- องค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 61 ตามรัฐธรรมนูญ 
- นโยบายด้านพลังงานที่ยั่งยืน
- นโยบายความมั่นคงด้านอาหาร เช่น ผลักดันการติดฉลากอาหารดัดแปรพันธุกรรม เป็นต้น
- รณรงค์หยุดขายการไฟฟ้า 
- รณรงค์หยุด FTA หยุดแปรรูปประเทศ  

รณรงค์และส่งเสริมด้านสิทธิ
- สิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ
- องค์การอิสระผู้บริโภค กิจกรรมรณรงค์ด้านอาหาร
- โครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค
- ความมั่นคงด้านอาหาร

กิจกรรมรณรงค์ด้านยา
- สิทธิบัตรยา

กิจกรรมรณงค์ด้านพลังงาน

- นโยบายด้านพลังงานที่ยั่งยืน


ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด เมื่อ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๗

พิมพ์ อีเมล