“สิทธิสื่อ-สิทธินักวิชาการยังทำลาย ผู้บริโภคจะพึ่ง กทค. ได้อย่างไร”

560912_new

คณะ กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาประชาชน สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค องค์กรเครือข่ายผู้บริโภค และ ผู้บริโภค ร่วมแถลงข่าว ที่โรงแรมไมด้า ซิตี้ รีสอร์อ กรุงเทพ ฯ ถึงกรณีที่ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน และ นางสาวณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส รายการ "ที่นี่ Thai PBS" ถูก กทค. เสียงข้างมากจำนวน 4 คน และ สนง.กสทช. ฟ้องคดีหมิ่นประมาท  เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ในการแสดงความเห็นทางวิชาการ และนำเสนอต่อสื่อสาธารณะ กรณีการหมดสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1800 MHz  จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน 2556

รศ. ดร. จิราพร       ลิ้มปานานนท์        ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวถือเป็นทำลายระบอบประชาธิปไตยของสังคมไทย ในการแสดงความเห็นวิพากษ์ วิจารณ์ และตรวจสอบองค์การอิสระของนักวิชาการและการทำหน้าที่ของสื่อ ที่นำเสนอข้อมูลเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ ถือได้ว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา ๔๕ ที่ให้บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น  แต่การกระทำของ กทค. ทั้ง 4 ท่านในครั้งนี้น่าจะเข้าข่ายการคุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อ เสรีภาพนักวิชาการ ซึ่งเป็นการทำที่ไม่เหมาะสมขององค์กรอิสระ ฯ เพราะกสทช. และสำนักงานกสทช. มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทหนึ่งที่ควรจะต้องตรวจสอบได้ตามเจตนารมณ์ของ รัฐธรรมนูญมาตรา 61 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ตรวจสอบการกระทำ หรือะเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และกรณี 1800 เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่ชัดเจน

นาง สาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็น กทค. ทำมากว่าการฟ้องคดีต่อผู้มีความเห็นต่าง คือการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคให้เป็นจริงมากกว่า เช่น จนบัดนี้ยังไม่มีการออกประกาศตามมาตรา 31 ที่ว่าด้วยการเอาเปรียบผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการ SMS รบกวนและถูกคิดค่าบริการเสริมโดยที่ไม่ได้สมัครใช้บริการ ถือเป็นปัญหาสำคัญของการใช้บริการโทรคมนาคม  เนื่องจากบริการเสริม SMS เป็น การให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและชัดเจน ทำให้ให้ผู้บริโภคต้องแบกรับค่าใช้บริการที่เป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จากการไม่ได้ใช้บริการ กทค.ทั้ง 4 ท่าน ควรเอาเวลามาคิดถึงมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคมากว่าการฟ้องคดี หรือประเด็นอัตราขั้นสูงของการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงไม่ เกิน 99 สตางค์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทยังไม่มีการปฏิบัติตาม ยังมีผู้ให้บริการคิดค่าบริการแบบส่งเสริมการขายแบบเหมาจ่าย เช่น แพ็คเกจ 299 บาท โทรฟรี 299 นาที หรือ แพ็คเกจ 400 บาท โทรฟรี 400 นาที ซึ่งแพ็คเกจแบบนี้ถือได้ว่าเป็นการคิดค่าบริการที่มีส่วนเกินมา 1.50 บาท

นางสาวชลดา บุญเกษม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 3G เป็น จำนวนมาก แต่ยังพบปัญหาผู้บริโภคยังไม่ได้ส่วนลดราคา 15 %  ตามที่ กสทช. ได้กำหนดไว้ตามเงื่อนไขกับผู้รับใบอนุญาต และ ผู้ให้บริการยังไม่ได้ให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน ตามสิทธิของผู้บริโภค ถึงการแจ้งรายละเอียดสิทธิประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับส่วนลดในราคา 15% รวมถึง ปัญหาคุณภาพสัญญาณ การถูกล็อคความแรงของสัญญาณคลื่น เช่นการลดความเร็วอินเทอร์เน็ตเหลือ 64 Kbps ซึ่ง  ต่ำกว่าความเร็วมาตรฐาน 3G  ซึ่งกำหนดไว้จะต้องไม่ต่ำกว่า 345 Kbps   นี้ เป็นสิ่งที่ กทค.ควรเร่งดำเนินการและสั่งปรับทางปกครองกับผู้ให้บริการหรืออยากเห็นการ ฟ้องคดีต่อผู้ที่ละเมิดและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของกสทช. มากกว่าการฟ้องผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชนมีข้อเสนอต่อ กทค. ดังนี้

1.             กทค. ควรมีระบบที่ดีมีประสิทธิภาพในการพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ทั้งการแก้ปัญหาผู้บริโภค การป้องกันปัญหา การบังคับใช้กฎหมายและประกาศของตนเองอย่างเข้มงวด และเห็นว่าการที่ยังมีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนประกาศ กฎหมายระเบียบ คำสั่งของ กสทช . เป็นการดูถูก ดูแคลนและละเมิดศักดิ์ศรีในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล มากกว่า การฟ้องคดีกับบุคลที่สนับสนุนการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีความ เห็นที่แตกต่างจาก กทค.

2.             การติดตามตรวจสอบของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน เป็นการทดลองปฏิบิตการตามรัฐธรรมนูญขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีองค์การนี้ตาม รัฐธรรมนูญ และหน้าที่สำคัญขององค์การนี้ การทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำ หรือะเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และกรณี 1800 เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่ชัดเจน

3.             ประเด็นการกระทำผิดของผู้ให้บริการที่เกิดจากการฝ่าฝืนกฎหมาย ประกาศ คำสั่งของ กสทช. ควรมีการบังคับทางปกครองอย่างเคร่งครัดและจริงจัง เพื่อไม่ให้ต้องเป็นภาระกับผู้บริโภคที่ต้องร้องเรียนเป็นกรณีไป เช่น กรณีการฝ่าฝืน ประกาศ กสทช.เรื่องอัตราขั้นสูงฯ ค่าบริการเสียงต้องไม่เกิน 99 สตางค์  การไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้ายการให้บริการ 3G เรื่องการลดค่าบริการร้อยละ 15 โดยเฉพาะกับผู้ใช้บริการรายเดิม

4.             เร่งรัดการออกร่างหลักเกณฑ์ เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม  เพื่อยุติการกระทำที่ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ตามมาตรา 31 ของพรบ.องค์การจัดสรรคลื่นความถี่

พิมพ์ อีเมล