ค่ายมือถือ 'เหวี่ยง' ใส่ กทช.

ค่ายมือถือของขึ้นเผยสามารถเปิดให้ทดสอบบริการได้เท่านั้น อ้างต่างชาติใช้ระยะเวลาทดสอบระบบเคลียริ่งเฮาส์ และ ระบบหลังบ้านให้เชื่อมต่อกันอย่างน้อย 4-5 เดือน หวั่นลูกค้ามือถือมีปัญหาระบบบิลลิ่ง แจงเหตุที่ล่าช้าเพราะสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง ล่าสุด 5 ค่ายมือถือลงขันร่วมกัน 2 ล้านบาทจัดตั้งบริษัท  ศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ จำกัด

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับกรณีที่ประชุมคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่ง ชาติ หรือ กทช. ได้มีมติเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมาไม่รับคำอุทธรณ์ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในกรณีการขอขยายระยะเวลาการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย (นัมเบอร์พอร์ตบิลิตี) ไปถึงวันที่ 1 ม.ค. 2554 และ มีมติให้เอกชนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กันยายน ซึ่งเป็นตามกำหนดเดิมนั้นไม่สามารถดำเนินการตามกรอบที่ กทช.กำหนดได้  เนื่องจากว่าการเปิดให้บริการ นัมเบอร์พอร์ตบิลิตี นั้นจะต้องมีการทดสอบระบบกับบรรดาผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5 รายให้เรียบร้อยเสียก่อนและถัดจากนั้นถึงจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ ในต่างประเทศการเปิดให้บริการนัมเบอร์พอร์ตบิลิตี ต้องใช้ระยะเวลาทดสอบระบบประมาณ 4-5 เดือน

อย่างไรก็ตามในวันที่ 1 กันยายน ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดสามารถเปิดให้บริการได้แต่เป็นการ ทดสอบระบบเท่านั้นเนื่องจากว่าผู้ประกอบการต้องทดสอบระบบการขอย้ายเครือข่าย หากไม่ทดสอบแล้วจะเกิดปัญหาได้ในภายหลังโดยเฉพาะเรื่องระบบบิลลิ่ง (ใบเสร็จรับเงิน) อาจมีปัญหาตามมาได้

"การทดสอบมีถึง 10 ขั้นตอนเราต้องทดสอบให้ครบทุกขั้นตอนเพราะไม่เช่นนั้นแล้วกลัวจะมีปัญหา เรื่องระบบบิลลิ่งได้ แม้ กทช.จะให้เราทดสอบเป็นเฟสกับลูกค้า 10,000 ราย ก็เป็นไปไม่ได้ต้องมีการทดสอบหากทดสอบเสร็จก่อนระยะเวลาที่กำหนดเราก็สามารถ เปิดให้บริการได้แต่คงไม่ทันในวันที่ 1 กันยายนนี้"

แหล่งข่าวยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เหตุผลที่ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่สามารถให้บริการคงสิทธิเลขหมาย ได้ทันตามกำหนดของ กทช. เนื่องจากว่าเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในประเทศ และ อุปสรรคทางด้านเทคนิค ส่งผลให้การดำเนินการดังกล่าวล่าช้าออกไป แม้ กทช.มีบทลงโทษหากเปิดให้บริการไม่ทันจะปรับวันละ 20,000 บาทนั้นผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะมีการชี้แจงข้อเท็จจริงไปแล้ว

"ไม่มีใครตั้งใจให้ล่าช้าและด้วยเงื่อนไขการออกใบอนุญาต 3G และ ผู้ประกอบการรายเก่าคิดว่าได้ทำระบบ 3G เขาก็ต้องเร่งทำและเงินที่ลงทุนค่าอุปกรณ์ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ใช้ไป ถึง 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 120 ล้านบาท (คิดอัตราแลกเปลี่ยนที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯเท่ากับ 30 บาท) แม้เอกชนจะได้ใบอนุญาต 3G ภายในเดือนกันยายนนี้ แต่การเปิดให้บริการคงไม่ทันภายในสิ้นปีอย่างที่ กทช.กำหนดเพราะระยะเวลาการดำเนินการสั้นมาก"

นอกจากนี้แล้วผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 5 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), 2. บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ,3. บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ,4. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ 5. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงทุน      
                 
ในบริษัท ศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ จำกัด (Clearing House for Number Portability
Co., Ltd.) แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 4,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้นจำนวน 400,000 บาท โดยบริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียน 2,000,000 บาท
(สองล้านบาท) แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 20,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นรายละ 20%

อนึ่ง นอกจาก กทช.กำหนดให้เอกชนเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายภายในวันที่ 1 กันยายนนี้แล้ว กทช.ยังกำหนดให้เอกชนจะต้องยกเลิกค่าบริการออนเน็ต ออฟเน็ตที่แตกต่างกัน โดยจะต้องคิดค่าบริการทั้ง 2 ประเภทเป็นอัตราเดียวกัน โดยก่อนหน้านี้กทช.มีมติให้เอกชนยกเลิกค่าบริการที่แตกต่างกันดังกล่าวทันที โดยให้โอกาสเอกชนให้บริการออนเน็ต ออฟเน็ตโทร.โปรโมชันเดิมก่อนที่กทช.จะมีคำสั่งได้ถึงวันที่ 31 สิงหาคมของเดือนนี้เท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,555  8-11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน