สบท.ดันวาระใหญ่เสนอกทช.คุมเข้มมือถือ-เน็ต

สบท.ตั้งเป้าปี 53 ดันนโยบายเป็นรูปธรรม เล็งเสนอ กทช. ออกหลักเกณฑ์คิดค่าบริการ - ไอซี เป็นวินาที เผยผู้บริโภคเสียประโยชน์หลักล้านบาทต่อปี ทั้งแนะคุมเอสเอ็มเอส คุณภาพอินเทอร์เน็ต ระบุปีหน้าของบประมาณน้อยลง แต่ทำงานมากขึ้น ผ่านเครือข่ายศูนย์คุ้มครองสิทธิทั่วประเทศ

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) กล่าวว่า ในปี 2553 สบท. เตรียมเสนอนโยบายต่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เพื่อออกเป็นประกาศบังคับใช้ กับผู้ให้บริการโทรคมนาคมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะ 2 บริการหลัก คือ บริการโทรศัพท์มือถือ และบริการอินเทอร์เน็ต

ทั้งนี้ บริการโทรศัพท์มือถือ จะผลักดันให้มีการคิดค่าบริการเป็นวินาที โดยอาจเริ่มหลังจากครบ 30 วินาทีหรือ 1 นาทีแรก รวมถึงการคิดค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (ไอซี) ซึ่งผู้ให้บริการมีการจ่ายระหว่างกันคิดเป็นวินาที แต่เรียกเก็บจากผู้บริโภคเป็นนาที เมื่อคำนวณต่อปีแล้ว มีมูลค่าเป็นล้านบาท รวมถึงการออกมาตรการควบคุมการส่งข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ต้องมีการควบคุมดูแลให้มากขึ้น ทั้งจะจับตาดูการดำเนินการการคงสิทธิเลขหมาย ที่เหลือเวลาอีกประมาณ 8 เดือน ที่เอกชนต้องทำให้เสร็จ


นอกจากนี้ จะกระตุ้นให้มีการประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดวันหมดอายุของโทรศัพท์ มือถือระบบเติมเงิน ซึ่ง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ยอมรับเวลาได้ที่ 90 วันเป็นอย่างน้อย น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เหลือเพียงบริษัท ทรูมูฟ ที่ยังไม่แสดงท่าทีแต่อย่างใด

ขณะที่ การให้บริการอินเทอร์เน็ต ต้องมีการออกประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณภาพการให้บริการ ให้มีมาตรฐานตรงกัน และต้องมีหลักเกณฑ์ออกมาควบคุมการให้บริการ 3จี โดยเฉพาะระบบเติมเงิน ที่หากใช้ 3จี ต่ออินเทอร์เน็ต แต่ถ้าไม่มีการลงทะเบียนซิมการ์ด ก็จะไม่สามารถเก็บข้อมูลการใช้งาน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2551

นพ.ประวิทย์ กล่าวเสริมว่า ปี 2553 สบท. ของบประมาณจาก กทช. ลดลงจาก 200 ล้านบาทปีนี้เหลือ 190 ล้านบาท แต่จะทำงานให้มีผลงานมากขึ้น โดยอาศัยเครือข่ายศูนย์คุ้มครองสิทธิที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่ง สบท. จัดสรรงบ 25% ต่อปีเพื่อให้เงินอุดหนุนทุกแห่ง

ส่วนการร้องเรียนของผู้บริโภคในปี 2552 มีทั้งสิ้นประมาณ 2,000 ครั้ง จากปีที่แล้วมีเพียง 300 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภครู้สิทธิของตัวเองมากขึ้น

ทั้งนี้ ปัญหาโทรคมนาคมซึ่งถูกร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ เรื่องคุณภาพและมาตรฐานบริการ คิดเป็น 45% ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ตามมาด้วย ค่าบริการผิดพลาดไม่เป็นธรรม 18% สิทธิความเป็นส่วนตัว วันหมดอายุของบัตรเติมเงิน การยกเลิกบริการ คิดเป็น 10%, 8% และ 5% ตามลำดับ

นอกจากนี้ มีเรื่องค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ 4% กรณีข้อมูลการให้บริการไม่ชัดเจน ไม่ครบ ไม่จริง 3% ความปลอดภัยต่อสุขภาพ 2% และการเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญา และการเข้าถึงการบริการ 1%

ด้านนายสุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการ กทช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทช. ถูกเอกชนฟ้องร้องแล้ว 4-5 คดี เช่น กรณีห้ามเก็บค่าเปิดเลขหมายใหม่ 107 บาท, การกำหนดค่าไอซีเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งประกาศหลายฉบับที่ปกป้องสิทธิผู้บริโภคแต่กระทบกระเทือนผลประโยชน์ผู้ ให้บริการ ซึ่งการมีองค์กรผู้บริโภคมาสนับสนุนจะเป็นการแสดงพลังของผู้บริโภคต่อผู้ ประกอบการ และเป็นการช่วยบังคับให้กฎได้รับการปฏิบัติจริง

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 24/12/52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน