พลังงานเพิ่มปัจจัยเสี่ยงมาบตาพุด แรงต้านโรงไฟฟ้าในแผนพีดีพี2010

พลังงาน เดินหน้าจัดทำแผนพีดีพี 2010 เน้นสอดรับภาวะเศรษฐกิจและการใช้ของประเทศ เพิ่มปัจจัยเสี่ยงจากกระแสต่อต้านและปัญหามาบตาพุด ตั้งเป้าอัตราสำรองไฟฟ้าเฉลี่ยต้องสูงกว่า 15% ป้องกันเกิดปัญหา

นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2551-2564 (พีดีพี) ฉบับปี 2010 ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และการใช้พลังงานของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะคำนึงถึงอัตราสำรองไฟฟ้าที่เหมาะสม เนื่องจากประเทศไทยถือว่ามีความเสี่ยงมากกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งการใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าสูงกว่า 70% ทำให้ระบบผลิตไฟฟ้ามีปัญหาทันที เมื่อแหล่งก๊าซฯ เกิดปัญหา ส่งผลให้ไฟฟ้าสำรองช่วงนั้นลดเหลือเพียง 4% เท่านั้น ทั้งที่ตามแผนพีดีพี 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ที่ใช้ในปัจจุบัน กำหนดอัตราสำรองไฟฟ้าไว้ที่ 22%

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาการลงทุนมาบตาพุดและกระแสต่อต้านโรงไฟฟ้าใหม่เป็นระยะๆ ดังนั้นสำรองไฟฟ้าที่ 15% ที่หลายประเทศยึดถือนั้น อาจต่ำเกินไปสำหรับประเทศไทย ซึ่งต้องหาระดับที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้แผนพีดีพีฉบับใหม่นี้ กระทรวงพลังงานจะยังให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน โดยจะนำแผนจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าเข้าสู่แผน เพื่อความชัดเจนระหว่างแผนผลิตไฟฟ้าและแผนลดใช้พลังงาน โดยโครงการหลักๆ เช่น การเปลี่ยนหลอดผอมใหม่ ที 5 เบอร์ 5 ทั่วประเทศ 200 ล้านหลอด ซึ่งจะลดพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 8,708 ล้านหน่วยต่อปี ลดค่าใช้จ่ายได้ 26,124 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งให้ความสำคัญกับรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (เอสพีพี) และรายเล็กมาก (วีเอสพีพี) มากขึ้น

ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่าในอนาคตรูปแบบโรงไฟฟ้าจะเปลี่ยนไปจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เดินสายส่งไกลๆ เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กอยู่ใกล้ชุมชน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และในอีก 20-30 ปี แต่ละครัวเรือนอาจผลิตไฟฟ้าได้เอง โดยติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน และรถยนต์ใช้ไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งในอนาคตพลังงานทั่วโลกจะเปลี่ยนเป็นพลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 05/10/52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน