มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร้องทบทวนขึ้นค่าเอฟที

จากมติการปรับขึ้นค่าเอฟที 30 สตางค์ต่อหน่วย ที่จะมีผลในเดือนมิถุนายนนี้ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุ ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ทบทวนการปรับขึ้นค่าเอฟที เนื่องจากขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน  ขณะที่ กกพ .เตรียมปรับขึ้น ค่าเอฟที อีก 8 สตางค์ต่อหน่วย เพราะต้องชำระหนี้ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กว่าหมื่นล้านบาท

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าเอฟทีที่จะเริ่มต้นในเดือนมิถุนายนนี้ว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ไม่เห็นด้วยกับมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ ค่าเอฟที 30 สตางค์ต่อหน่วย ที่จะเริ่มต้นในเดือนมิถุนายนนี้ และขอให้ กกพ. ทบทวนการปรับขึ้นค่าเอฟที ในเดือนมิถุนายน - สิงหาคมนี้
เนื่องจากมติดังกล่าว ไม่มีกระบวนการขอความคิดเห็นจากภาคประชาชน ซึ่งขัดต่อ มาตรา 61 รัฐธรรมนูญปี 2550 ว่าด้วยสิทธิของบุคคล เรื่อง การตราและการบังคับใช้กฎหมาย กฎ และการกำหนดมาตรการต่างๆ ที่ต้องมีตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐ รวมทั้งละเมิดหลักการประกอบกิจการพลังงานปี 2550 ที่ให้ กกพ. กำหนดอัตราค่าบริการ ที่คำนึงถึงความเป็นธรรม และประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้ใช้พลังงาน

เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวด้วยว่า  กกพ. ควรยกเลิกหลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติ และอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ เพราะสูตรการคำนวณดังกล่าวอ้างอิงราคาต้นทุนก๊าซธรรมชาติมากเกินไป โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี  ที่มีต้นทุนค่าแปรรูป และค่าขนส่งสูงมาก ซึ่งไม่ควรใช้ในหลักเกณฑ์การคำนวณดังกล่าว


อย่างไรก็ตาม หาก กกพ. ยังไม่มีการทบทวน การปรับขึ้นค่าเอฟที ในเดือนมิถุนายน-สิงหาคมนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรที่เกี่ยวข้องจะนำเรื่องดังกล่าวไปปรึกษากับ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย เพื่อดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง นอกจากนี้จะมีการรวมตัวกับภาคประชาชน ที่ไม่เห็นด้วยกับมติการปรับขึ้นค่าเอฟที เข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าด้วย

ด้านนางพัลลภา เรืองรอง กรรมการ กกพ. กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ ค่าเอฟที ในอีก 4 งวดข้างหน้า นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 เป็นต้นไปมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 8 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจาก กกพ. มีแผนที่จะทยอยคืนเงินให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่รับภาระตรึงค่าเอฟทีมาตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม ประมาณ 14,000 ล้านบาท หากชำระคืนได้ตามแผนคาดว่าภาระหนี้จะหมดลงในกลางปี 2556 ซึ่งจะทำให้ กฟผ.สามารถนำเงินไปใช้ในการลงทุนได้ตามแผน    อย่างไรก็ตาม ค่าเอฟทีที่จะเพิ่มขึ้นจะต้องพิจารณาต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่ใช้ใน การผลิตไฟฟ้า อัตราแลกเปลี่ยนรวมทั้งการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในช่วงนั้นประกอบด้วย
Produced by Voice TV

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน