ขึ้นค่าแท็กซี่มีผลมิ.ย.นี้ ใช้สูตรเริ่ม35บาท เพิ่มตามระยะทาง

กรมการขนส่งทางบกหารือตัวแทนผู้ประกอบการ คนขับรถ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นักวิชาการ และอาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผลกระทบในการปรับค่าเชื้อเพลิง (ก๊าซเอ็นจีวี) ต่อรายได้ของคนขับรถแท็กซี่ คาดว่าจะประกาศใช้อัตราใหม่ได้ในเดือนมิถุนายน 2555


 

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานพิจารณาอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่มิเตอร์ ว่า ได้เชิญตัวแทนผู้ประกอบการ คนขับรถ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นักวิชาการ และอาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้าร่วมประชุมเพื่อหาข้อสรุปผลกระทบในการปรับค่าเชื้อเพลิง (ก๊าซเอ็นจีวี) ต่อรายได้ของคนขับรถแท็กซี่ โดยทุกฝ่ายยอมรับว่าการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีตามนโยบายรัฐบาลจะส่งผลให้รายได้ของคนขับแท็กซี่ลดลง ดังนั้นทางกรมการขนส่งทางบกจะเร่งสรุปตารางอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ใหม่เสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายใน 2 สัปดาห์ หรือประมาณต้นเดือนพฤษภาคม คาดว่าจะประกาศใช้อัตราใหม่ได้ในเดือนมิถุนายน 2555 

ทั้งนี้ จากการหารือพบว่าค่าก๊าซเอ็นจีวีที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้รายได้ของคนขับรถแท็กซี่เหลือไม่ถึง 300 บาทต่อวัน ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ดังนั้นหลักในการปรับค่าโดยสารจะคำนึงถึงหลายส่วน เช่น รายได้ของคนขับรถแท็กซี่ที่ควรจะอยู่ที่ 400-450 บาทต่อวัน ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งแนวทางดำเนินการเบื้องต้นจะปรับอัตราตามระยะทาง โดยคงอัตราเริ่มต้นที่ 35 บาทเท่าเดิม 

นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ กล่าวว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มีราคาก๊าซเอ็นจีวีเพียงอย่างเดียว แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่รัฐบาลปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท โดยต้นทุนของแท็กซี่ต่อกะประกอบด้วย ค่าเช่ารถ 600 บาท ค่าเชื้อเพลิง 350 บาท ค่าใช้จ่ายประจำวันเพิ่มอีก 100 บาท จึงได้เสนอขอปรับค่าโดยสารขึ้นเฉลี่ย 12% ซึ่งผู้ใช้บริการระยะสั้นจะไม่มีผลกระทบมากนัก ส่วนผู้ใช้บริการระยะกลาง เช่น เดินทาง 14 กิโลเมตรจะเสียค่าโดยสารจาก 100 บาท เป็น 110 บาท-112 บาท เป็นต้น 

ทั้งนี้ในส่วนของการบริการและการปฏิเสธรับผู้โดยสารนั้น ยอมรับว่าในส่วนสหกรณ์ไม่มีกลไกในการควบคุมคนขับ เพราะสมาชิกสหกรณ์เป็นเจ้าของอู่ ดังนั้น ภาครัฐควรออกมาตรการและบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เสนอให้กระทรวงคมนาคมวิจัยจำนวนรถแท็กซี่ที่เหมาะสมกับความต้องการใช้บริการ นอกจากนี้ รัฐจะต้องเป็นหน่วยงานกลางจัดเสวนาพัฒนาแท็กซี่ไทยอย่างเป็นระบบ เพื่อเตรียมพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558 ด้วย

ข้อมูลจาก นสพ.ฐานเศรษฐกิจ 23 เม.ย. 2555

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน